เอเจนซีส์ – กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เปิดการสอบสวนครั้งใหญ่ว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ของอเมริกันมีพฤติการณ์ผูกขาด กีดกันการค้าและขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือไม่ ขณะที่ทั่วโลกกำลังหวาดหวั่นว่า ผู้เล่นเหล่านี้มีอิทธิพลมากจนน่ากลัว ในอีกด้านหนึ่ง คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ ประกาศข้อตกลงยอมความซึ่งทางเฟซบุ๊กตกลงจ่าย 5,000 ล้านดอลลาร์กรณีถูกกล่าวหาบกพร่องในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
ในคำแถลงของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ที่ออกเมื่อวันอังคาร (23 ก.ค.) ระบุว่า กระทรวงจะดำเนินการตรวจสอบว่า พวกแพล็ตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำได้อำนาจทางการตลาดมาอย่างไร เกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นการผูกขาด จำกัดการแข่งขัน ขัดขวางนวัตกรรม หรือส่งผลลบต่อผู้บริโภคหรือไม่
แม้คำแถลงไม่ได้เจาะจงชื่อบริษัทใดๆ แต่ระบุว่า การตรวจสอบอาจพิจารณาข้อกังวลที่มีการร้องเรียนเข้ามาเกี่ยวกับบริการค้นหา โซเชียลมีเดีย และบริการค้าปลีกออนไลน์บางแห่ง ซึ่งพาดพิงชัดเจนถึง อัลฟาเบต ที่เป็นบริษัทแม่ของกูเกิล, แอมะซอน, เฟซบุ๊ก และอาจรวมถึงแอปเปิล
กูเกิลและแอปเปิลปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำแถลงนี้ ขณะที่เฟซบุ๊กและแอมะซอนยังไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ
ริชาร์ด บลูเมนทัล วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมต้องกล้าหยุดยั้งบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่เหล่านี้จากการใช้อำนาจกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาดในทางที่ผิด รวมทั้งต้องป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัว กลยุทธ์กีดกันการแข่งขัน และปิดกั้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม
ทั้งนี้ เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมสอบสวนว่า แอมะซอน, แอปเปิล, เฟซบุ๊ก และกูเกิลใช้อำนาจทางการตลาดในทางที่ผิดหรือไม่ ซึ่งจะถือเป็นการสอบสวนที่ครอบคลุมกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สมาชิกรัฐสภาหลายรายจากทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับขนาดอันมหึมาของบริษัทไฮเทครายใหญ่สุดและอำนาจทางการตลาดของบริษัทเหล่านั้น ส.ว.เอลิซาเบธ วอร์เรน ผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปีหน้า ถึงขั้นเรียกร้องให้แตกกิจการบริษัทอย่างแอมะซอน, แอปเปิล, กูเกิล และเฟซบุ๊ก
กระนั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่เลือกใช้ไม้แข็งนี้เนื่องจากกำลังกังวลอย่างมากกับบริษัทเทคโนโลยีจีนที่นับวันจะเติบกล้ามากขึ้น
ขณะเดียวกัน สัปดาห์ที่แล้ว คณะอนุกรรมการต่อต้านการผูกขาดของคณะกรรมาธิการการยุติธรรมสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เชิญผู้บริหาร 4 บริษัทไปซักถามเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการแข่งขัน และตั้งข้อสังเกตว่า กูเกิล, เฟซบุ๊ก และแอมะซอนมีส่วนแบ่งในตลาดสำคัญเพิ่มขึ้น
เดวิด ซิซิลีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเดโมแครต ระบุว่า มีข้อกังวลมากขึ้นในหมู่กองทุนร่วมลงทุนและสตาร์ทอัพว่า กูเกิล, แอมะซอน, เฟซบุ๊ก และแอปเปิลมีโซนล่าสังหารที่กีดกันไม่ให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเจาะเข้าสู่ตลาดและท้าทายผู้นำเดิม
ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีกำลังเผชิญกระแสต่อต้านทั้งในอเมริกาและทั่วโลก จากความกังวลในหมู่คู่แข่ง สมาชิกรัฐสภา และกลุ่มผู้บริโภคว่า บริษัทเหล่านั้นมีอำนาจมากเกินไป และกำลังใช้อำนาจอันใหญ่โตของตนทำร้ายผู้ใช้และคู่แข่ง โดยเมื่อเร็วๆ นี้สหภาพยุโรป เพิ่งสั่งปรับกูเกิลจำนวนมหาศาล จากข้อกล่าวหาละเมิดตำแหน่งผู้นำตลาด รวมทั้งเปิดการสอบสวนอย่างเป็นทางการต่อแอมะซอน
เฟซบุ๊กยอมจ่ายค่าปรับ 5,000 ล้านดอลลาร์
ในอีกด้านหนึ่ง คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ (Federal Trade Commission หรือ FTC) ที่เป็นหน่วยงานกำกับตรวจสอบให้การค้าดำเนินไปอย่างเป็นธรรม มีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่เมื่อวันพุธ (24) ประนอมยอมความกับบริษัทเฟซบุ๊ก โดยที่บริษัทสื่อสังคมยักษ์ใหญ่แห่งนี้ยินยอมจ่ายค่าปรับสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ 5,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับความผิดฐานละเมิดความเป็นส่วนตัว
คำแถลงของ FTC ระบุว่า ค่าปรับคราวนี้นับว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยบังคับลงโทษแก่บริษัทแห่งใดๆ ในความผิดฐานะเมิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค อีกทั้งเป็นหนึ่งในค่าปรับก้อนโตที่สุดเท่าที่รัฐบาลสหรัฐฯเคยกำหนดขึ้นมาไม่ว่าสำหรับการละเมิดใดๆ ก็ตาม
กระนั้น กรรมาธิการ 2 คนที่มาจากฝ่ายพรรคเดโมแครต ในจำนวนกรรมาธิการ FTC จำนวนทั้งสิ้น 5 คน ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก โดยโต้แย้งว่าข้อตกลงครั้งนี้ยังไม่เพียงพอที่จะเหนี่ยวรั้งการปฏิบัติในทางธุรกิจของเฟซบุ๊กซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค และเรียกร้องให้ฟ้องร้องดำเนินคดีเฟซบุ๊กในศาลยุติธรรม
นอกเหนือจากยอมจ่ายค่าปรับแล้ว ข้อตกลงยอมความคราวนี้ยังกำหนดให้เฟซบุ๊กต้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความเป็นส่วนตัวขึ้นมาภายในบอร์ดบริษัทของตน โดยสมาชิกของคณะกรรมการนี้จะได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการเสนอชื่อซึ่งมีความเป็นอิสระชุดหนึ่ง ขณะเดียวกัน ซีอีโอและคณะทำงานของเฟซบุ๊กจะต้องยื่นคำรับรองต่อ FTC ทุกรอบไตรมาส และทุกรอบปี ว่า บริษัทดำเนินการอย่างสอดคล้องกับโปรแกรมความเป็นส่วนตัว
เฟซบุ๊กยังจะต้องดำเนินการทบทวนเรื่องความเป็นส่วนตัวสำหรับทุกๆ ผลิตภัณฑ์, บริการ, หรือการปฏิบัติ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์, บริการ, การปฏิบัติ ใหม่ๆ และที่ดัดแปลงจากของเดิม โดยรวมถึงบริการอย่าง วอตส์แอปป์ และ อินสตาแกรม ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว FTC ได้เปิดการสอบสวนเฟซบุ๊กขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจาก 2 ฝ่ายได้เคยตกลงยอมความกันไปเมื่อปี 2011 ในเรื่องการดำเนินการกับข้อมูลส่วนตัว การเปิดสอบสวนใหม่นี้เกิดขึ้นมาภายหลังมีการเปิดเผยกรณีต่างๆ อย่างต่อเนื่องซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริษัทสื่อสังคมรายนี้มีการดำเนินการอย่างไม่ถูกต้องกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีอื้อฉาวเกรียวกราวที่สุด ได้แก่การที่เฟซบุ๊กออกมายอมรับว่า ข้อมูลของผู้ใช้จำนวนหลายสิบล้านคน ได้ถูกลักลอบนำเอาไปใช้โดย เคมบริดจ์ อะนาลิติกา บริษัทที่ปรึกษาซึ่งทำงานให้ทีมรณรงค์หาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2016