xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: สถานที่ใหม่, คนหน้าใหม่ ช่วยอะไรได้ไหม? เจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนรอบใหม่เริ่ม‘อังคารนี้’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 8 พ.ค. 2019) ผู้คนเดินผ่านแผ่นป้ายที่ติดธงชาติของสหรัฐฯและธงชาติจีน ในพื้นที่เขตการค้าพิเศษ ของเมืองชิงเต่า ทางภาคตะวันออกของจีน  ทั้งนี้คณะผู้เจรจาด้านการค้าของสหรัฐฯและของจีน มีกำหนดเริ่มหารือกันรอบใหม่ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ในวันอังคาร (30 ก.ค.) และวันพุธ (31) นี้ </i>
คณะผู้เจรจาด้านการค้าของสหรัฐฯเดินทางกลับมายังจีนอีกครั้งในสัปดาห์นี้ เพื่อการหารือกันในรอบใหม่ ณ นครแห่งใหม่ที่ยังไม่เคยใช้เป็นเวทีการเจรจาของพวกเขามาก่อน แต่กระนั้นเหล่าผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงบรรยากาศคราวนี้ไม่น่าที่จะช่วยให้ภาวะชะงักงันที่ดำเนินอยู่ ได้รับการคลี่คลายแก้ไขอย่างรวดเร็ว

การพบปะที่จะจัดขึ้นในนครเซี่ยงไฮ้ วันอังคาร (30 ก.ค.) และวันพุธ (31) นี้ จะเป็นการเจรจากันแบบเห็นหน้าเห็นตากันครั้งแรก หลังจากที่การหารือได้ล้มครืนลงในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาจีนว่า ตระบัดสัตย์ไม่รักษาคำมั่นที่ได้ให้ไว้ในการต่อรองก่อนหน้านี้ โดยที่ฝ่ายจีนตอบโต้ว่า ตนจะไม่ยินยอมอ่อนข้อในสิ่งที่เป็นหลักการแกนกลาง เป็นต้นว่า เรื่องอำนาจอธิปไตย รวมทั้งแย้งกลับว่าสหรัฐฯต่างหากที่ได้เปลี่ยนใจไม่ยอมรับสิ่งที่ได้ตกลงกันมาแล้วหลายครั้ง

จนถึงเวลานี้ วอชิงตันกับปักกิ่งได้ตอบโต้แก้เผ็ดกันด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรแบบมุ่งลงโทษจากสินค้าเข้าของอีกฝ่ายหนึ่ง รวมกันแล้วเป็นมูลค่ามากกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์

ถึงแม้ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำความตกลงกันในการหารือข้างเคียงการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ที่ญี่ปุ่น ว่าจะยุติความเป็นปรปักษ์ระหว่างกัน ทว่านับแต่นั้นมายังคงแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ

และประมุขทำเนียบขาวยังแหย่ให้ฝ่ายจีนเดือดดาล ด้วยการอวดอ้างว่าการที่เศรษฐกิจแดนมังกรกำลังชะลอตัวคือปัจจัยบีบคั้นให้จีนต้องยอมอ่อนข้อและทำดีลด้วย แม้ว่าตัวเลขจีดีพีของสหรัฐฯเองซึ่งประกาศออกมาในวันศุกร์ (26 ก.ค.) บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของอเมริกาเองก็เริ่มส่อแววไม่ค่อยดีเหมือนกัน

การพิพาทกันคราวนี้ ศูนย์กลางของมันไม่ได้อยู่แค่เรื่องการที่อเมริกาเสียเปรียบดุลการค้าจีนอย่างมหาศาล หรือการที่วอชิงตันเรียกร้องให้ปักกิ่งยุติการปล้นชิงเทคโนโลยีอเมริกัน และให้บริษัทอเมริกันสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมในตลาดแดนมังกรเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากสหรัฐฯนำเอาการแข่งขันชิงความได้เปรียบในเทคโนโลยีแห่งอนาคตเข้ามาในสมการด้วย

ยิ่งคณะบริหารทรัมป์ขึ้นบัญชีดำแชมเปี้ยนด้านกิจการเทเลคอมของจีนอย่างหัวเว่ย ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ก็ยิ่งทำให้จีนไม่พอใจหนัก

“โดยพื้นฐานแล้ว จีนพยายามที่จะถือเรื่องนี้เป็นกิจการทางเศรษฐกิจแท้ๆ และเพียงแค่ต้องการทำดีลให้สำเร็จ แต่สำหรับฝ่ายสหรัฐฯนั้น ดูเหมือน ... (พวกเขา) พยายามที่จะเชื่องโยงเรื่องกิจการทางการค้านี้เข้ากับการเป็นศัตรูค่าแข่งขันในทางยุทธศาสตร์” หวัง ชวนซิง อาจารย์มหาวิทยาลัยถงจี้ ในเซี่ยงไฮ้ บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี

แต่เขามองแง่ดีว่า “สิ่งที่มีอยู่ร่วมกันคือทั้งสองฝ่ายต่างต้องการทำข้อตกลง ดังนั้น เรื่องนี้จึงมีความสำคัญมาก”

<<เวทีประชุมที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์

การเริ่มการเจรจากันใหม่คราวนี้ มองเห็นกันว่าเป็นฝีก้าวในทางบวก และการเปลี่ยนสถานที่ประชุมมายังเซี่ยงไฮ้ นครศูนย์กลางทางพาณิชยกรรมของแดนมังกร ก็บ่งบอกไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน

“มันอาจจะเป็นความพยายามที่จะทำให้ผลพวงของการเจรจาต่อรองกัน ออกห่างมาจากตัวสี จิ้นผิง ตลอดจนบุคคลที่อยู่แวดล้อมตัวเขาก็เป็นได้” ไมเคิล เพตทิส อาจารย์ด้านการเงิน อยู่ที่วิทยาลัยการบริหารจัดการกวงหวา ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ให้ทัศนะ

ขณะเดียวกัน การจัดการพูดจาขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ ยังเท่ากับเป็นการมุ่งย้อนไปยังช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้ง 2 มีความราบรื่นกว่าในปัจจุบัน โดยนครแห่งนี้เองเป็นสถานที่ประกาศ แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ ปี 1972 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญยิ่งในการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯกับจีน
<i> (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 11 มี.ค. 2017) จง ซาน รัฐมนตรีพาณิชย์ ของจีน เป็นหน้าใหม่ในคณะเจรจาการค้าของฝ่ายจีน  </i>
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน ชี้ว่า สำหรับจีนแล้ว แถลงการณ์เซี่ยงไฮ้นั้นมีความสำคัญ และเมื่อการหารือจัดขึ้นในเมืองซึ่งทำข้อตกลงฉบับสำคัญดังกล่าว ก็มีความหมายเชิงสัญลักษณ์อย่างเห็นชัด เขาบอกกับโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีต่อไปด้วยว่า เขาจะถือเรื่องการได้รับคำเชิญให้ไปเจรจาที่เซี่ยงไฮ้ เป็น “ข่าวดีที่ว่าเราจะสามารถสร้างความก้าวหน้าได้ในสัปดาห์หน้า”

อย่างไรก็ตาม มนูชิน ซึ่งจะร่วมกับ โรเบิร์ต ไลไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในการนำคณะของอเมริกันไปหารือที่เซี่ยงไฮ้คราวนี้ กล่าวเตือนด้วยว่า ยังคง “มีประเด็นปัญหาจำนวนมาก” และเขาคาดหมายว่ายจะมีการนัดหมายเจรจารอบต่อไปอีกในสหรัฐฯ

เสิ่น ติงหลี่ อาจารย์มหาวิทยาลัยในเซี่ยงไฮ้ ก็แสดงความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะสามารถลงนามทำดีลกันได้ในสัปดาห์นี้

ทางด้าน โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์รายวันแนวทางชาตินิยมที่อยู่ในเครือของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุในบทบรรณาธิการประจำวันศุกร์ (26) ที่ผ่านมาว่า โอกาสที่สองฝ่ายจะทำข้อตกลงกันได้อาจหลุดลอยไป ถ้าวอชิงตันยังคงมุ่งบีบคั้นกดดันปักกิ่ง

สำหรับ แลร์รี คุดโลว์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวซึ่งออกมาพูดถึงการเจรจาทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนอยู่เป็นประจำ ก็บอกกับซีเอ็นบีซีในวันศุกร์ (26) ว่า เขาไม่คาดหวังว่าจะมีข้อตกลงยิ่งใหญ่อะไรออกมา

“จากการพูดคุยกับพวกผู้เจรจาของฝ่ายเรา ผมคิดว่าพวกเขากำลังจะรีเซตเวทีกันใหม่ และคาดหวังว่าจะหวนกลับไปยังจุดที่การเจรจาสะดุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา” เขากล่าว พร้อมกับเสริมว่า ทั้งสองฝ่ายยังจำเป็นต้องแก้ไขคลี่คลายประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญๆ อย่างเช่น เรื่องการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี

มีหน้าใหม่ๆ ด้วย ไม่เพียงสถานที่ใหม่

ไม่เพียงสถานที่เจรจาหารือคราวนี้จะใหม่ การเจรจาการค้ารอบใหม่นี้ยังดูเหมือนจะถูกกำหนดให้เพิ่มบทบาทอันสำคัญยิ่งขึ้นแก่ จง ซาน รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน

ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ ยังน่าที่จะเป็นผู้นำของคณะผู้เจรจาทางฝ่ายจีนอีกครั้งหนึ่ง แต่การที่มี จง เพิ่มเข้ามาก็อาจเปลี่ยนแปลงน้ำเสียงของการหารือ เนื่องจากเขาถูกมองว่าเป็นพวกสายแข็งกร้าว

“ในด้านหนึ่ง อาจจะในการพูดจาของเขา เขาอาจจะแสดงบางสิ่งบางอย่างที่แข็งกร้าว ออกมา” หวัง บอก

“แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็สามารถคิดได้เหมือนกันว่า จีนกำลังใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำข้อตกลงกันให้ได้ เนื่องจาก จง ซาน เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญมากในเรื่องแบบนี้”

ยังมีบางฝ่ายเสนอแนะเช่นกันว่า ปักกิ่งกำลังตั้งใจชะลอกระบวนการเจรจานี้ เพื่อรอให้ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันครั้งต่อไป ด้วยความหวังว่าผู้นำสหรัฐฯคนใหม่อาจมีท่าทีประนีประนอมมากกว่านี้

แลร์รี ออง นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมือง “ซิโนอินไซเดอร์” มองว่า หลังจากที่สหรัฐฯวิพากษ์วิจารณ์ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของจีน รวมทั้งการที่พวกนายทหารเกษียณอายุของอเมริกาทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องทรัมป์ใช้แนวทางแข็งกร้าวกับคอมมิวนิสต์จีนต่อไป กำลังทำให้สีประสบความลำบากเพิ่มขึ้นมาก ในการยินยอมผลักดันการปฏิรูปต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

“พวกศัตรูของสี ตลอดจนพวกสายแข็งกร้าวอื่นๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์ จะต้องหยิบฉวยเอาพัฒนาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น มาใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่าสหรัฐฯนั้นต้องการที่สร้างความพ่ายแพ้ปราชัยให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการสู้รบขัดแย้งกันแบบสไตล์ยุคสงครามเย็น ไม่ใช่ต้องการบรรลุข้อตกลงการค้าแบบชนะกันทุกฝ่าย และทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯกลับคืนสู่สภาพเดิมในยุคของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน” ออง บอก

(เก็บความจากเรื่อง Cautious hopes before new round of US-China trade talks ของสำนักข่าวเอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น