xs
xsm
sm
md
lg

1 ใน 3 ของประชากรโลกกำลังเผชิญ “ความตึงเครียดด้านน้ำขั้นร้ายแรง”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี – เกือบหนึ่งในสามของประชากรโลกอาศัยอยู่ใน 17 ประเทศที่กำลังเผชิญความตึงเครียดด้านน้ำสูงอย่างร้ายแรง เข้าใกล้สภาวะเหือดแห้งที่ก๊อกจะไม่มีน้ำไหลอีกต่อไป อ้างจากรายงานที่เผยแพร่ในวันนี้ (6)

รายงาน Aqueduct Water Risk Atlas ของสถาบันทรัพยากรโลกจัดอันดับความตึงเครียดด้านน้ำ ความเสี่ยงแห้งแล้ง และความเสี่ยงน้ำท่วมจากแม่น้ำโดยใช้วิธีการวิจัยแบบประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

ใน 17 ประเทศที่ได้รับผลกระทบเลวร้ายมากที่สุด “ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเทศบาลเมืองกำลังใช้น้ำพื้นผิวและน้ำบาดาลถึง 80 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยต่อปี” สถาบันทรัพยากรโลก ระบุ

“เมื่ออุปสงค์มีเท่ากับอุปทาน และถึงกับขาดแคลนเล็กน้อยด้วย ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นอีกเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ก็อาจทำให้เกิดผลลัพธ์เลวร้ายขึ้นได้” ดังเช่นวิกฤตเมื่อไม่นานมานี้ในเคปทาวน์ เซาเปาโล และเชนไน

กาตาร์ อิสราเอล เลบานอน อิหร่าน จอร์แดน ลิเบีย คูเวต ซาอุดีอาระเบีย เอริเทรีย ยูเออี ซานมาริโน บาห์เรน อินเดีย ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน โอมาน และบอตสวานา ติดอันดับ 17 ประเทศแรก

“ความตึงเครียดด้านน้ำเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน ผลลัพธ์ของมันเห็นได้ชัดเจนในรูปแบบของความไม่มั่นคงทางอาหาร ความขัดแย้ง การอพยพ และความไร้เสถียรภาพทางการเงิน” แอนดรูว์ เสตีย ซีอีโอของสถาบันทรัพยากรโลก กล่าว

อีก 27 ประเทศอยู่ในรายการ “ความตึงเครียดด้านน้ำสูงคาบเส้น” และรายการทั้งหมดสามารถเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ https://www.wri.org/our-work/project/aqueduct/

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นที่ตั้งของ 12 ประเทศที่มีความตึงเครียดด้านน้ำสูงที่สุด ในขณะที่อินเดีย ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 13 มีประชากรมากกว่าอีก 16 ประเทศรวมกันถึง 3 เท่า

“วิกฤตน้ำเมื่อไม่นานมานี้ในเชนไนได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่หลายพื้นที่ในอินเดียกำลังประสบความตึงเครียดด้านน้ำเรื้อรังเช่นกัน” ชาชี เช็คฮาร์ อดีตรัฐมนตรีด้านน้ำของอินเดีย กล่าว และเสริมว่า รายงานชิ้นนี้อาจช่วยทางการบ่งชี้และจัดลำดับความเสี่ยงได้

รายงานพบว่า แม้กระทั่งประเทศที่มีความตึงเครียดด้านน้ำต่ำก็สามารถมีพื้นที่วิกฤตได้ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะอยู่ในลำดับที่ 71 ของรายการนี้ แต่รัฐนิวเม็กซิโกกลับเผชิญความตึงเครียดด้านน้ำในระดับเดียวกับยูเออี


กำลังโหลดความคิดเห็น