xs
xsm
sm
md
lg

‘วิกฤตการณ์อิหร่าน’ยังคงเป็นเรื่องของ‘น้ำมัน’ แม้‘สหรัฐฯ’ไม่ได้เอ่ยปากพาดพิงถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ไมเคิล ที. แคลร์


The Missing Three-Letter Word in the Iran Crisis,
Oil’s Enduring Sway in U.S. Policy in the Middle East

By Michael T. Klare
11/07/2019

ถึงแม้ประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐมนตรีต่างประเทศพอมเพโอของสหรัฐฯ ไม่ได้พูดคำว่า “น้ำมัน” ออกมาเลย ในขณะที่สร้างกระแสมุ่งโจมตีใส่อิหร่านอยู่ในเวลานี้ แต่ “น้ำมัน” คือเหตุผลสำคัญเสมอมา ที่ทำให้อเมริกาเข้าทำสงครามครั้งต่างๆ ในตะวันออกกลางหลังจากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

มันเป็นเรื่องของ “น้ำมัน” เสมอมานั่นแหละ ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสนทนาอย่างกระดี๊กระด๊าอยู่กับมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Prince Mohammed bin Salman) ณ การประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น โดยไม่แยแสสนใจกับรายงานของสหประชาชาติเมื่อไม่นานมานี้ [1] ซึ่งพูดถึงบทบาทของเจ้าชายพระองค์นี้ในเหตุการณ์สังหารโหด จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) คอลัมนิสต์ของวอชิงตันโพสต์

ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ขณะเดินทางเยือนหลายชาติในเอเชียและตะวันออกกลาง ก็พากเพียรขอร้อง [2] เหล่าผู้นำต่างประเทศให้สนับสนุนโครงการ “เซนทิเนล” (Sentinel แปลว่า ทหารยาม) ด้วยการให้เรือบรรทุกน้ำมันตลอดจนเรืออื่นๆ ที่ผ่านไปมาในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ติดตั้งกล้องซึ่งสามารถเฝ้าติดตามและยืนยันอย่างหนักแน่นชัดเจนถึงภัยคุกคามต่างๆ จากอิหร่าน จุดมุ่งหมายของแผนการที่คณะบริหารทรัมป์เสนอขึ้นมานี้ ก็คือ เพื่อปกป้องคุ้มครองการเดินเรือในช่องแคบฮอร์มุซและอ่าวเปอร์เซีย

ทั้งตัวทรัมป์และพอมเพโอต่างยืนกรานว่าความพยายามเหล่านี้ของพวกเขามีแรงขับดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความประพฤติอันไม่สมควรของอิหร่านในภูมิภาคแถบนี้ และความจำเป็นที่จะต้องทำให้แน่ใจได้ว่าการพาณิชย์นาวีมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ไม่มีใครเลยที่เอ่ยอ้างถึงคำในภาษาอังกฤษคำหนึ่ง ซึ่งบางทีอาจจะเนื่องจากมันทำให้ทั้งสองคนเกิดความรู้สึกไม่สบายอกสบายใจขึ้นมา คำๆ นี้ที่ประกอบด้วยอักษรเพียง 3 ตัว ก็คือ O-I-L (น้ำมัน) ถึงแม้ว่า “น้ำมัน” นี่แหละคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวมุ่งเล่นงานอิหร่านของพวกเขา (เฉกเช่นที่น้ำมันได้เคยเป็นตัวกระตุ้นผลักดันการบุกรุกโจมตีของอเมริกันครั้งอื่นๆ ทุกๆ ครั้งในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา)

ในปัจจุบันนี้ เป็นความจริงที่สหรัฐฯไม่ได้พึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียมนำเข้าสำหรับสนองความจำเป็นด้านพลังงานของตนในเปอร์เซนต์ที่ใหญ่โตอีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ต้องขอบคุณการปฏิวัติด้านการทำเหมืองหินน้ำมันด้วยวิธีใช้แรงอัดกระแทก (fracking revolution) [3] ทำให้อเมริกาเวลานี้สามารถหาน้ำมันจากแหล่งภายในประเทศมาใช้ได้ ในสัดส่วนมหึมา –ประมาณ 75% -- [4] ทีเดียว (เมื่อปี 2008 สัดส่วนนี้อยู่ในระดับใกล้ๆ 35% เท่านั้น) อย่างไรก็ดี พวกชาติพันธมิตรรายสำคัญๆ ในองค์การนาโต้ และพวกปรปักษ์อย่างเช่นจีน ยังคงต้องพึ่งพาน้ำมันตะวันออกกลาง คิดเป็นอัตราส่วนสูงลิ่วของความจำเป็นทางด้านพลังงานของพวกเขากันอยู่ สภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็คือ เศรษฐกิจโลก –ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้ได้รับประโยชน์นำหน้าใครเพื่อน (ถึงแม้ประธานาธิบดีทรัมป์เที่ยวก่อสงครามการค้าที่มีแต่ทำร้ายตัวเองขึ้นมา)— ยังคงต้องขึ้นอยู่กับการที่น้ำมันจะต้องหลั่งไหลออกจากอ่าวเปอร์เซียได้โดยไม่หยุดชะงัก เพื่อรักษาให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับต่ำ แล้วด้วยการวางตนเองให้เป็นผู้กำกับดูแลรายสำคัญที่สุด เพื่อทำให้การหลั่งไหลของน้ำมันดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป วอชิงตันก็กำลังสามารถครองฐานะความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างโดดเด่นน่าประทับใจ ด้วยเหตุนี้เอง เหล่าชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯจึงไม่มีทางที่จะทอดทิ้งเรื่องนี้ พอๆ กับที่พวกเขาจะไม่มีทางทอดทิ้งฐานะทางด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีความเหนือล้ำกว่าใครๆ ในโลกไปนั่นแหละ

หลักเหตุผลนี้ได้ถูกบ่งบอกออกมาอย่างชัดเจนโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในการกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน 2013 ซึ่งเขาประกาศ [5]ว่า “สหรัฐอเมริกาเตรียมพร้อมที่จะใช้ส่วนประกอบต่างๆ ทั้งหมดในพลังอำนาจของเรา รวมไปถึงกำลังทหารด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ผลประโยชน์แกนกลางของเรา” ในตะวันออกกลาง จากนั้นเขาก็ชี้ต่อไปว่า ขณะที่สหรัฐฯกำลังลดทอนการพึ่งพาอาศัยน้ำมันนำเข้าลงมาอย่างสม่ำเสมอนั้น “โลกยังคงต้องพึ่งพาซัปพลายน้ำมันของภูมิภาคดังกล่าว และหากเกิดการติดขัดชะงักงันอย่างสาหัสร้ายแรงขึ้นมา ก็อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกทั้งหมดทั้งสิ้น” ดังนั้น เขาจึงสรุปว่า “เราจะต้องรับประกันให้พลังงานหลั่งไหลอย่างเสรีจากภูมิภาคนี้ออกไปสู่โลก”

สำหรับชาวอเมริกันบางคนบางฝ่าย ถ้อยแถลงดังกล่าวนี้ –ซึ่งยังคงได้รับการยอมรับปฏิบัติต่อมาจากประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐมนตรีต่างประเทศพอมเพโอ— อาจจะดูเหมือนไม่เข้ากับยุคสมัยเสียแล้ว เป็นความจริงทีเดียว วอชิงตันได้สู้รบในสงครามหลายๆ ครั้งในตะวันออกกลาง เมื่อตอนที่เศรษฐกิจอเมริกันยังคงมีความเปราะบางอย่างยิ่งหากการหลั่งไหลของน้ำมันนำเข้าต้องเผชิญภาวะติดขัดหยุดชะงักใดๆ ขึ้นมา เมื่อปี 1990 เรื่องนี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ตัดสินใจขับไล่กองทหารอิรักออกไปจากคูเวต หลังจากที่ ซัดดัม ฮุสเซน ยกทัพเข้ารุกรานและยึดครองประเทศนั้นเอาไว้ “ประเทศของเราเวลานี้นำเข้าน้ำมันเกือบๆ ครึ่งหนึ่งของที่ต้องการบริโภค และอาจเผชิญกับภัยคุกคามอันใหญ่โตต่อความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจของตน” เขากล่าวเช่นนี้ระหว่างการปราศรัยครั้งหนึ่งกับผู้ชมทางทีวีทั่วประเทศ [6] แต่อีกไม่ช้าไม่นานต่อมา การพูดจาถึงน้ำมันก็สูญหายไปจากการแสดงทัศนะต่างๆ ของเขาในเรื่องซึ่งจะกลายเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) ครั้งแรก (แต่ยากที่จะเป็นครั้งสุดท้าย) ของวอชิงตัน ในเมื่อปรากฏว่าคำปราศรัยออกทีวีของเขา กลับกลายเป็นการกระตุ้นยั่วยุให้สาธารณชนเกิดความโกรธเกรี้ยวกันอย่างกว้างขวาง [7] (“ไม่ยอมหลั่งเลือดเพื่อน้ำมัน” (No Blood for Oil) ได้กลายเป็นข้อความประท้วงซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวางในตอนนั้น) บุตรชายของเขา ซึ่งก็คือประธานาธิบดีบุชคนที่ 2 นั้น ไม่เคยที่จะเอ่ยอ้างพาดพิงถึงคำที่ประกอบด้วยตัวอักษร 3 ตัวคำนี้เลย เมื่อตอนที่ประกาศการรุกรานอิรักของเขาในปี 2003 กระนั้น ก็อย่างที่คำปราศรัยในยูเอ็นของโอบามาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน น้ำมันยังคงเป็น และก็จะยังคงเป็น สิ่งที่อยู่ตรงศูนย์กลางแห่งนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯต่อไป

การกล่าวทบทวนอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับแนวโน้มด้านพลังงานของโลก จะช่วยอธิบายได้ว่าทำไมมันจึงยังคงเป็นเช่นนี้กันอยู่

โลกยังคงพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียมอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง

ถึงแม้ได้มีการพูดจากันทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และบทบาทของน้ำมันในการก่อให้เกิดภาวะอันตรายเช่นนี้ขึ้นมา –รวมทั้งในเรื่องที่ว่ามีความก้าวหน้าไปอย่างใหญ่โตในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม— ทว่าเราก็ยังคงติดหนึบอยู่ในโลกที่ต้องพึ่งพิงน้ำมันอย่างชัดเจนอยู่นั่นเอง เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับความเป็นจริงนี้ สิ่งที่พวกคุณทั้งหมดต้องกระทำก็คือ การอ่านรายงาน เรื่อง “การทบทวนเชิงสถิติว่าด้วยพลังงานโลก” (Statistical Review of World Energy) ของ บีพี (บริติช ปิโตรเลียม) บริษัทยักษ์ใหญ่น้ำมัน ฉบับปรับปรุงล่าสุด [8] ซึ่งนำออกมาเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ตามข้อมูลในรายงานดังกล่าว เมื่อปี 2018 ในการบริโภคพลังงานของโลก น้ำมันยังคงมีสัดส่วนสูงที่สุดชนิดทิ้งแหล่งพลังงานอื่นๆ ไกลสุดกู่ เหมือนอย่างที่ได้เคยเป็นมาทุกๆ ปีตลอดหลายทศวรรษมาแล้ว ทั้งหมดที่แจกแจงเอาไว้ในรายงานฉบับนี้ก็คือ 33.6% ของการบริโภคพลังงานโลกเมื่อปีที่แล้ว มาจากการใช้น้ำมัน, 27.2% มาจากถ่านหิน (เรื่องนี้ในตัวมันเองต้องถือว่าเป็นความน่าอับอายขายหน้าของทั่วโลกทีเดียว), 23.9% มาจากก๊าซธรรมชาติ, 6.8% เป็นไฟฟ้าพลังน้ำ, 4.4% เป็นไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์, และมีเพียง 4% เท่านั้นที่ได้มาจากพลังงานหมุนเวียน

พวกนักวิเคราะห์ด้านพลังงานส่วนใหญ่เชื่อว่า สัดส่วนการใช้พลังงานของโลกที่เป็นการพึ่งพาอาศัยปิโตรเลียม จะลดต่ำลงมาในหลายๆ ทศวรรษต่อจากนี้ไป เนื่องจากมีรัฐบาลต่างๆ เพิ่มมากขึ้นซึ่งประกาศมาตรการจำกัดการปล่อยไอเสียคาร์บอน และเนื่องจากพวกผู้บริโภค โดยเฉพาะในโลกพัฒนาแล้ว พากันเปลี่ยนจากการใช้ยานยนต์ที่บริโภคน้ำมันมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ทว่าการลดต่ำลงดังกล่าวนี้ไม่น่าจะปรากฏให้เห็นในทุกๆ ภูมิภาคของพื้นพิภพ และกระทั่งว่าการบริโภคน้ำมันโดยรว,อาจจะไม่ได้ลดลงก็เป็นได้ ตามการคาดการณ์ต่างๆ ของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานเรื่อง “ฉากทัศน์ทางนโยบายใหม่ๆ ” (New Policies Scenario) [9] ของทางสำนักงานแห่งนี้ (รายงานฉบับนี้คำนวณตัวเลขโดยใช้สมมุติฐานว่า รัฐบาลต่างๆ มีความพยายามเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญทว่าไม่ถึงขั้นรุนแรงใหญ่โต ในเรื่องการกำจัดลดทอนการปล่อยไอเสียคาร์บอนในระดับทั่วโลก) เอเชีย, แอฟริกา, และตะวันออกกลาง น่าที่จะประสบกับภาวะความต้องการปิโตรเลียมเพิ่มมากขึ้นอย่างมีสาระสำคัญในระยะเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป ซึ่งนี่ย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกหดหู่กันทีเดียว เพราะหมายความว่าการบริโภคน้ำมันของทั่วโลกจะยังคงสูงขึ้นต่อไปอีก

ในรายงานเรื่อง “ทิศทางแนวโน้มพลังงานโลก” ปี 2017 (2017 World Energy Outlook) [10] IEA ก็มีข้อสรุปว่าการที่ความต้องการใช้น้ำมันกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย จะมีน้ำหนักเกินกว่าความต้องการที่ลดต่ำลงในภูมิภาคอื่นๆ โดยที่สำนักงานแห่งนี้คำนวณว่า เมื่อถึงปี 2040 น้ำมันจะยังคงเป็นแหล่งที่มาของพลังงานซึ่งมีฐานะครอบงำเหนือล้ำกว่าแหล่งที่มาอย่างอื่นๆ กล่าวคือคิดเป็นประมาณ 27.5% ของการบริโภคพลังงานของโลกโดยรวม เป็นความจริงที่ตัวเลขนี้ถือเป็นเปอร์เซนต์ที่ลดต่ำลงมาแล้วจากตัวเลขเมื่อปี 2018 ทว่าเนื่องจากคาดหมายกันว่าการบริโภคพลังงานของทั่วโลกโดยรวมนั้น จะเติบโตขยายตัวอย่างมีสาระสำคัญในช่วงหลายๆ ทศวรรษที่คั่นอยู่ระหว่างปี 2018 กับปี 2040 ดังนั้นตัวเลขการผลิตน้ำมันสุทธิจึงอาจจะยังคงสูงขึ้น – จากประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2018 เป็นประมาณ 105 ล้านบาร์เรลในปี 2040

แน่นอนทีเดียวว่า ไม่มีใครเลยแม้กระทั่งพวกผู้เชี่ยวชาญของ IEA สามารถที่จะแน่ใจว่า เมื่อภาวะโลกร้อนสำแดงตัวให้เห็นอย่างสุดโต่ง อย่างเช่น กระแสคลื่นความร้อนรุนแรงซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ยุโรป 11] และเอเชียใต้ [12] เมื่อไม่นานมานี้ จะสามารถเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ดังกล่าวนี้ได้อย่างไรหรือไม่ นอกจากนั้นแล้ว มันมีความเป็นไปได้ที่ว่าความเดือดดาลที่กำลังเพิ่มพูนขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ของสาธารณชน [13] อาจนำไปสู่การออกมาตรการข้อจำกัดอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้นในเรื่องการปล่อยไอเสียคาร์บอนในช่วงเวลาระหว่างตอนนี้ไปจนถึงปี 2040 หรือ พัฒนาการอย่างไม่คาดคิดกันมาก่อนในแวดวงการผลิตพลังงานทางเลือก ก็อาจแสดงบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์เหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฐานะการครอบงำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ของน้ำมัน ยังอาจที่จะถูกลิดรอนลงไปได้ในหลายๆ ทาง ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำนายคาดการณ์ได้

ในเวลาเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เราจะพบว่าความต้องการในปิโตรเลียมของทั่วโลก กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งประการหนึ่ง ตามข้อมูลของ IEA เมื่อปี 2000 พวกชาติที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นอุตสาหกรรมก่อนคนอื่นๆ –พวกเขาส่วนใหญ่เป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) – เป็นผู้ที่บริโภคน้ำมันคิดเป็นประมาณสองในสามของทั่วโลก โดยมีเพียงราวหนึ่งในสามเท่านั้นที่เป็นการบริโภคของพวกประเทศในโลกกำลังพัฒนา แต่ภายในปี 2040 พวกผู้เชี่ยวชาญของ IEA เชื่อว่าสัดส่วนนี้จะพลิกกลับเป็นตรงกันข้าม โดยที่พวกชาติ OECD บริโภคน้ำมันประมาณหนึ่งในสามของทั่วโลก และพวกชาตินอก OECD บริโภคส่วนที่เหลือ เรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่านี้อีกก็คือ การที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กำลังกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการหลั่งไหลเข้ามาของปิโตรเลียมทั่วโลกมากยิ่งขึ้นทุกที โดยในปี 2000 ภูมิภาคนี้บริโภคน้ำมันคิดเป็นแค่เพียง 28% ของทั่วโลก แต่เมื่อถึงปี 2040 ส่วนแบ่งของพวกเขาคาดกันว่าจะอยู่ที่ 44% เรื่องนี้ต้องขอบคุณการเติบโตขยายตัวของจีน, อินเดีย, และพวกประเทศเอเชียอื่นๆ ซึ่งบรรดาผู้บริโภคที่มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาใหม่ๆ ต่างกำลังซื้อหาทั้งรถยนต์, รถบรรทุก, รถจักรยานยนต์, และผลิตภัณฑ์อย่างอื่นๆ ที่เดินเครื่องโดยใช้น้ำมัน ด้วยความคึกคัก [14]

แล้วเอเชียจะได้น้ำมันจากที่ไหน? ในหมู่พวกผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แทบไม่มีข้อสงสัยกันเลยในเรื่องนี้ จากการที่ประเทศเหล่านี้ต่างขาดไร้แหล่งน้ำมันสำรองขนาดใหญ่ๆ ของพวกเขาเอง ดังนั้นพวกผู้บริโภคเอเชียสำคัญๆ ย่อมจะต้องหันมาพึ่งพาสถานที่หนึ่งซึ่งมีกำลังผลิตเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นของพวกเขาได้อย่างพออกพอใจ [15] สถานที่ดังกล่าวก็คืออ่าวเปอร์เซีย ตามตัวเลขข้อมูลของบีพี ในปี 2018 ญี่ปุ่นได้นำน้ำมันนำเข้าราว 87% จากตะวันออกกลางอยู่แล้ว ขณะที่อินเดียอยู่ที่ 64% และจีน 44% พวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างมีสมมุติฐานว่าเปอร์เซ็นต์เหล่านี้มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป เนื่องจากการผลิตในพื้นที่อื่นๆ จะลดต่ำลง

ในทางกลับกัน สภาพเช่นนี้ย่อมเพิ่มความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมากมายมหาศาล ให้แก่ภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย จากที่เวลานี้ภูมิภาคนี้ก็เป็นเจ้าของปิโตรเลียมสำรองที่ยังไม่มีการขุดเจาะนำขึ้นมาเป็นปริมาณมากกว่า 60% ของที่โลกมีกันอยู่ ขณะที่ช่องแคบฮอร์มุซ ช่องทางน้ำแคบๆ [16] ซึ่งตั้งอยู่ตรงปากทางเข้าอ่าวเปอร์เซีย เวลานี้ก็เป็นทางผ่านของน้ำมันประมาณหนึ่งในสามของที่ขนถ่ายกันทางทะเลในทั่วโลกในแต่ละวัน บางทีเราน่าจะพูดได้ว่า ช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นเส้นพรมแดนของทั้งอิหร่าน, โอมาน, และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือสถานที่ทางภูมิยุทธศาสตร์ซึ่งทรงความสำคัญที่สุด –และเกิดการต่อสู้ช่วงชิงกันหนักหน่วงที่สุด— บนพื้นพิภพในทุกวันนี้

สหรัฐฯกลายเป็นผู้ควบคุม “หัวก๊อก” น้ำมันอันสำคัญยิ่งของโลก

ตอนที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานเมื่อปี 1979 ปรากฏว่าที่อิหร่านในปีเดียวกันนั้นเอง พวกนักต่อสู้ของชาวชีอะห์เคร่งจารีตก็ได้โค่นล้มพระเจ้าชาห์ที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ พวกผู้วางนโยบายสหรัฐฯต่างมีข้อสรุปว่า การเข้าถึงซัปพลายน้ำมันอ่าวเปอร์เซียของอเมริกากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และจำเป็นที่สหรัฐฯซึ่งมีการปรากฏตัวทางทหารในอาณาบริเวณนั้น เพื่อค้ำประกันให้แก่การเข้าถึงดังกล่าว อย่างที่ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ จะพูดถึงเรื่องนี้ [17] เอาไว้ในคำแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union Address) ของเขา [18] ในวันที่ 23 มกราคม 1980 ดังนี้:

“ภูมิภาคดังกล่าวซึ่งเวลานี้ถูกคุกคามโดยกองทัพโซเวียตในอัฟกานิสถานนั้น มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างใหญ่หลวง กล่าวคือ มันเป็นภูมิภาคที่มีน้ำมันซึ่งสามารถส่งออกได้ในปริมาณมากกว่าสองในสามของที่มีอยู่ทั่วโลก ... ความพยายามของโซเวียตที่จะครอบงำอัฟกานิสถาน ได้นำเอากองกำลังทหารโซเวียตเข้าไปอยู่ภายในระยะไม่เกิน 300 ไมล์จากมหาสมุทรอินเดีย และประชิดกับช่องแคบฮอร์มุซ ช่องทางเดินเรือซึ่งน้ำมันส่วนใหญ่ของโลกต้องลำเลียงผ่าน ... ขอให้จุดยืนของเราได้เป็นที่ทราบกันอย่างชัดเจนที่สุด กล่าวคือ ความพยายามของพลังจากภายนอกใดๆ ก็ตามที่จะเข้าควบคุมภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียเอาไว้ จะถูกพิจารณาว่าเป็นการโจมตีใส่ผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวดของสหรัฐอเมริกา และการโจมตีดังกล่าวจะถูกขับไล่ออกไปด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามที่มีความจำเป็น รวมทั้งการใช้กำลังทหารด้วย”

เพื่อเพิ่มมัดกล้ามให้แก่คำประกาศเชิงหลักการที่ในไม่ช้าไม่นานจะถูกเรียกขานกันว่า “ลัทธิคาร์เตอร์” (Carter Doctrine) นี้ ประธานาธิบดีผู้นี้ได้ก่อตั้งองค์กรทางทหารของสหรัฐฯองค์กรใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า กองกำลังเฉพาะกิจร่วมเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Deployment Joint Task Force ใช้อักษรย่อว่า RDJTF) และได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับการตั้งฐานของกองกำลังนี้ขึ้นมาในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย โรนัลด์ เรแกน ผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากคาร์เตอร์ในปี 1981 ได้จัดแจงทำให้ RDJTF กลายเป็น “กองบัญชาการสู้รบดูแลรับผิดชอบภาคพื้นทางภูมิศาสตร์” (geographic combatant command) [19] ไปอย่างเต็มตัว โดยเรียกชื่อมันว่า กองบัญชาการทหารสหรัฐฯด้านกลาง (US Central Command หรือ CENTCOM) ซึ่งยังคงได้รับมอบหมายภารกิจอย่างต่อเนื่องสืบมาจวบจนถึงทุกวันนี้ ในการสร้างหลักประกันว่าฝ่ายอเมริกันจะต้องสามารถเข้าถึงอ่าวเปอร์เซีย (รวมทั้งทำหน้าที่กำกับดูแลพวกสงครามที่ไม่เคยจบสิ้นทั้งหลายในมหาภูมิภาคตะวันออกกลาง - Greater Middle East)

เรแกนยังถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่กดปุ่มนำเอาลัทธิคาร์เตอร์มาใช้งานกันเป็นรูปธรรมจับต้องได้กันจริงๆ ในปี 1987เมื่อเขาออกคำสั่งให้พวกเรือรบของนาวีสหรัฐฯเข้าคุ้มกันประดาเรือบรรทุกน้ำมันของคูเวต โดยให้เรือน้ำมันเหล่านี้ “เปลี่ยนธงชาติใหม่” [20] ด้วยการหันมาชักธงชาติอเมริกัน ขณะที่พวกเขาเดินทางผ่านช่องแคบฮาร์มุซ เรือดังกล่าวเหล่านี้ตกเป็นเป้าถูกยิงจากพวกเรือปืนของอิหร่านเป็นครั้งเป็นคราว โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามเรือบรรทุกน้ำมัน” (Tanker War) [21] ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “สงครามเรือบรรทุกน้ำมัน” นี้เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามอิหร่าน-อิรัก” (Iran-Iraq War) ซึ่งสู้รบกันอยู่นานหลายๆ ปีในช่วงเวลาตอนนั้น การที่อิหร่านเข้าโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันเหล่านี้มีความมุ่งหมายที่ต้องการลงโทษเหล่าประเทศอาหรับสุหนี่ ซึ่งกำลังหนุนหลัง ซัดดัม ฮุสเซน ผู้เผด็จการแห่งอิรัก ในสงครามอิหร่าน-อิรักนั่นเอง สำหรับการตอบโต้ของฝ่ายอเมริกันในระยะนั้นที่มีการขนานนามว่า “ยุทธการเอิร์นเนสต์วิลล์” (Operation Earnest Will ยุทธการเจตนารมณ์แรงกล้า) [22] เรียกได้ว่ากลายเป็นแบบอย่างอันแรกๆ ของสิ่งที่รัฐมนตรีต่างประเทศพอมเพโอกำลังหาทางทำให้เกิดขึ้นมาในเวลานี้ด้วยโครงการเซนทิเนล ของเขา

หลังจากยุทธการเอิร์นเนิสต์วิลล์ ดำเนินมาได้ 2 ปี ก็ติดตามมาด้วยเหตุการณ์ซึ่งเป็นการนำเอาลัทธิคาร์เตอร์มาบังคับปฏิบัติให้เป็นจริงเป็นจังครั้งใหญ่โตมโหฬาร อันได้แก่การที่ประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ ตัดสินใจในปี 1990 ที่จะผลักดันกองทหารอิรักให้ถอยออกไปจากคูเวต ถึงแม้เขาได้พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องปกป้องคุ้มครองการที่สหรัฐฯจะต้องเข้าถึงแหล่งน้ำมันต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซีย แต่หลักฐานต่างๆ ก็แสดงชัดว่า การค้ำประกันให้มีน้ำมันนำเข้า หลั่งไหลเข้าสู่สหรัฐฯได้อย่างปลอดภัยต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นเหตุจูงใจเพียงประการเดียวของการเข้าพัวพันทางทหารดังกล่าว แรงจูงใจที่ในตอนนั้นถือว่ามีความสำคัญพอๆ กัน (และยิ่งในเวลานี้ด้วยแล้ว ถือได้ว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าเสียอีก สำคัญยิ่งกว่าอย่างไกลสุดกู่ทีเดียว) ได้แก่ การชิงความได้เปรียบในทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งวอชิงตันจะได้มาจากการเข้าควบคุมหัวก๊อกน้ำมันอันสำคัญยิ่งของโลกนี้

ในเวลาที่ออกคำสั่งให้กองทหารสหรัฐฯเข้าสู้รบในอ่าวเปอร์เซียครั้งต่างๆ ประธานาธิบดีอเมริกันทั้งหลายมักยืนยันเสนอว่าพวกขากำลังปฏิบติการเพื่อผลประโยชน์ของโลกตะวันตกโดยรวม ตัวอย่างเช่น ในการป่าวร้องเพื่อผลักดันหนุนหลังภารกิจ “เปลี่ยนธงชาติเสียใหม่” เมื่อปี 1987 รัฐมนตรีกลาโหม แคสปาร์ ไวน์เบอร์เกอร์ (Caspar Weinberger) ในตอนนั้นได้เสนอเหตุผล (อย่างที่เขาจะเล่าทบทวนในภายหลัง เอาไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำที่ใช้ชื่อว่า Fighting for Peace (การต่อสู้เพื่อสันติภาพ) ของเขา [23] ว่า “สิ่งที่เป็นหลักสำหรับเราก็คือ การปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริสุทธิ์, ผู้ซึ่งไม่ใช่คู่สงคราม, และการพาณิชย์ที่มีความสำคัญอย่างที่สุด โดยทำให้มันสามารถเคลื่อนไหวไปได้อย่างเสรีในน่านน้ำเปิดระหว่างประเทศ --และจากการปกป้องคุ้มครองที่เราเสนอให้นี้เอง ก็จะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการยินยอมปล่อยให้ภารกิจนี้ตกเป็นของฝ่ายโซเวียต” ถึงแม้เป็นสิ่งซึ่งหาได้ยากมากที่จะมีการยอมรับกันอย่างเปิดเผยเช่นนี้ แต่หลักการเดียวกันนี้เองก็ได้กลายเป็นรากฐานให้แก่ยุทธศาสตร์ของวอชิงตันสำหรับภูมิภาคนี้นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อันได้แก่ สหรัฐฯต้องเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่จะเป็นผู้ค้ำประกันสูงสุดสำหรับการค้าน้ำมันอย่างชนิดไม่มีอุปสรรคขัดขวางในอ่าวเปอร์เซีย

เมื่อพินิจพิจารณากันอย่างใกล้ชิด คุณก็สามารถที่จะค้นพบหลักการข้อนี้แอบหลบแอบซ่อนอยู่ในคำแถลงนโยบายระดับรากฐานของสหรัฐฯซึ่งเกี่ยวข้องโยงใยกับภูมิภาคดังกล่าวทุกๆ ชิ้น และยิ่งสามารถพบเห็นได้อย่างกว้างขวางทั่วไปขึ้นในอีกในบรรดาข้อเขียนคำแถลงของชนชั้นนำวอชิงตัน ตามความชอบใจเป็นส่วนตัวของผมเองนั้น เมื่อพูดถึงการเข้าถึงจุดสำคัญอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ผมถูกใจที่สุดกับข้อความประโยคหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานว่าด้วยภูมิรัฐศาสตร์ของพลังงาน ที่นำออกมาเผยแพร่ในปี 2000 [24] โดย ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies ใช้อักษรย่อว่า CSIS) [25] หน่วยงานคลังความคิด (think tank) แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน และมีพวกอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลอยู่กันเต็มไปหมด (หลายๆ คนในพวกเขาเหล่านี้มีส่วนในการจัดทำรายงานฉบับนี้ด้วย) ที่กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลก (สหรัฐฯ)ต้องยอมรับความรับผิดชอบอย่างเป็นพิเศษของตน ในเรื่องการปกปักรักษาการเข้าให้ถึงซัปพลายพลังงานในทั่วโลก” คุณย่อมไม่สามารถได้ยินได้ฟังอะไรที่โจ่งแจ้งเปิดเผยยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว

แน่นอนทีเดียวว่า สิ่งที่มาพร้อมๆ กับ “ความรับผิดชอบอย่างเป็นพิเศษ” นี้ ก็คือความได้เปรียบในทางภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวคือ จากการให้บริการด้วยการทำหน้าที่เช่นนี้ สหรัฐฯก็กำลังเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะของตนเองในการเป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงหนึ่งเดียวของโลก และทำให้ประดาชาติที่ต้องนำเข้าน้ำมันรายอื่นๆ ทุกราย –และนี่ย่อมหมายถึงประเทศส่วนใหญ่ในโลก-- ตกอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องคอยพึ่งพาให้สหรัฐฯยังคงสามารถกระทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งยวดนี้ได้ต่อไปเรื่อยๆ

ตอนเริ่มแรกทีเดียว พวกที่ต้องคอยพึ่งพารายสำคัญในสมการยุทธศาสตร์นี้ได้แก่ยุโรปกับญี่ปุ่น ซึ่งเพื่อตอบแทนการได้หลักประกันในการเข้าถึงน้ำมันตะวันออกกลาง ชาติเหล่านี้ก็ได้รับการคาดหมายว่าจะต้องยินยอมอยู่ใต้การบังคับบัญชาของวอชิงตัน ตัวอย่างเช่น ยังจำได้ไหมครับว่าพวกเขาต้องช่วยจ่ายเงินยังไง [26] สำหรับสงครามอิรัก (Iraq War) (ที่ได้รับการขนานนามว่า ยุทธการพายุทะเลทราย Operation Desert Storm) ของบุชผู้พ่อ อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้มีประเทศเหล่านี้จำนวนมากซึ่งวิตกกังวลอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับผลต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จึงกำลังหาทางลดบทบาทของน้ำมันในสูตรการใช้เชื้อเพลิงแห่งชาติของพวกตน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อถึงปี 2019 พวกประเทศซึ่งมีศักยภาพความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะต้องอาศัยความเมตตากรุณาของวอชิงตันเมื่อตนต้องการเข้าถึงน้ำมันอ่าวเปอร์เซีย ปรากฏว่าได้แก่พวกที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวรวดเร็วมากอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งความต้องการใช้น้ำมันน่าจะมีแต่เติบโตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นแหละ ในทางกลับกันมันก็จะเพิ่มพูนความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งวอชิงตันครอบครองอยู่ ตราบใดก็ตามที่สหรัฐฯยังคงสามารถรักษาฐานะการเป็นผู้พิทักษ์รายหลักเพื่อให้น้ำมันหลั่งไหลออกมาจากอ่าวเปอร์เซียไม่ขาดสาย สำหรับเรื่องที่วอชิงตันจะหาทางฉวยใช้ความได้เปรียบนี้อย่างไรบ้างนั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งฝ่ายจีนด้วย ต่างตระหนักเป็นอันดีถึงสมการอสมมาตร (asymmetric equation) นี้ ซึ่งอาจทำให้วลี “สงครามการค้า” มีความหมายอย่างลึกซึ้งและเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกมากมายนัก

การท้าทายของอิหร่านและยิ้มแสยะของปีศาจแห่งสงคราม

จากทัศนะมุมมองของวอชิงตันแล้ว ผู้ท้าทายรายสำคัญที่สุดต่อฐานะอันทรงอภิสิทธิ์ของอเมริกาในอ่าวเปอร์เซีย ก็คือ อิหร่าน ด้วยเหตุผลของที่ตั้งในทางภูมิศาสตร์ ทำให้ประเทศนี้เป็นผู้ครอบครองที่มั่นซึ่งมีศักยภาพที่จะกุมอำนาจเหนือแนวชายฝั่งตอนเหนือของอ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ[27] เหมือนอย่างที่คณะบริหารเรแกนได้เคยเรียนรู้ในช่วงปี 1987 – 1988 เมื่อตอนที่อิหร่านคุกคามฐานะของอเมริกาในการครอบงำเหนือน้ำมันที่นั่น โดยเกี่ยวกับความเป็นจริงข้อนี้ ประธานาธิบดีเรแกนได้บอกเอาไว้อย่างชัดเจนชนิดที่ไม่สามารถพูดให้ชัดยิ่งขึ้นกว่านี้แล้ว ทั้งนี้เขากล่าวว่า “จดจำทำเครื่องหมายเตือนใจเอาไว้ให้ดี การใช้เส้นทางเดินเรือในอ่าวเปอร์เซียจักต้องไม่ถูกบงการโดยฝ่ายอิหร่าน” เขาประกาศเช่นนี้ในปี 1987 [28] –และนับจากนั้นมาหนทางวิธีการในการจัดการรับมือกับสถานการณ์ที่นั่นของวอชิงตันก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย

ในหลายๆ ช่วงเวลาที่ใกล้เข้ามาอีก เพื่อตอบโต้รับมือกับการข่มขู่คุกคามของสหรัฐฯและอิสราเอลที่จะโจมตีถล่มระเบิดใส่สถานที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของประเทศพวกเขา หรืออย่างที่คณะบริหารทรัมป์กำลังทำอยู่ในเวลานี้ นั่นคือใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศของพวกเขา ฝ่ายอิหร่านได้ข่มขู่เอาไว้หลายครั้งหลายหนว่าจะปิดกั้นสกัดการสัญจรของน้ำมันที่ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งย่อมจะเป็นการบีบคั้นซัปพลายพลังงานของทั่วโลก และเร่งให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2011 รองประธานาธิบดีโมฮัมหมัด เรซา ราฮิมิ (Mohammad Reza Rahimi) ของอิหร่าน [29] กล่าวเตือนว่า ถ้าหากฝ่ายตะวันตกลงโทษคว่ำบาตรทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันไม่ได้แล้ว “ก็จะไม่มีน้ำมันแม้แต่หยดเดียวเดียวสามารถไหลผ่านช่องแคบฮอร์มุซได้” ทางด้านพวกเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯได้ตอบโต้ด้วยการประกาศนับตั้งแต่บัดนั้นมาว่า จะไม่ยอมให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นมาเป็นอันขาด อย่างที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เลออน แพเนตตา (Leon Panetta) ได้กล่าวตอบโต้ราฮิมิไปในตอนนั้น “เราได้พูดเอาไว้ชัดเจนมากๆ” แพเนตตาบอก [30] “ว่าสหรัฐฯจะไม่อดทนอดกลั้นให้มีการปิดกั้นช่องแคบฮอร์มุซ” เขายังกล่าวต่อไปว่า สำหรับสหรัฐฯแล้ว เรื่องนี้คือ “เส้นสีแดงที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้”

จนถึงทุกวันนี้มันก็ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ ด้วยเหตุนี้เอง วิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซียในปัจจุบันจึงยังดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จากการที่สหรัฐฯใช้มาตรการแซงก์ชั่นอย่างดุร้ายต่อการขายน้ำมันของอิหร่าน และฝ่ายอิหร่านก็ตอบโต้ด้วยท่าทีข่มขู่คุกคามจะขัดขวางการไหลออกของน้ำมันจากภูมิภาคนี้ “เราจะทำให้ฝ่ายศัตรูเกิดความเข้าอกเข้าใจขึ้นมาว่า ถ้าหากไม่ใช่ให้ทุกๆ ฝ่ายสามารถใช้ช่องแคบฮอร์มุซแล้ว ก็จะไม่มีฝ่ายใดเลยที่สามารถใช้ช่องแคบแห่งนี้ได้” นี่คือคำพูดของ โมฮัมหมัด อาลี จาฟารี (Mohammad Ali Jafari) ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps) [31] ซึ่งเป็นกองกำลังอาวุธชั้นนำของอิหร่าน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 และเหตุการณ์โจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำในอ่าวโอมาน (Gulf of Oman) ใกล้ๆ กับทางเข้าช่องแคบฮอร์มุซ ในวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา [32] ย่อมสามารถที่จะมองได้ว่าคือการแสดงออกของนโยบายดังกล่าวนี้ ถ้าหากมันเป็นอย่างที่ทางสหรัฐฯกล่าวหาเอาไว้ นั่นคือ เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินการโดยฝีมือของพวกสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านจริงๆ [33] การโจมตีใดๆ ที่เกิดขึ้นอีกในอนาคต น่าจะมีแต่กระตุ้นให้สหรัฐฯใช้ปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่าน โดยเป็นไปตามลัทธิคาร์เตอร์ อย่างที่โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บิลล์ เออร์บัน (Bill Urban) ได้แถลงเอาไว้เพื่อเป็นการตอบโต้คำกล่าวของจาฟารี [34] โดยเขาบอกว่า “เราพร้อมอยู่แล้วที่จะเข้าค้ำประกันเสรีภาพในการเดินเรือและการไหลเวียนอย่างเสรีของการพาณิชย์ ตรงไหนก็ตามทีที่กฎหมายระหว่างประเทศเปิดทางให้กระทำ”

อย่างที่สิ่งต่างๆ เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามของฝ่ายอิหร่านในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งสามารถที่จะวาดภาพให้เห็นไปว่าเป็นภัยคุกคามต่อ “การไหลเวียนอย่างเสรีของการพาณิชย์” (นั่นก็คือ การค้าน้ำมัน) ถือว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดซึ่งจะจุดชนวนให้สหรัฐฯออกปฏิบัติการทางทหารโดยตรง ครับ เรื่องเตหะรานมุ่งแสวงหาทางครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และการที่อิหร่านสนับสนุนพวกขบวนการชิอะห์หัวรุนแรงตลอดทั่วทั้งตะวันออกกลางนั้น จะถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงเป็นหลักฐานซึ่งแสดงถึงความมุ่งร้ายของคณะผู้นำของประเทศนี้ แต่ภัยคุกคามที่แท้จริงของอิหร่านจะเป็นเรื่องที่ว่าเตหะรานคุกคามฐานะของอเมริกันในการครอบงำเหนือเส้นทางขนส่งน้ำมัน อันเป็นอันตรายซึ่งวอชิงตันจะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดเหนือกว่าการล่วงละเมิดทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งจะต้องปราบปรามเอาชนะให้ได้ไม่ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายขนาดไหน

ถ้าหากสหรัฐฯเข้าทำสงครามกับอิหร่าน คุณๆ ไม่น่าจะได้ยินคำว่า “น้ำมัน” หลุดออกมาจากปากของพวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารทรัมป์หรอก แต่อย่าได้หลงเข้าใจผิดไปล่ะ คำที่เมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษใช้อักษรเพียง 3 ตัวนี้แหละ คือรากเหง้าของวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดไปถึงชะตากรรมของโลกในระยะยาว

(ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ “ทอมดิสแพตช์” หาอ่านข้อเขียนดั้งเดิมนี้ได้ที่ https://www.tomdispatch.com/post/176584/tomgram%3A_michael_klare%2C_it%27s_always_the_oil/#more )

ไมเคิล ที. แคลร์ เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ 5 วิทยาลัยทางด้านการศึกษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก (the five-college professor emeritus of peace and world security studies) ณ วิทยาลัยแฮมป์เชียร์ (Hampshire College) และเป็นนักวิจัยอาคันตุกะอาวุโส ณ สมาคมควบคุมอาวุธ (Arms Control Association) เขาเป็นผู้เขียนบทความให้เว็บไซต์ ทอมดิสแพตช์ (www.tomdispatch.com) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือเรื่อง The Race for What's Left หนังสือเล่มต่อไปของเขาซึ่งจะใช้ชื่อเรื่องว่า All Hell Breaking Loose: Climate Change, Global Chaos, and American National Security (สำนักพิมพ์ Metropolitan Books) จะได้รับการตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายนนี้

เชิงอรรถ

[1] https://www.theguardian.com/world/2019/jun/19/jamal-khashoggi-killing-saudi-crown-prince-mohammed-bin-salman-evidence-un-report

[2] https://www.washingtonpost.com/world/national-security/pompeo-seeks-support-from-allies-to-monitor-persian-gulf-amid-tensions-with-iran/2019/06/24/cfa953e0-969e-11e9-8d0a-5edd7e2025b1_story.html

[3] https://www.nytimes.com/2019/06/30/business/energy-environment/oil-companies-profit.html

[4] https://www.bp.com/content/dam/bp/business-sites/en/global/corporate/pdfs/energy-economics/statistical-review/bp-stats-review-2019-full-report.pdf

[5] https://obamawhitehouse.archives.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly

[6] https://www.americanrhetoric.com/speeches/georgehwbushkuwaitinvasion.htm

[7] https://libcom.org/history/1990-1991-resistance-to-the-gulf-war

[8] https://www.bp.com/content/dam/bp/business-sites/en/global/corporate/pdfs/energy-economics/statistical-review/bp-stats-review-2019-full-report.pdf

[9] https://www.iea.org/weo2018/scenarios/

[10] https://www.iea.org/weo2017/

[11] https://www.nytimes.com/2019/06/26/world/europe/europe-heat-wave.html

[12] https://www.straitstimes.com/asia/south-asia/india-heatwave-temperatures-pass-50-deg-c

[13] https://www.wired.co.uk/article/greta-thunberg-climate-crisis

[14] https://www.wsj.com/articles/auto-makers-raise-bets-in-china-despite-market-slowdown-11559986201

[15] https://www.bp.com/content/dam/bp/business-sites/en/global/corporate/pdfs/energy-economics/statistical-review/bp-stats-review-2019-full-report.pdf

[16] https://www.eia.gov/beta/international/regions-topics.php?RegionTopicID=WOTC

[17] https://history.state.gov/historicaldocuments/frus1977-80v18/d45

[18] https://millercenter.org/the-presidency/presidential-speeches/january-23-1980-state-union-address

[19] https://www.centcom.mil/ABOUT-US/HISTORY/

[20] https://www.upi.com/Archives/1987/07/21/Kuwaiti-tankers-reflagged-with-Stars-and-Stripes/5770553838400/

[21] https://www.usni.org/magazines/proceedings/1988/may/tanker-war

[22] https://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Earnest_Will

[23] https://www.amazon.com/Fighting-Peace-Critical-Years-Pentagon/dp/0446392383/

[24] https://www.amazon.com/Geopolitics-Energy-into-21st-Century/dp/0892063688/

[25] https://www.csis.org/

[26] https://www.cnn.com/2013/09/15/world/meast/gulf-war-fast-facts/index.html

[27] https://fas.org/sgp/crs/mideast/R42335.pdf

[28] https://www.nytimes.com/2019/06/28/us/politics/trump-iran-tanker-war-persian-gulf.html

[29] https://www.washingtonpost.com/world/middle_east/despite-threats-iran-unlikely-to-block-oil-shipments-through-strait-of-hormuz/2011/12/28/gIQAVSOSMP_story.html

[30] https://www.cbsnews.com/news/face-the-nation-transcript-january-8-2012/

[31] https://www.theguardian.com/world/2018/jul/05/iran-retaliate-us-oil-threats-eu-visit-hassan-rouhani-trump

[32] https://www.nbcnews.com/news/world/navy-aware-reports-incident-gulf-oman-n1017066

[33] https://www.huffpost.com/entry/trump-administration-allies-iran-tanker-pompeo_n_5d072ea3e4b0985c419ff17d

[34] https://www.theguardian.com/world/2018/jul/05/iran-retaliate-us-oil-threats-eu-visit-hassan-rouhani-trump


กำลังโหลดความคิดเห็น