xs
xsm
sm
md
lg

บอยคอตทำพิษ! ยอดจำหน่าย ‘รถญี่ปุ่น’ ในเกาหลีใต้ร่วงหนัก-แบรนด์ Uniqlo ยอดขายลด 40%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - ยอดจำหน่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในเกาหลีใต้ตกฮวบในเดือน ก.ค. ท่ามกลางกระแสบอยคอตสินค้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทการทูตครั้งใหญ่ระหว่างสองเพื่อนบ้าน ขณะที่รัฐบาลโซลเร่งมองหาวิธีลดการพึ่งพาญี่ปุ่นในทางเศรษฐกิจ

สถิติจากภาคอุตสาหกรรมที่เผยแพร่วันนี้ (5 ส.ค.) ระบุว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าในเกาหลีใต้ลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ฮอนด้ามียอดขายตกต่ำลงถึง 34%

แม้ผู้ผลิตรถยนต์จะอยู่ระหว่างประเมินปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ยอดขายในเดือนที่แล้วย่ำแย่ผิดหูผิดตา แต่คนในแวดวงอุตสาหกรรมและนักวิเคราะห์เชื่อว่ากระแสบอยค็อตต์และข้อพิพาทการค้าที่ส่อแววยืดเยื้อจะยังคงบั่นทอนอุปสงค์รถยนต์ญี่ปุ่นในแดนโสมต่อไปอีกพักใหญ่

โตเกียวเริ่มคุมเข้มการส่งออกเคมีภัณฑ์ 3 ชนิดที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตชิปและหน้าจอสมาร์ทโฟนไปยังเกาหลีใต้ตั้งแต่เดือน ก.ค. เพื่อตอบโต้ที่ศาลเกาหลีใต้พิพากษาให้บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยแก่เหยื่อชาวเกาหลีที่ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคแดนกิมจิโกรธแค้น และรณรงค์ต่อต้านการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ของแดนปลาดิบ ตั้งแต่รถยนต์ เบียร์ เครื่องเขียน เรื่อยไปจนถึงทัวร์ท่องเที่ยวญี่ปุ่น

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (2) รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ถอดเกาหลีใต้ออกจากบัญชี ‘white list’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษและการผ่อนปรนทางการค้าระดับสูงสุดจากญี่ปุ่น

“จำนวนผู้เข้าชมโชว์รูมลดลง ขณะที่ผู้บริโภคต่างก็ลังเลที่จะเซ็นสัญญา” พนักงานฮอนด้าในเกาหลีใต้ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์

ผู้แทนฮอนด้าและโตโยต้าในเกาหลีใต้ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง โดยระบุว่าบริษัทจำเป็นต้องประเมินสาเหตุที่แท้จริงเสียก่อน

อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ชี้ว่า ความรู้สึกของผู้บริโภคคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายรถญี่ปุ่นย่ำแย่ในช่วงนี้

“คนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่พอใจญี่ปุ่น และอีกไม่นานการขับรถยนต์ญี่ปุ่นคงจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในเกาหลีใต้” คิม พิลโซ อาจารย์ด้านวิศวกรรมยานยนต์จาก Daelim University College ระบุ

ข้อมูลจากสมาคมผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์แห่งเกาหลี (KAIDA) ยังพบว่า เลกซัส (Lexus) ซึ่งเป็นแบรนด์รถหรูในเครือโตโยต้า และมียอดการนำเข้าสูงเป็นอันดับ 3 รองจาก เมอร์เซเดส และ BMW มียอดจำหน่ายลดลง 25% จากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงเพิ่มขึ้นถึง 33% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นอ้างว่าจำเป็นต้องควบคุมการส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ขณะเดียวกันก็อ้างถึง “การสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจ” หลังจากเมื่อปีที่แล้วศาลโสมขาวได้สั่งให้บริษัทญี่ปุ่นชดใช้ค่าเสียหายแก่อดีตแรงงานทาส ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันว่าปัญหานี้ได้เคลียร์จบกันไปแล้วตั้งแต่ตอนที่ทำข้อตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติในปี 1965

เช้าวันนี้ (5) รัฐบาลโซลได้ประกาศแผนลดการพึ่งพาญี่ปุ่น โดยจะทุ่มเม็ดเงินลงทุน 7.8 ล้านล้านวอนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ภายในประเทศ ตลอดระยะเวลา 7 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าที่จะยกระดับความสามารถพึ่งตนเอง (self-sufficiency) ในแง่ของชิ้นส่วน, วัสดุ และอุปกรณ์สำคัญ 100 ชนิดที่จำเป็นต่อกระบวนการผลิตชิป, หน้าจอดิสเพลย์, แบตเตอรี่, รถยนต์ และผลิตภัณฑ์ไฮเทคอื่นๆ โดยจะสร้างเสถียรภาพของอุปทานสินค้าเหล่านี้ให้ได้ภายใน 5 ปี

แม้ยอดขายรถยนต์ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในเกาหลีใต้ แต่ภาคธุรกิจก็กังวลว่ากระแสการเมืองอาจทำให้ผู้บริโภคหันไปต่อต้านสินค้าและบริการอื่นๆ จากญี่ปุ่นด้วย

ล่าสุด แบรนด์แฟชั่น ‘ยูนิโคล’ (Uniqlo) ของญี่ปุ่นเริ่มได้รับผลกระทบจากพิษการเมืองระหว่างประเทศ โดยมีรายงานจากหนังสือพิมพ์ โคเรีย เฮรัลด์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ยอดขายของยูนิโคลในเกาหลีใต้ลดลงถึง 40% ในเดือนที่แล้ว ซึ่งทำให้บริษัทเริ่มวางแผนที่จะปรับปรุงหรือปิดสาขาบางแห่ง

ด้วยจำนวนสาขาที่มากถึง 186 แห่งทำให้เกาหลีใต้ถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของยูนิโคลในต่างประเทศรองจากจีนแผ่นดินใหญ่

ด้านบริษัท อาซาฮี กรุ๊ป โฮลดิงส์ ผู้ผลิตเบียร์ ‘อาซาฮี ซูเปอร์ ดราย’ ซึ่งเป็นเบียร์นำเข้าขายดีอันดับ 1 ในเกาหลีใต้ ยอมรับว่ากระแสบอยคอตทำให้ยอดจำหน่ายเบียร์ลดลง และบริษัทได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรลงเล็กน้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น