xs
xsm
sm
md
lg

'ทรัมป์'พบผู้บริหารบ.ผลิตชิปของสหรัฐฯ โฆษกทำเนียบขาวอ้างซีอีโอต่างหนุนนโยบายเล่นงาน 'หัวเว่ย' แต่บริษัทเหล่านี้กลับปิดปากเงียบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอพี/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พบหารือกับพวกผู้บริหารจากบริษัทผู้ผลิตชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของสหรัฐฯในวันจันทร์ (22 ก.ค.) โดยทำเนียบขาวอ้างว่าผู้เข้าพบเหล่านี้แสดง “ความสนับสนุนอย่างแข็งขัน” ต่อนโยบายของทรัมป์ รวมทั้งเรื่องจำกัดเข้มงวดการซื้ออุปกรณ์เทเลคอมจากหัวเว่ย และการขายชิ้นส่วนให้แก่บริษัทจีนแห่งนี้ อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าบริษัทอเมริกันเหล่านี้เองกลับปิดปากไม่ประสงค์จะเล่าว่าได้พูดจาอะไรกับทรัมป์

หัวเว่ยกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งในการพิพาทด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยที่เมื่อเดือนพฤษภาคม ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ให้อำนาจรัฐบาลสหรัฐฯในการสั่งแบนเทคโนโลยีและบริการต่างๆ ของ “พวกปรปักษ์ต่างชาติ” ซึ่งทำท่าจะก่อให้เกิด “ความเสี่ยงต่างๆ อย่างยอมรับไม่ได้” ต่อความมั่นคงแห่งชาติ ในคำสั่งนี้ไม่ได้ระบุชื่อประเทศหรือบริษัทใดๆ แต่ออกมาภายหลังสหรัฐฯได้ออกแรงบีบคั้นกดดันมาเป็นเดือนๆ ต่อหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทซัปพลายอุปกรณ์เครือข่ายสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เวลาเดียวกัน ทรัมป์ขณะนั้นกำลังอยู่ระหว่างการขยายยกระดับการขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้าเข้าจากจีนอีกด้วย

ในเดือนเดียวกันนั้นเอง กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯก็ได้อ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย ซึ่งส่งผลให้บริษัทสหรัฐฯไม่สามารถขายเทคโนโลยีหรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ของอเมริกันแก่บริษัทจีนรายนี้ได้ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่ามุ่งหมายที่จะโน้มน้าวชักจูงพวกพันธมิตรของสหรัฐฯในยุโรปที่ยังไม่ยินยอม ให้หันมาร่วมมือกับสหรัฐฯในการกีดกันไม่ใช้อุปกรณ์หัวเว่ยสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่นต่อไป ซึ่งรู้จักกันในชื่อ 5จี

รัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์ ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะผ่อนผันในเรื่องนี้ให้เป็นบางส่วน โดยที่กระทรวงพาณิชย์จะออกใบอนุญาตส่งออกให้แก่พวกบริษัทที่ขายเทคโนโลยีต้องห้ามให้แก่บริษัทต่างประเทศอย่างเช่นหัวเว่ย เฉพาะในกรณีที่วินิจฉัยแล้วว่าการขายดังกล่าวไม่ได้เป็นภัยคุกคามใดๆ ต่อความมั่นคงแห่งชาติ

ทางด้านทำเนียบขาวออกคำแถลงภายหลังการพบหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ (22) คราวนี้ว่า “บรรดาซีอีโอได้แสดงความสนับสนุนอย่างแข็งตันต่อนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดี รวมทั้งการออกข้อจำกัดด้วยเหตุผลทางความมั่นคงแห่งชาติในเรื่องการซื้ออุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมเข้ามาในสหรัฐฯ และเรื่องการขายให้หัวเว่ย”

ขณะเดียวกัน คำแถลงของทำเนียบขาวระบุว่า พวกซีอีโอเหล่านี้ได้ขอร้องให้กระทรวงพาณิชย์มีการตัดสินใจอย่างทันการณ์ในเรื่องการออกใบอนุญาตเพื่อขายอุปกรณ์ให้หัวเว่ย และประธานาธิบดีทรัมป์ก็เห็นพ้องด้วย นอกจากนั้น ผู้บริหารเหล่านี้ยังแสดงความหวังในแง่สดใสเกี่ยวกับการติดตั้งเครือข่าย 5จี ในสหรัฐฯ

สำหรับพวกผู้บริหารที่เข้าพบหารือกับทรัมป์คราวนี้ มีทั้งพวกซีโออีจากบริษัทผู้ผลิตชิปอย่าง ไมครอน, ควอลคอมม์, อินเทล, และ บรอดคอม นอกจากนั้นยังมีซีอีโอของ เวสเทิร์นดิจิตอล ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลและอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์, และซิสโก ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเครื่องเราเตอร์, สวิตช์, และซอฟต์แวร์

ธุรกิจของบริษัทเหล่านี้กำลังได้รับความเสียหายจากมาตรการจำกัดการขายให้หัวเว่ย

อีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมการพบหารือด้วยเช่นกัน คือ ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิล ทั้งนี้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยนั้นใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลอยู่ แต่ยักษ์ใหญ่เทคอเมริกันรายนี้ประกาศในเดือนพฤษภาคมว่า ตนเองต้องทำตามมาตรการจำกัดของสหรัฐฯที่มุ่งเล่นงานหัวเว่ย โดยกูเกิลบอกว่าตนเองจะยังสนับสนุนสมาร์ทโฟนที่มีอยู่แล้วของหัวเว่ย แต่สมาร์ทโฟนหัวเว่ยในอนาคตจะไม่มีแอปป์และบริการสำคัญๆ ของกูเกิลแล้ว รวมทั้งพวกแผนที่, จีเมล, และการเสิร์ช

ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในสหรัฐฯนั้นมีเพียงน้อยนิด ขณะที่อุปกรณ์เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทจีนรายนี้ก็ใช้กันเฉพาะในหมู่บริษัทสื่อสารไร้สายและบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตรายเล็กๆ ของอเมริกา นี่หมายความว่าการที่กูเกิลตัดการให้บริการ จะกระทบกระเทือนต่อพวกผู้บริโภคในสหรัฐฯน้อยมาก

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทั้งโฆษกของกูเกิล และของอินเทล ต่างปฏิเสธไม่ออกความเห็นใดๆ ในวันจันทร์ (22) ขณะที่โฆษกของควอลคอมม์ไม่ได้ตอบกลับเมื่อส่งข้อความไปขอให้แสดงความคิดเห็น ส่วนพวกตัวแทนของไมครอน, บรอดคอม, เวสเทิร์นดิจิตอล, และซิสโก ต่างไม่สามารถติดต่อได้


กำลังโหลดความคิดเห็น