xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: แคชเมียร์เดือด!! อินเดียถอนสิทธิ์ปกครองตนเอง ‘ปากีฯ’ โวยผิดกฎหมาย-จ่อฟ้อง ‘ยูเอ็น’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รัฐบาลอินเดียส่งกองกำลังความมั่นคงลงพื้นที่ประจำจุดต่างๆ ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์เพื่อป้องกันเหตุจลาจล ระหว่างที่มีการประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 5 ส.ค.
อินเดียประกาศยกเลิกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดสถานะพิเศษและให้สิทธิ์ในการปกครองตนเองแก่แคชเมียร์ นำดินแดนแถบหิมาลัยที่เต็มไปด้วยชาวมุสลิมเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลาง ท่ามกลางเสียงประณามกราดเกรี้ยวจากจีนและปากีสถานซึ่งยืนยันจะขัดขวางการกระทำฝ่ายเดียวของเดลีจนถึงที่สุด

รัฐบาลอินเดียอ้างคำสั่งประธานาธิบดียกเลิกมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งอนุญาตให้รัฐจัมมูและแคชเมียร์สามารถตรากฎหมายขึ้นมาบังคับใช้ในรัฐของตัวเองได้ ยกเว้นกิจการด้านกลาโหม, การต่างประเทศ, และการคมนาคม นั่นเท่ากับเป็นการยกเลิกสถานะเขตปกครองตนเองของแคชเมียร์ที่มีมานานกว่า 70 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลภารตะยังล้มกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวจัมมูและแคชเมียร์ซื้อหาอสังหาริมทรัพย์ในรัฐแห่งนี้ ซึ่งเท่ากับเปิดทางให้พลเมืองต่างถิ่นเข้ามาลงทุนและตั้งหลักปักฐานที่นี่ได้ไม่ต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ในอินเดีย

รัฐบาลเดลียังยกเหตุผลด้านความมั่นคงมาอ้างเพื่อแบ่งรัฐนี้ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือดินแดนจัมมูและแคชเมียร์ซึ่งอยู่ทางซีกตะวันตกของรัฐจัมมูและแคชเมียร์เดิม และส่วนที่สองคือเขตลาดัก (Ladakh) ที่อยู่ทางตะวันออก โดยทั้ง 2 ส่วนจะกลายเป็นดินแดนสหภาพที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง

อินเดียได้ส่งกองกำลังความมั่นคงนับหมื่นนายเข้าควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อป้องกันการลุกฮือของมวลชน

"เราจะดำรงอยู่ ยืนหยัด และช่วยกันเติมเต็มความฝันของชาวอินเดีย 1,300 ล้านคน" นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้นำพรรคชาตินิยมฮินดูภารติยะชนตะ (BJP) ทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (6 ส.ค.) หลังรัฐสภาอินเดียผ่านร่างกฎหมายแบ่งแยกแคชเมียร์ออกเป็น 2 ส่วน

กระทรวงการต่างประเทศปากีสถานได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้อย่างรุนแรง โดยระบุว่าคำสั่งของอินเดีย "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" และในฐานะที่เป็นรัฐคู่กรณีในข้อพิพาทแคชเมียร์ ปากีสถานจะทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการกระทำของแดนภารตะ

นายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน แห่งปากีสถานยังประกาศจะยื่นฟ้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งยังกล่าวหานายกฯ โมดี ว่าส่งเสริมแนวคิดต่อต้านมุสลิมในแดนภารตะ

ด้านกองทัพปากีสถานได้เรียกประชุมเหล่าผู้บัญชาการทหาร และประกาศจะยืนหยัดเคียงข้างชาวแคชเมียร์

จีนซึ่งพัวพันข้อพิพาทเขตแดนกับอินเดียเช่นกันก็ได้ออกมาวิจารณ์ “กระทำการฝ่ายเดียว” ของผู้นำเดลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกเขตลาดักซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธออกมาเป็นดินแดนสหภาพที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง

“อินเดียได้ละเมิดอธิปไตยของจีนโดยการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นฝ่ายเดียว การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้" หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุ

แคชเมียร์ถูกแบ่งแยกออกเป็นฝั่งอินเดียและปากีสถานนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 และตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา แคชเมียร์ในฝั่งอินเดียก็เผชิญเหตุความไม่สงบจากกลุ่มติดอาวุธซึ่งต้องการแยกตัวเป็นอิสระ หรือไม่ก็ต้องการไปรวมเข้ากับปากีสถาน เหตุรุนแรงเหล่านี้ได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 70,000 คน

สัญญาณความตึงเครียดในแคชเมียร์เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว (2 ส.ค.) เมื่อรัฐบาลเดลีมีคำสั่งให้นักท่องเที่ยวและผู้จาริกแสวงบุญชาวฮินดูเดินทางออกจากแคชเมียร์ “ทันที” ขณะที่กองทัพอินเดียก็ระดมทหารหลายหมื่นนายเข้าไปคุมความสงบในพื้นที่

บริการโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ตลอดจนเครือข่ายเคเบิลในแคชเมียร์ถูกตัดตั้งแต่เที่ยงคืนวันอาทิตย์ (4) และเฉพาะชาวแคชเมียร์ที่มีใบอนุญาตพิเศษเท่านั้นจึงจะสามารถออกจากเคหะสถานมาเดินตามท้องถนนในช่วงเคอร์ฟิวได้

แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่เดินทางจากเมืองศรีนคร (Srinagar) มายังนิวเดลีเล่าให้ผู้สื่อข่าว AFP ฟังว่า เขาได้ยินเสียงปืนดังเป็นระยะตั้งแต่วันจันทร์ (5) และมีทหารจากส่วนกลางยืนประจำการตามท้องถนน “ทุกๆ 5 ก้าว” นอกจากนี้เขายังต้องใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปสนามบินกว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากรถถูกทหารเรียกจอดไม่ต่ำกว่า 25 ครั้ง
ชาวอินเดียในเมืองกัลกัตตาออกมาเดินขบวนคัดค้านการยกเลิกมาตรา 370 ในรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดสถานะพิเศษของแคชเมียร์ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.
ทางการอินเดียยังได้จับกุมผู้นำชาวแคชเมียร์ 3 คน ได้แก่ เมห์บูบา มุฟตี และ โอมาร์ อับดุลเลาะห์ อดีตมุขมนตรีแห่งรัฐ และ ซาจาด โลเน ผู้นำพรรคการเมืองท้องถิ่น โดยหมายศาลระบุว่าคนเหล่านี้พัวพันกิจกรรมที่ “บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย” และอาจปลุกระดมมวลชนให้ก่อเหตุจลาจลวุ่นวายซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิว

ผลการเลือกตั้งเมื่อเดือน เม.ย.- พ.ค. ที่ผ่านมาช่วยให้พรรคชาตินิยมฮินดูของนายกฯ โมดี ได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา และสามารถผลักดันนโยบายหรือวาระสำคัญต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวมถึงการยกเลิกมาตรา 370 ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อหลอมรวมแคชเมียร์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์เชื่อว่าพรรค BJP เพียงต้องการเอาใจชาวฮินดูซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อโกยคะแนนเสียง

ราหุล คานธี อดีตประธานพรรคคองเกรสฝ่ายค้าน ประณามคำสั่งเพิกถอนสถานะพิเศษแคชเมียร์ว่าเป็นการ “ใช้อำนาจบริหารโดยมิชอบ” ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ

สหรัฐฯ เรียกร้องในวันจันทร์ (5) ให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิพลเมือง และพยายามรักษาความสงบบริเวณแนวพรมแดนแคชเมียร์ฝั่งอินเดียและปากีสถาน

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เคยบอกกับผู้นำปากีฯ ที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือน ก.ค. ว่า โมดีขอร้องให้ตนช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแคชเมียร์ ซึ่งต่อมาโฆษกรัฐบาลเดลีได้ออกมาปฏิเสธว่า “ไม่เป็นความจริง” และย้ำว่าอินเดียต้องการยุติข้อพิพาทกับปากีสถานผ่านการเจรจาแบบทวิภาคีเท่านั้น

มาตรการล่าสุดของอินเดียคาดว่าจะกระพือเหตุสู้รบนองเลือดโดยกลุ่มกบฏในแคชเมียร์ และยกระดับความขัดแย้งกับปากีสถานซึ่งเคยทำสงครามกับอินเดียด้วยเรื่องแคชเมียร์มาแล้วถึง 2 ครั้ง

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เตือนว่าวิกฤตการณ์แคชเมียร์ที่ปะทุรุนแรงขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อแผนยุติสงครามอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อมานานกว่า 18 ปี เนื่องจากรัฐบาลปากีสถานเป็นคนกลางที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มตอลิบาน และหากวอชิงตันเลือกที่จะเข้าข้างอินเดียในประเด็นแคชเมียร์โดยมองข้ามจุดยืนและผลประโยชน์ของอิสลามาบัด ก็อาจจะทำให้แผนการเจรจาสันติภาพไม่ราบรื่น

กำลังโหลดความคิดเห็น