xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: 'จีน'ปล่อย 'ทรัม'ป์ชะล่าใจชนะ 'หัวเว่ย' รอตลบหลังพิชิตสงครามเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แม้ดูเหมือนทรัมป์เล่นงานหัวเว่ยอยู่หมัดด้วยมาตรการแบนการค้าขายกับบริษัทสหรัฐฯ แต่ในอีกด้านนี่ถือเป็นการประกาศสงครามและกระตุ้นให้บริษัทจีนทั้งหมดเร่งรัดพัฒนาตัวเองเพื่อยุติการพึ่งพิงซัปพลายเออร์อเมริกัน ขณะที่ขนาดตลาดผู้บริโภคแดนมังกรทำให้บริษัทของประเทศอื่นๆ พร้อมเสี่ยงขัดใจทรัมป์และร่วมมือกับคู่ค้าจีนต่อ เท่ากับว่า แผนการทั้งหมดของผู้นำอเมริกากลับกลายเป็นการส่งเสริมโครงการ “เมด อิน ไชน่า 2025” และทำให้ปักกิ่งกลายเป็นผู้ชนะในสงครามเทคโนโลยีในท้ายที่สุด

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อาจเป็นผู้เปลี่ยนเกมสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีน เพราะถ้าไม่มีเขา บริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ของจีนน่าจะยังคงเป็นหุ้นส่วนกับผู้เล่นชั้นนำของอเมริกาต่อไปเพื่อให้จัดหาชิ้นส่วนขั้นสูงที่ต้องการ เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่บริษัทแดนมังกรเป็นผู้นำโลก เช่น รถไฟฟ้า แผงพลังงานแสงอาทิตย์ และโดรน

แม้กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ เหลียง หัว ประธานกรรมการหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยังบอกว่า บริษัทตั้งใจใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลสำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องรอให้วอชิงตันเป็นผู้ตัดสินใจ

บริษัทเทคโนโลยีจีนและอเมริกามีผลประโยชน์ร่วมกันมาตลอด แต่ทรัมป์กำลังสะบั้นความสัมพันธ์นั้นด้วยการเปิดสงครามเทคโนโลยีกับจีน กระตุ้นให้บริษัทเทคโนโลยีจีนรีบเร่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงด้วยตัวเอง

แม้ผู้นำสหรัฐฯ เลื่อนแผนการแบนหัวเว่ยขั้นเบ็ดเสร็จออกไปก่อน แต่เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่า จะยุติการพึ่งพิงการจัดหาจากอเมริกาหรือกระทั่งพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองถ้าจำเป็น

ขณะเดียวกัน มาตรการของทรัมป์ต่อหัวเว่ยเป็นการส่งข้อความชัดเจนถึงบริษัทจีนทั้งหมดว่า พวกเขาไม่สามารถพึ่งพิงซัปพลายเออร์และหุ้นส่วนอเมริกันอีกต่อไป จึงเท่ากับว่า ทรัมป์กำลังทำให้โครงการ “เมด อิน ไชน่า 2025” ซึ่งเป็นนโยบายชิ้นโบแดงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการทำให้จีนเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี มีพลังขับดันแรงกล้า บริษัทเอกชนหลายแห่งในแดนมังกรตื่นตัวผนวกความสนใจทางธุรกิจของตนเองเข้ากับวาระชาตินิยมของปักกิ่ง ซึ่งผลลัพธ์คือการเร่งรัดนวัตกรรมเทคโนโลยีในแดนมังกรโดยได้รับความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนต่างชาติที่พร้อมฝ่าฝืนมาตรการแบนของวอชิงตัน

ถ้าบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกยินดีเสี่ยงขัดใจทรัมป์และร่วมมือกับคู่ค้าจีนต่อไป จะทำให้จีนอุดช่องว่างด้านเทคโนโลยีที่ถูกอเมริกาทิ้งห่างได้เร็วขึ้น โดยนิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า บริษัทเหล่านั้นมีเหตุผลมากมายที่จะยอมเสี่ยงครั้งนี้ ประการแรกเลยคือขนาดตลาด เพราะแม้อเมริกายังคงเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลกในปีที่ผ่านมา แต่จีนก็ตามมาติดๆ และอย่างรวดเร็วในอันดับ 2

ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ในปี 2008 มูลค่าการนำเข้าของแดนมังกรคิดเป็นสัดส่วน 6.7% ของทั่วโลก ส่วนอเมริกามี 13.2% แต่ปีที่แล้ว สัดส่วนการนำเข้าของเมืองลุงแซมขยับลงอยู่ที่ 13% แต่ของจีนกลับพุ่งพรวดขึ้นมาที่ 11%

จีนมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะแซงหน้าอเมริกาขึ้นเป็นผู้นำเข้าเบอร์หนึ่งของโลกภายใน 2-3 ปีนี้ มิพักต้องพูดถึงว่า ตลาดผู้บริโภคจีนกำลังขยายตัวเร็วกว่าอเมริกามากกว่า 4 เท่า เช่นนี้แล้วบริษัททั่วโลกคงยากที่จะหันหลังให้แดนมังกร

ในทางกลับกัน บริษัทเหล่านั้นจำนวนมากต้องพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานที่ร้อยรัดกับซัปพลายเออร์จีนอย่างลึกซึ้ง ตัวอย่างเช่นแอปเปิลของอเมริกา ซึ่งตามรายงานของนิกเกอิ เอเชียน รีวิวนั้น ในบรรดาซัปพลายเออร์ชั้นนำ 200 แห่งของแอปเปิลในปี 2018 เป็นบริษัทจีนถึง 41 แห่ง ส่วนบริษัทอเมริกันมี 37 แห่ง เท่ากับว่า ซัปพลายเออร์จีนเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของแอปเปิล

ยิ่งไปกว่านั้นซัปพลายเออร์จีนยังป้อนชิ้นส่วนให้ซัปพลายเออร์ต่างชาติ ดังนั้น จึงยากที่จะวัดระดับความเกี่ยวข้องที่แน่นอนของบริษัทจีนในห่วงโซ่อุปทานโลกได้ เช่นเดียวกับการตัดซัปพลายเออร์จีนออกจากห่วงโซ่อุปทานโลกโดยสิ้นเชิง ซึ่งสำหรับบริษัททั่วโลกแล้วเทียบได้กับการฆ่าตัวตายทางธุรกิจเลยทีเดียว

เหตุผลที่ทำให้บริษัทต่างๆ ตัดไม่ตายขายไม่ขาดจากแดนมังกรคือ ข้อเท็จจริงที่ว่า การปิดโอกาสไม่ให้บริษัทจีนเข้าถึงอุปทานในอเมริกาโดยเด็ดขาดไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ในทางกลับกัน บริษัทอเมริกันจะยังสามารถจัดหาสินค้าให้หัวเว่ยได้แม้รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการแบน ตราบที่ผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้ผลิตในอเมริกาและมีส่วนประกอบที่ผลิตในอเมริกาไม่เกิน 25%

ข้อเท็จจริงดังกล่าวคือช่องโหว่ที่บริษัทอเมริกันมากมายแฮปปี้ที่จะใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และบริษัทชิปอเมริกันบางแห่งเริ่มขายผลิตภัณฑ์บางอย่างให้หัวเว่ยตั้งแต่ก่อนที่ทรัมป์จะเลื่อนมาตรการแบนหลังได้หารือกับสีในการประชุมจี20 เมื่อเดือนมิถุนายนด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น หลังซัมมิตจี20 บริษัทญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันหลายแห่งก็เริ่มจัดส่งสินค้าให้หัวเว่ยเช่นเดียวกัน

แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดของเรื่องนี้อาจเป็นการที่จีนกำลังพัฒนาระบบนิเวศที่มีพลวัตและประสบความสำเร็จในการส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่นในเขตจงกวนชุนทางตะวันตกเฉียงเหนือของปักกิ่งที่มักถูกเรียกขานว่า ซิลลิคอนแวลลีย์จีน

จงกวนชุนเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำสองแห่งของแดนมังกรคือ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยชิงหวา หรือ “เอ็มไอทีแดนมังกร” นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งสตาร์ทอัพเทคโนโลยีนับพันแห่ง ซึ่งหลายแห่งกำลังมุ่งมั่นตอบสนองตลาดผู้บริโภคในประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วผ่านสมาร์ทโฟนที่ใช้กันแพร่หลายทั่วประเทศ ขณะที่อีกหลายแห่งกำลังพัฒนาหุ่นยนต์รุ่นใหม่เพื่อใช้ระบบผลิตอัจฉริยะ และบางแห่งมุ่งเน้นเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น ชิ้นส่วนและชิปขั้นสูงที่ปัจจุบันต้องนำเข้าจากอเมริกา

ที่สำคัญ จีนมีซิลลิคอนแวลลีย์มากกว่าหนึ่งแห่ง โดยจงกวนชุนนั้นเป็นแค่ 1 ในกว่า 10 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ เซินเจิ้น ทางตอนใต้ไปจนถึง เฉิงตู ทางตะวันตก และ เทียนจิน ที่อยู่ริมชายฝั่งใกล้ๆ ปักกิ่ง

ระบบนิเวศเหล่านี้ของจีนได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากการลงทุนโดยเวนเจอร์แคปิตอลหรือโครงการร่วมลงทุน นิตยสารดิ อิโคโนมิสต์รายงานว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนแซงหน้าอเมริกาในฐานะเป้าหมายดึงดูดเงินทุนจากพวกเวนเจอร์แคปิตอล

สตาร์ มาร์เก็ต ตลาดหุ้นแห่งใหม่ที่บริหารโดยตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับตลาดแนสแด็กของอเมริกานั้น กำลังเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนให้สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี

ปลายเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไฮเทคแห่งนี้ประสบความสำเร็จงดงามด้วยยอดเทรดวันแรกที่พุ่งขึ้นเกิน 100% เป้าหมายสำหรับปีนี้ของสตาร์ มาร์เก็ตคือระดมทุนให้ได้ 18,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการเสนอหุ้นขายต่อสาธารณชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ทั้งหมดที่ระดมได้ในตลาดเซี่ยงไฮ้ปีที่แล้วที่อยู่ที่ 7,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

รัฐบาลจีนที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่เหมาะที่จะบริหารอุตสาหกรรม แต่กลับล่วงรู้อย่างว่องไวจนน่าแปลกใจว่า ควรให้การสนับสนุนกิจการไฮเทคใหม่ๆ ของภาคเอกชนอย่างไร อีกทั้งเรียนรู้ที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการเอกชนจัดการและสร้างธุรกิจของตัวเองตามลำพัง แต่ให้หลักประกันว่า ระบบนิเวศของผู้ประกอบการเหล่านั้นจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในราคาที่จ่ายไหว เช่น นิคมอุตสาหกรรมและศูนย์เทคโนโลยีที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ เงินทุน และการผ่อนคลายกฎระเบียบ


การโจมตีของทรัมป์ต่อหัวเว่ยอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจนอกประเทศของบริษัทแห่งนี้อย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันกลับทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีนรวบรวมพละกำลังเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูงเพื่อตัดการพึ่งพิงซัปพลายเออร์สหรัฐฯ จริงอยู่ที่อเมริกาอาจเคยหยุดยั้งพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของจีนได้เมื่อ 15 ปีหรือกระทั่ง 10 ปีที่แล้วด้วยการขัดขวางไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีจีนเข้าถึงโนว์ฮาวขั้นสูงของต่างชาติ แต่สำหรับวันนี้ดูเหมือนสายเกินไป ทรัมป์อาจชนะศึกยกเล็กๆ กับหัวเว่ย แต่ที่สุดแล้วจะพ่ายแพ้ในสงครามเทคโนโลยีกับพญามังกร

กำลังโหลดความคิดเห็น