xs
xsm
sm
md
lg

โลกระอุ!!สหรัฐฯเร่งพัฒนาขีปนาวุธทันทีหลังถอนตัวจากสนธิสัญญานิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี/รอยเตอร์ - สหรัฐฯจะเร่งพัฒนาระบบขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธนำวิถีใหม่ในทันที หลังถอนตัวออกจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ฉบับหนึ่งซึ่งลงนามร่วมกับรัสเซีย เพนตากอนระบุในวันศุกร์(2ส.ค.)

สหรัฐฯในวันศุกร์(2ส.ค.) ถอนตัวอย่างเป็นทางการออกจากสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces agreement หรือ INF) ที่อเมริกากับไว้กับรัสเซีย โดยอ้างว่ามอสโกละเมิดข้อตกลงดังกล่าว

วอชิงตันส่งสัญญาณว่าจะถอนตัวจากสนธิสัญญาควบคุมอาวุธฉบับนี้ตั้งแต่ 6 เดือนก่อน จนกว่ารัสเซียจะปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว แต่ทางมอสโกเชื่อว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นเพียงแค่กลอุบายออกจากสนธิสัญญา ด้วยเชื่อว่ายังไงซะอเมริกาก็จะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาฉบับนี้อยู่ดี เพื่อจะได้พัฒนาขีปนาวุธใหม่ๆ

ในวันศุกร์(2ส.ค.) มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯกล่าวหารัสเซียละเมิดสนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางซ้ำๆและไม่หยุดหย่อน พร้อมบอกว่าได้เริ่มทำงานในการพัฒนา "ระบบขีปนาวุธนำวิถีและขีปนาวุธนุ่นยิงจากภาคพื้น ทั้งแบบปกติและแบบเคลื่อนที่"แล้ว

เอสเปอร์กล่าวว่าในขณะที่สหรัฐฯปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดต่อพันธสัญญาในสนธิสัญญา 1987 จนกระทั่งถอนตัวอย่างเป็นทางการ "โปรแกรมเหล่านั้นยังอยู่ในขั้นแรกเริ่มเท่านั้น" พร้อมระบุว่า "ตอนนี้เราได้ถอนตัวแล้ว และทางกระทรวงกลาโหมจะหาทางอย่างเต็มกำลังในการพัฒนาขีปนาวุธแบบทั่วไปยิงจากภาคพื้น เพื่อไว้ตอบโต้อย่างรอบคอบต่อพฤติกรรมต่างๆของรัสเซีย"

"ทางกระทรวงกลาโหมจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรของเรา ในขณะที่เราจะเดินหน้าปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ, ปกป้องความมั่นคงของประเทศและเสริมสร้างศักยภาพแก่พันธมิตร" เขากล่าว

มอสโกระบุว่าวอชิงตันทำผิดพลาดใหญ่หลวงที่ถอนตัวจากสนธิสัญญา และยืนกรานว่าสหรัฐฯละทิ้งข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่เพราะรัสเซียละเมิดสนธิสัญญาตามที่ถูกกล่าวหา

สนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces agreement หรือ INF) ระหว่างโซเวียตกับสหรัฐฯ ลงนามโดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ กับ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตในปี 1987

ข้อตกลงดังกล่าวมีผลยุติการแข่งขันสะสมหัวรบ รวมทั้งหัวรบนิวเคลียร์ระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสอง อันสร้างความตื่นกลัวให้แก่ยุโรปว่าจะต้องกลายเป็นสมรภูมิของสงครามนิวเคลียร์ ด้วยเนื้อหาของ INF ห้ามทั้งสองฝ่ายติดตั้งประจำการขีปนาวุธประเภทยิงจากภาคพื้นดิน ซึ่งมีพิสัยทำการระหว่าง 500 ถึง 5,500 กิโลเมตร

ทั้งนี้ข้อตกลงนี้ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์จากการที่ขีปนาวุธนำวิถีซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ของสหภาพโซเวียต กำลังเล็งเป้าหมายไปที่บรรดาเมืองหลวงของพวกชาติตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรป อย่างไรก็ตาม ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ว่ามันไม่ได้มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญทางการทหารรายอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เป็นต้นว่า จีน

ทรัมป์เคยบอกว่าเขาอยากเห็นข้อตกลงควบคมอาวุธยุคสมัยใหม่กับรัสเซียและจีน ซึ่งครอบคลุมอาวุธนิวเคลียร์ทุกชนิด ข้อเสนอที่จนถึงตอนนี้ทางปักกิ่งยังปฏิเสธ

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นในปี 1991 และข้อพิพาทดังกล่าวได้ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก ด้วยนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าการพังครืนของสนธิสัญญาฉบับนี้อาจบ่อนทำลายข้อตกลงควบคุมอาวุธฉบับอื่นๆและกัดกร่อนระบบต่างๆของโลกที่ออกแบบมาเพื่อขัดขวางการแผ่ลามของการแข่งขันสะสมอาวุธ

ก่อนหน้านี้ วลาดิมีร์ ปูติน เคยบอกว่ารัสเซียไม่ต้องการแข่งขันสะสมอาวุธและสัญญาว่าจะไม่ประจำการขีปนาวุธรัสเซียจนกว่าสหรัฐฯจะลงมือก่อน อย่างไรก็ตาม ปูติน บอกว่าหากวอชิงตันเดินไปในก้าวย่างดังกล่าว เขาก็จำเป็นต้องสั่งประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์ไฮเปอร์โซนิคบนกองเรือหรือเรือดำน้ำที่ล่องอยู่ใกล้ๆน่านน้ำต่างๆของสหรัฐฯ

ส่วนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบอกว่าอีกไม่กี่เดือน อเมริกาจะทำการทดสอบขีปนาวุธพิสัยปานกลางเป็นครั้งแรก ซึ่งมีไว้สำหรับตอบโต้ภัยคุกคามจากรัสเซีย พร้อมคาดหมายว่ามันจะพร้อมสำหรับเข้าประจำการในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น