(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
A look at Shenzhen and Huawei’s ‘smart city’ project
By Frank Chen
11/07/2019
ไม่เพียงอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และสมาร์ทโฟน “หัวเว่ย”ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญรายหนึ่งในการทำให้ “เซินเจิ้น” เมืองที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทกลายเป็น “นครอัจฉริยะ” ที่ฉลาดยิ่งขึ้น, ปลอดภัยยิ่งขึ้น, และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยหัวเว่ยยังกำลังนำเอาโซลูชั่นซึ่งพัฒนาขึ้นมาได้นี้ ไปเปิดตลาดในต่างแดน
เซินเจิ้น เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มั่งคั่งร่ำรวยของจีน เวลานี้กำลังกลายเป็นนครซึ่งเต็มไปด้วยรถยนต์ ไม่ว่าวันไหนๆ ก็ตามที บนท้องถนนของเมืองนี้จะมียวดยานสัญจรอยู่ 3.4 ล้านคันทีเดียว ภายในอาณาบริเวณราวๆ 900 ตารางกิโลเมตรซึ่งอุดมไปด้วยสิ่งก่อสร้าง
ทว่าแถวรถยนต์เรียงรายยาวเหยียดที่ขยับเขยื้อนไปทีละนิดทีละหน่อย กำลังกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในเมืองนี้ แม้กระทั่งบนถนนสายหลักๆ ของนครในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และสิ่งที่ผู้ขับขี่ยวดยานทั้งหลายอาจจะไม่ได้ตระหนักเลยก็คือว่าการเดินทางที่เป็นไปอย่างราบรื่นของพวกเขานั้น มีความเกี่ยวข้องทุกสิ่งทุกอย่างกับแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแพลตฟอร์มหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพในการย่อยข้อมูลจำนวน 700 ล้านข้อมูลในแต่ละวัน
บริษัทหัวเว่ยเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์จำนวนมาก ซึ่งกำลังช่วยเหลือตำรวจจราจรในนครบ้านเกิดของตนแห่งนี้ ให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยสายโซ่แห่งการตอบสนองและการบัญชาสั่งการซึ่งดีเยี่ยม โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการริเริ่มเพื่อสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” (smart city) ขึ้นมาในเซินเจิ้น
ในเขตหลงกั่ง (Longgang) ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งอาณาบริเวณสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายนี้ ระบบการประเมินผลและการอนุมัติทางการบริหารซึ่งจัดทำขึ้นมาโดยเฉพาะให้แก่เขตนี้ กำลังตัดลดระเบียบราชการที่จุกจิกเกินจำเป็น และทำให้กระบวนวิธีในการอนุมัติและในการชี้ขาดตัดสินกฎระเบียบประเภทต่างๆ มากกว่า 700 ประเภท เป็นไปอย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพ จนสามารถลดทอนระยะเวลาในการดำเนินกรรมวิธีลงไปได้โดยเฉลี่ย 50%
ที่ท่าอากาศยานเซินเจิ้น ซึ่งเวลานี้สามารถให้บริการผู้โดยสารได้เกือบ 50 ล้านคนในแต่ละปี โซลูชั่น “อัจฉริยะ” ของหัวเว่ย กำลังช่วยให้ผู้เดินทางสามารถประหยัดเวลาของพวกตนได้ราว 15% จากที่ธรรมดาแล้วต้องใช้ไปในการเข้าแถวรอคิวต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งนี้ใช้วิเคราะห์วิทยาควบคุมการเข้าถึงแบบอิงกับภาพใบหน้าตลอดจนบิ๊กดาต้า (facial image-based access control and big data analytics) ทำให้ลดทอนความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้โดยสารแสดงอัตลักษณ์แบบใช้มือใช้กำลังกาย ลงไปได้อย่างมากมาย
ภายนอกอาคารผู้โดยสาร รอบๆ ลานสนามบิน แสงไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณพื้นแบบ “อัจฉริยะ” และการวางแผนเส้นทางเคลื่อนตัวของเครื่องบิน ซึ่งสนับสนุนโดยเทคโนโลยี “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” (Internet of Things ใช้อักษรย่อว่า IoT) ของหัวเว่ย เป็นตัวกระตุ้นเร่งความเคลื่อนไหวของเครื่องบินไอพ่นที่มีอยู่ประมาณวันละ 1,000 เที่ยวบินทั้งที่บินเข้าและบินออกจากนครแห่งนี้ เรื่องนี้สามารถตัดลดระยะเวลาตั้งแต่เครื่องบินลงจอดไปจนถึงการขนถ่ายผู้โดยสารลงมาได้เฉลี่ยแล้วถึง 20% หรือเท่ากับประมาณ 15 นาที
มีการพยากรณ์กันว่า ภายในปี 2025 ทั่วโลกจะมีมหานครระดับเมกะซิตี้ ซึ่งมีประชากรตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไป เป็นจำนวน 27 แห่ง และในบรรดามหานครเหล่านี้ สำหรับหัวเว่ยแล้ว เซินเจิ้นคือโมเดลอันยิ่งใหญ่ในเรื่องการบริหารจัดการมหานครอย่างทรงประสิทธิภาพทั้งทางด้านการจราจรและเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง ทั้งนี้เซินเจิ้นมีผู้พำนักอาศัยอยู่ประมาณ 21 ล้านคน
การขยายตัวใหญ่โตของหัวเว่ย
ในปีนี้ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคของประเทศจีนอย่างหัวเว่ย ตกเป็นข่าวอยู่แทบจะทุกเมื่อเชื่อวัน โดยอยู่ตรงศูนย์กลางของการพิพาททางการค้าอันใหญ่โตมหึมาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และตกเป็นเป้าหมายถูกเล่นงานโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ทั้งด้วยข้อหาทำการทุจริตฉ้อฉลเกี่ยวกับธุรกรรมผ่านธนาคาร, การโจรกรรมเทคโนโลยี, และการชักนำให้รัฐบาลสหรัฐฯเข้าใจผิดเกี่ยวกับธุรกิจในอิหร่านของบริษัท
มีประเทศจำนวนมากที่กล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยอาจมีการจงใจบรรจุไว้ด้วย “รูรั่วด้านความมั่นคงปลอดภัย” ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนอาจนำมาใช้เพื่อการสอดแนมทำจารกรรม เรื่องนี้ได้ทำให้รัฐต่างๆ จำนวนหนึ่ง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.channele2e.com/business/enterprise/huawei-banned-in-which-countries/) – อันได้แก่สหรัฐฯและชาติพันธมิตรของสหรัฐฯบางราย-- สั่งแบนหัวเว่ยไม่ให้เข้าร่วมในการสร้างเครือข่าย 5 จีในประเทศของพวกเขา ผลกระทบของเรื่องนี้ต่อหัวเว่ยนั้นถือว่าหนักหนาสาหัสทีเดียว จนกระทั่งหัวเว่ยกลายเป็นหัวข้อหนึ่งของการเจรจาหารือในการพบปะกันเมื่อเร็วๆ นี้ ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อพิจารณาจากความวิตกกังวลเหล่านี้แล้ว หัวเว่ยก็ได้ตกลงเป็นเจ้าบ้านต้อนรับ “เอเชียไทมส” ในการไปเยือนสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่เมืองเซินเจิ้น และให้โอกาสได้จับตามองดูบริษัทอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมทั้งงานบางส่วนซึ่งบริษัทกำลังทำอยู่ที่เซินเจิ้นและในเมืองใหญ่อื่นๆ ตลอดทั่วโลก
โครงสร้างด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เอดวิน ดีเอนเดอร์ (Edwin Diender) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอล (chief digital transformation officer) ให้กับบริษัทหัวเว่ย เอนเตอร์ไพรซ์ (Huawei Enterprise) ได้อธิบายให้ฟังเกี่ยวกับโครงการมหานครอัจฉริยะของหัวเว่ย เขากล่าวว่าโครงสร้างพื้นฐานแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องลึกลงไป จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการรับมือกับความท้าทายต่างๆ อันมากมายเหลือล้น ซึ่งกำลังเกิดขึ้นมาจากการที่ประชาชนหลั่งไหลเข้าไปยังศูนย์กลางเขตเมืองใหญ่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนจากการที่มหานครใหญ่ๆ มีการขยายตัวไม่หยุดหย่อน
กุญแจของการกลายเป็น “อัจฉริยะ” ขึ้นได้ ได้แก่การนำเอาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีแบบเปิด มาผสมผสานกับแพลตฟอร์มซึ่งทำหน้าที่รวบรวมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้สามารถที่จะตามติดไล่ทันซัปพลายของข้อมูลซึ่งทะลักหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่มีความปรานี โดยเป็นข้อมูลที่มาจากระบบย่อยต่างๆ หลายหลาก และก็อยู่ในฟอร์แมตข้อมูลต่างๆ หลากหลาย
ด้วยพื้นฐานของการมีความชำนิชำนาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นเวลา 30 ปี ทำให้หัวเว่ยสามารถระบุออกมาได้ว่า คลาวด์ (cloud), ฟูล-สแต็ค (full-stack), ออล-ซีนาริโอ เอไอ พอร์ตโฟลิโอ (all-scenario AI portfolio), อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT), บิ๊กดาต้า (big data), และเทคโนโลยีไร้สาย (wireless technology) คือพื้นที่อันเข้มแข็งของบริษัทที่สามารถทำให้นครหนึ่งๆ กลายเป็น “อัจฉริยะ” ขึ้นมา
หัวเว่ยยังมีการร่วมมือประสานงานในระบบนิเวศแบบเปิด (open ecosystem) กับพาร์ตเนอร์ต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 400 ราย เป็นต้นว่า เอสเอพี (SAP), แอคเซนเจอร์ (Accenture), ชินด์เลอร์ (Schindler), เจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric), ฮันนีเวลล์ (Honeywell), ฯลฯ บริษัทเหล่านี้ปรากฏตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆ 700 แห่งตลอดทั่วทั้งพิภพของเรานี้
“ในทัศนะของเรานั้น แนวความคิด “นครอัจฉริยะ” เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างมากมายกับเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถขยายตัวกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ เพื่อสนับสนุนความริเริ่มต่างๆ อันหลากหลายกว้างขวาง, เพื่อเบียดเสียดแย่งชิงผลประโยชน์ต่างๆ อันเกิดจากการเข้ามีส่วนร่วมที่ใหญ่โตมากกว่าเดิม, การสร้างงาน, การเจริญเติบโตทางสังคมเศรษฐกิจ, และการดำเนินการอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายแห่งมาตรฐานอันสูงส่งของสังคมอัจฉริยะ” ดีเอนเดอร์ บอก
หัวเว่ยมีการจัดลำดับชั้นใน “เมืองอัจฉริยะ” แต่ละแห่ง โดยมี ศูนย์ปฏิบัติการทางปัญญา (Intelligent Operation Center หรือ IOC) ซึ่งบริษัทเรียกว่าเป็น “ระบบสมองและประสาท” (brain and nervous system) ทำหน้าที่คอยรวบรวมและแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลระหว่างสำนักงานต่างๆ ซึ่งอาจจะอยู่กันคนละมุมของเมือง ภายใต้สถาปัตยกรรมแบบเปิดและสามารถออกแบบปรับแต่งได้ ศูนย์ IOC เป็นผู้เสนอภาพอันกว้างไกลแบบรวมกันเป็นหนึ่งเดียวให้แก่เหล่าผู้นำของนคร ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว, การป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ, และการปรับปรุงยากระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประจำวันของนครหนึ่งๆ หัวเว่ยอธิบายเอาไว้เช่นนี้
ขณะเดียวกัน กองทัพของตัวจับสัญญาณ (เซนเซอร์) และกล้องทีวีวงจรปิดที่ติดตั้งกระจัดกระจายอยู่ในนครหนึ่งๆ ทางหัวเว่ยมองว่าเป็น “เส้นประสาทที่อยู่ชายขอบ” (peripheral nerves) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือการต่อเชื่อมกันระหว่างจุดต่างๆ ทุกหนแห่ง, คอยยิงข้อมูลผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Interet of Things) และเครือข่ายบรอดแบนด์ของบริษัท ขณะที่ผู้คนก็สามารถต่อเชื่อมเข้ากับแอปพลิเคชั่นและต่อเชื่อมเข้ากับ “สิ่งต่างๆ” (things)
ดีเอนเดอร์พูดเอาไว้อย่างนี้: “ผลกระทบที่เกิดขึ้นบรรดานคร “อัจฉริยะ” และเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ IOC นั้น เป็นสิ่งมีความสำคัญมาก ในเซินเจิ้นเอง รัฐบาลของทางเทศบาลสามารถเข้าถึงกล้องต่างๆ เป็นจำนวนมากมาย, สร้างข้อมูลขึ้นมาเป็นปริมาณมหึมา ทุกๆ วันไม่มีขาดสาย ภาพทั้งหมดเหล่านี้ไม่สามารถที่จะทำการตรวจเช็คกันด้วยมือด้วยแรงกายได้ ดังนั้นวิเคราะห์วิทยาทางวิดีโอแบบมีปัญญา ซึ่งอิงอยู่กับคลาวด์ (cloud-based intelligent video analytics) จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการสนับสนุนประสิทธิภาพของการบริหารจัดการของนครแห่งนี้ และการปฏิบัติงานประจำวันของนครแห่งนี้”
สำหรับประชาชนบางคนบางฝ่ายในโลกตะวันตก การใช้เทคโนโลยีที่สามารถจดจำใบหน้า (facial recognition technology) และการมีกล้องทีวีวงจรปิด (CCTV) ติดตั้งกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เต็มไปหมด อาจจะดูเป็นเรื่องน่ากลัวน่าขยะแขยง, เป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว หรือไม่ได้มีความจำเป็นเอาเลย –ยกเว้นแต่เมื่อเกิดมีความต้องการพิเศษขึ้นมาอย่างชัดเจน เป็นต้นว่า เมื่อต้องมีการเตือนภัยเฝ้าระวังทางด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างสาหัสจริงจังขึ้นมา ทว่าสำหรับประชาชนในประเทศจีนและในส่วนอื่นๆ ของโลก ซึ่งบางทีอาจจะประสบกับความทุกข์ยากลำบากจากอาชญากรรม หรือมีความห่วงกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัย มันก็ดูเหมือนจะมีความรับรู้และมีการยอมรับกันมากมายกว่าในโลกตะวันตกนักหนา ว่าระบบเหล่านี้คือหนทางของอนาคต และระบบเหล่านี้ยังน่าจะสามารถอำนวยให้เกิดความสะดวกและความสบายง่ายดายเพิ่มขึ้นมากมาย นอกเหนือจากการทำให้มีความมั่นคงปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้นแล้ว
ภายหลังจากเซินเจิ้น
หัวเว่ยบอกว่า เทคโนโลยี “นครอัจฉริยะ” ของตนนี้ กำลังนำไปทดสอบในนครต่างๆ กว่า 160 แห่งตามประเทศต่างๆ ราว 40 ประเทศ ตั้งแต่กรุงไนโรบี และเมืองมอมบาซา (Mombasa) ในเคนยา, รุสเทนเบิร์ก (Rustenburg) ในแอฟริกาใต้ ไปจนถึง ดุยสบวร์ก (Duisburg) ในเยอรมนี นอกจากนั้นแล้ว หัวเว่ยยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่เครือข่าย 5 จี ที่เพิ่งเปิดตัวขึ้นในโมนาโกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นครรัฐของเจ้าครองนครและศูนย์กลางการพนันขึ้นชื่อบนชายฝั่งของฝรั่งเศสติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแห่งนี้ กำลังกลายเป็นชาติแรกในยุโรปซึ่งให้บริการสื่อสารไร้สาย 5 จี ในระดับทั่วประเทศ
บริษัทแห่งนี้ยังเปิด โอเพนแล็ป (OpenLab) จำนวน 14 แห่ง และศูนย์นวัตกรรมร่วม (Joint Innovation Center) จำนวน 36 แห่งตามเมืองต่างๆ ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาร่วม
แต่ถึงแม้มีการขยับขยายออกไปเช่นนี้ การบุกเข้าไปตามนครต่างๆ ในต่างแดนของหัวเว่ย บางครั้งบางคราวก็ประสบปัญหาอุปสรรค สืบเนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยและความระแวงสงสัย ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น
กระนั้นก็ตามที ณ เมืองดาร์วิน (Darwin) เมืองเอกของดินแดนนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (Northern Territory) ในออสเตรเลีย อีกทั้งเป็นเมืองมิตรภาพเมืองหนึ่งของเซินเจิ้น พวกเจ้าหน้าที่กำลังจัดทำติดตั้งแอปพลิเคชั่น “นครอัจฉริยะ” ขึ้นมาเป็นแห่งแรกของประเทศ โดยเป็นแอปพลิเคลั่นซึ่งลอกเลียนระบบของหัวเว่ย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ทำให้นครต่างๆ มีความปลอดภัย” (keep cities safe) พวกเจ้าหน้าที่จากดาร์วินได้เดินทางไปจีนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสัมมนาครั้งใหญ่ว่าด้วย “นครอัจฉริยะ” ซึ่งทางหัวเว่ยและทางการเทศบาลเซินเจิ้นร่วมกันเป็นเจ้าภาพ
คอน วัตสคาลิส (Kon Vatskalis) นายกเทศมนตรีดาร์วิน บอกกับบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงออสเตรเลีย (Australian Broadcasting Corp ใช้อักษรย่อว่า ABC) ว่า ความกังวลห่วงใยในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล “ได้ถูกขยายให้ใหญ่เกินความจริงไปมาก” จากพวกคอยสร้างความแตกตื่นหวาดกลัว ตลอดจนจากข้ออ้างที่ระบุว่า ประชาชนในดาร์วินนั้นลงท้ายแล้วก็จะต้องใช้ชีวิตอยู่ใน “นครที่ถูกสอดแนม” (surveillance city) อยู่ตลอดเวลา
“สำหรับพวกนักทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลาย ผมจะขอพูดอีกครั้งหนึ่งว่า (ถ้าหากพวกคุณวิตกกังวลเหลือเกินเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวแล้ว) ก็อย่าได้ไปขอใบอนุญาตใดๆ, ทิ้งบัตรเครดิตของคุณไปเสีย, และก้าวออกมาเลิกใช้เฟซบุ๊กไปเลย” วัตสกาลิส บอก
อดัม เบค (Adam Beck) ประธานบริหารของ สภานครอัจฉริยะออสเตรเลีย (Smart Cities Council Australia) ก็กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลนั้น จำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดความสมดุล “มันมีชั้นของข้อมูลสำหรับการบริหารปกครอง ซึ่งกำลังถูกนำมารวบรวมร้อยเรียงเข้าสู่โครงการต่างๆ ... ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะทำให้เราไม่สามารถใช้เทคโนโลยีและการจัดเตรียมข้อมูลซึ่งมีความยอดเยี่ยมที่สุด แต่ก็ต้องให้ความเคารพและให้หลักประกันว่า ความเป็นส่วนตัว, ความโปร่งใส, และความมั่นคงปลอดภัย อยู่ตรงหัวใจของสิ่งที่เราทำกันอยู่”
“เป็นไปได้ที่จะมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเข้มงวด”
ในการให้สัมภาษณ์ แยกต่างหากออกไป นักวิชาการผู้หนึ่งในฮ่องกงตั้งข้อสังเกตว่า หัวเว่ยได้ถูกระบุชี้ตัวออกมาอย่างเจาะจงในสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ท่ามกลางการแข่งขันทางด้านเทคอย่างเอาเป็นเอาตาย –และก็น่าที่จะตกเป็นเป้าหมายของการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเข้มงวดชชนิดซึ่งพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของจีนจะกระทำกับ กูเกิล, แอปเปิล, ซัมซุง, เฟซบุ๊ก ฯลฯ
ศาสตราจารย์ หว่อง คัมไฝ (Wong Kam-fai) รองคณบดีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) กล่าวให้ความเห็นว่า ย่อมเป็นยุทธศาสตร์ตามธรรมชาติของพวกบริษัทกิจการขนาดใหญ่จากแผ่นดินใหญ่เฉกเช่นหัวเว่ยอยู่แล้ว ที่จะต้องพยายามอาศัยความได้เปรียบทางเทคนิคใดๆ ก็ตามที่พวกเขามีอยู่ เพื่อที่จะขยับขยายธุรกิจของพวกเขา และก้าวกระโดดจากสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เทเลคอม เข้าไปสู่โซลูชั่น “นครอัจฉริยะ” ในตลาดที่ไกลออกไปจากตลาดบ้านเกิดของพวกเขา
ระบบต่างๆ ของนครอัจฉริยะ เป็นอะไรที่มากไปกว่าแค่การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) และตัวเซนเซอร์ต่างๆ หรือการรวบรวมข้อมูลเท่านั้น “แต่เทคนั้นมีความเป็นกลางๆ” เขาพูดต่อ “ดังนั้นรัฐบาลทั้งหลายจึงควรกระตือรือร้นในการจัดทำระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมายชุดใหม่ เพื่อจัดระเบียบอุตสาหกรรมนี้ และบรรเทาความวิตกกังวลของบางคนบางฝ่าย เมื่อกำลังมีศูนย์กลางเมืองใหญ่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กระโจนเข้าไปร่วมขบวนนครอัจฉริยะนี้” หว่อง บอก
เขาคาดหมายว่า หัวเว่ยจะถูกกำกับตรวจสอบเพิ่มมากขึ้นจากรัฐบาลต่างๆ เมื่อพิจารณาถึงความอ่อนไหวทั้งหลายทั้งปวงในสิ่งที่บริษัทกำลังดำเนินงานอยู่
“ถ้าหากหัวเว่ยยังคงสามารถได้ดีลได้ข้อตกลงจากพวกรัฐบาลต่างประเทศหรือกิจการต่างประเทศภายใต้สภาวการณ์เหล่านี้แล้ว ข้อตกลงเชิงพาณิชย์ที่ออกมาก็ควรได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นข้อตกลงเชิงพาณิชย์ เนื่องจากพวกพาร์ตเนอร์ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการประเมินของพวกเขาเองอยู่แล้วและจึงตัดสินใจที่จะทำงานกับหัวเว่ย ในกรณีเช่นนี้ ไม่ควรที่จะมีใครเกิดความหวาดระแวงเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือเกี่ยวกับกำเนิดดั้งเดิมที่มาจากจีนของหัวเว่ย” เขากล่าวต่อ
ทางด้าน เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของหัวเว่ย นั้น ยืนกรานเรื่อยมาว่าอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของบริษัทไม่มี “ประตูหลัง” เขาบอกว่าบริษัทแห่งนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของคือพวกลูกจ้างพนักงาน ซึ่งมีความยินดีที่จะลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลทั้งหลายเพื่อแสดงให้เห็นมิตรไมตรีของตนในการคลี่คลายความห่วงกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัย
เหลียง หวา (Liang Hua) ประธานของคณะกรรมการบริษัทหัวเว่ย ก็บอกกับพวกผู้สื่อข่าวที่อังกฤษในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทมีแผนการที่จะลงนามในข้อตกลง “ไม่มีสปายสายลับ” กับอังกฤษและประเทศอื่นๆ “เพื่อผูกมัดพวกเราเอง, เพื่อผูกมัดอุปกรณ์ของเราว่าทำได้ตามมาตรฐานในเรื่องไม่มีสปายสายลับ, ไม่มีประตูหลัง”