xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’คืออนาคตของ‘ฮ่องกง’ ไม่ใช่เป็นปัญหาของเขตบริหารพิเศษแห่งนี้

เผยแพร่:   โดย: เคน โมค

<i>พวกผู้ประท้วงที่บุกเข้าไปภายในอาคารสภานิติบัญญัติของฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา  จัดแจงแขวนธงฮ่องกงสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และใช้สีป้ายตราเครื่องหมายเขตบริหารพิเศษฮ่องกง </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

China is Hong Kong’s future, not its problem
By Ken Moak
15/07/2019

สื่อมวลชนตะวันตกวาดภาพการประท้วง “โปรประชาธิปไตย” ในฮ่องกง จนดูราวกับว่าประเทศจีนคือปัญหาของดินแดนแห่งนี้ แต่เมื่อดูจากสภาพความเป็นจริงแล้ว จีนกำลังแสดงบทบาทสำคัญยิ่งในการประคับประคองและในการเป็นอนาคตของฮ่องกง

พิจารณาจากข่าวคราวรายงานทั้งหลายทั้งปวงที่สื่อมวลชนฝ่ายตะวันตกโหมประโคมอย่างเอะอะเกรียวกราว เกี่ยวกับการประท้วง “โปรประชาธิปไตย” ในฮ่องกง สืบเนื่องจากการที่เขตบริหารพิเศษแห่งนี้ต้องหัวนกลับคืนสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่ เราย่อมสมควรที่จะให้อภัยไม่ถือโทษใครก็ตามทีซึ่งเกิดความคิดเห็นขึ้นมาว่า ประเทศจีนคือปัญหาของดินแดนแห่งนี้ โดยจากการที่สื่อมวลชนตะวันตกวาดภาพการประท้วงเหล่านี้ มันทำให้ดูเหมือนกับว่า อนาคตของฮ่องกงจะตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย เมื่อดินแดนแห่งนี้หวนกลับเข้าสู่ใต้การปกครองของแผ่นดินใหญ่อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นในภาคสนาม กลับให้ภาพที่ผิดแผกแตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก จีนนั้นได้แสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจของฮ่องกง ทั้งด้วยการส่งนักท่องเที่ยวจำนวนมหึมาเข้าไปที่นั่น, แต่งตั้งให้ดินแดนนี้มีฐานะเป็นศูนย์กลางการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินหยวน, และกำลังดำเนินการด้านต่างๆ ซึ่งแสดงถึงจุดยืนที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจของฮ่องกง

แล้วสำหรับข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลส่วนกลางของจีนกำลังลิดรอน “เสรีภาพ” ของฮ่องกงนั้น มันออกจะเป็นการพูดจนเกินเลยความเป็นจริงไปมาก และโดยข้อเท็จจริงแล้ว ก็เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่จริงด้วยซ้ำไป เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ปรากฏตัวให้เห็นทางโทรทัศน์ ขณะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่าทำไมเขาจึงโบกธงในยุคที่ฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษในขณะเข้าร่วมการประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ เขาตอบว่า “เรามีเสรีภาพในฮ่องกง” ซึ่งนี่ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เขตบริหารพิเศษแห่งนี้ก็มีความเป็นเสรีพอๆ กัน ถ้าหากว่าไม่มากกว่าในระหว่างที่ฮ่องกงอยู่ในยุคอาณานิคม ยิ่งถ้าหากวินิจฉัยจากความคิดเห็นต่างๆ ของอดีตชาวเมืองฮ่องกงซึ่งเวลานี้พำนักอาศัยอยู่ในแคนาดาด้วยแล้ว ยังทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าอังกฤษจะยินยอมให้ผู้คนในอาณานิคมของตนทำการประท้วงการปกครองแบบเผด็จการอาณานิคมของตนเองหรือ

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลส่วนกลางของจีนยังดูเหมือนต้องการให้ที่จะเกิดกระบวนการกลับมารวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในลักษณะที่ “ประสานกลมกลืนกันและดำเนินไปอย่างสันติ” โดยอาศัยโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางความคิดว่าด้วย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (one country, two systems)

“หนึ่งประเทศ สองระบบ”

โครงสร้างสถาปัตยกรรมทางความคิด “หนึ่งประเทศ สองระบบ” นี้ เสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดย จอมพล เย่ เจี้ยนอิง (Ye Jianying) [1] ในฐานะเป็นหนทางหนึ่งที่อาจจะใช้เพื่อนำเอาไต้หวันกลับมารวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแผ่นดินใหญ่ ต่อมา เติ้ง เสี่ยวผิง ได้นำเอาข้อเสนอของสหายของเขาผู้นี้มาประยุกต์ใช้ในกรณีของฮ่องกง โดยที่จะอนุญาตให้มีช่วงระยะเวลา 50 ปี สำหรับให้ดินแดนอดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้กลับมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “มาตุภูมิ” ในแบบค่อยเป็นค่อยไปและดำเนินไปอย่างสันติ

การใช้ระบบนี้คือการยอมรับความเป็นจริงที่ว่าจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยที่ฝ่ายแรกอยู่ใน “ขั้นแรก” ของการพัฒนาแบบสังคมนิยม ขณะที่ฝ่ายหลังกำลังขึ้นถึงสถานะของการเป็นระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว นอกจากนั้นรัฐบาลส่วนกลางของจีนยังอาจมีความตระหนักว่า หลังจากฮ่องกงตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมาเป็นเวลา 150 ปี ทั้งระบบของรัฐบาล, บรรทัดฐานทางวัฒนธรรม, ค่านิยมทางสังคม, และสถาบันอื่นๆ ต่างไม่ได้อยู่ในสภาพที่สอดคล้องเข้ากันได้กับของแผ่นดินใหญ่ ด้วยเหตุนี้ การให้มีระยะเวลา 50 ปีแห่งช่วงการดำรง “สถานะเดิม” ก็เพื่อลดความผิดแผกแตกต่างกันที่มีอยู่ให้หดแคบลงมา และเป็นการแผ้วถางทางสำหรับการกลับมารวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่าง “ประสานกลมกลืนกันและดำเนินไปอย่างสันติ”

อย่างที่บ่งชี้เอาไว้ข้างต้น การนำเอาแนวความคิดว่าด้วย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” มาใช้ในฮ่องกง ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดเป็นเวทีทดลอง สำหรับการที่ไต้หวันจะกลับเข้ามารวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแผ่นดินใหญ่ในท้ายที่สุด ถ้าหากการทดลองนี้ประสบความล้มเหลวในฮ่องกง หรือรัฐบาลส่วนกลางทรยศไม่กระทำตามคำมั่นสัญญาของตนตามที่ได้ให้ไว้ภายใต้แผนแม่บทของโครงสร้างนี้ โอกาสที่จะเกิดการรวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสันติกับไต้หวันก็อาจจะสูญเสียไปตลอดกาล ด้วยเหตุนี้ เมื่อคำนึงถึงแง่มุมนี้แล้ว จีนก็มีเหตุผลทุกๆ ประการในการผลักดันทำให้กระบวนการนี้สามารถดำเนินไปอย่างได้ผล

ยิ่งกว่านั้น ถ้าหากจีนมีความต้องการเพียงเพื่อที่จะช่วงชิงเอาฮ่องกงกลับคืนมาเท่านั้นแล้ว ย่อมสามารถที่จะกระทำได้ภายหลังมีการสงบศึกในสงครามเกาหลี (ปี 1950 – 1953) หรือช่วงเวลาใดๆ ก็ตามทีนับจากนั้นเป็นต้นมา แต่ทว่า โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับไปแล้วของจีน มีความเชื่อซึ่งถูกต้องแม่นยำและเฉลียวฉลาดมากที่ว่า ฮ่องกงซึ่งมั่งคั่งรุ่งเรืองและมีการต่อเชื่อมโยงใยกับโลก คือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อจีน และอาจสามารถช่วยเหลือแผ่นดินใหญ่ในการก่อตั้งระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ขึ้นมา พิจารณาในแง่นี้แล้ว ฮ่องกงก็ได้ทำหน้าที่เป็นระบบท่อส่งของแผ่นดินใหญ่ ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และเปิดทางให้ปักกิ่งสามารถเข้าครอบครองเป็นเจ้าของเทคโนโลยีก้าวหน้าต่างๆ

การที่จีนรับเอาฮ่องกงกลับคืนมาจากอังกฤษในตอนสิ้นสุดสัญญาเช่าอายุ 99 ปี เป็นสิ่งที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการตัดสินใจซึ่งสมเหตุสมผลและเฉลียวฉลาด ในแง่ที่ว่าสามารถหลีกเลี่ยงความปั่นป่วนวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในทั้งสองฟากของชายแดน และกำลังเปิดทางให้ทั้งสองฝ่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการธำรงรักษาการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทว่ารัฐบาลส่วนกลางก็ได้ประกาศให้เป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจนเช่นกันว่า ฮ่องกงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน ด้วยเหตุนี้อนาคตของฮ่องกงจึงเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อผูกโยงจากภายในเข้ากับแผ่นดินใหญ่

จีนคืออนาคตของฮ่องกง

จากรายงานข่าวต่างๆ ทำให้เรามองเห็นได้ว่า ยกเว้นแต่พวก “นักแบ่งแยกดินแดน” จำนวนน้อยแล้ว พลเมืองส่วนข้างมากของฮ่องกงดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกันว่า ชาวเมืองฮ่องกงส่วนข้างมากคัดค้านพวกผู้ประท้วง “โปรประชาธิปไตย” โดยกำลังกล่าวหาคนเหล่านี้ว่า ก่อกวนความสงบเรียบร้อย ถ้าหากไม่ถึงขั้นสร้างความหายนะล่มจมให้แก่สังคมฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนเยอะทีเดียวยังดูเหมือนว่ารู้สึกหงุดหงิดผิดหวังในรัฐบาลของเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ ซึ่งไร้ความสามารถหรือไม่มีความปรารถนาที่จะปรับปรุงแก้ไขความทุกข์ยากเดือดร้อนทางสังคมและเศรษฐกิจของฮ่องกง ขณะที่ฮ่องกงเป็นภูมิภาคที่มั่งคั่งร่ำรวยภูมิภาคหนึ่ง แต่คนหนุ่มสาวกลับกำลังประสบปัญหาหนักหน่วงในเรื่องที่พักอาศัยไม่พอเพียงและโอกาสที่จะได้รับการว่าจ้างมีงานทำก็ไม่สู้จะสดใส ตัวอย่างเช่น คนจำนวนมากทีเดียวร้องเรียนว่ารัฐบาลฮ่องกงให้ความสนอกสนใจมากกว่าในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนผลประโยชน์ต่างๆ ของผู้พัฒนาที่ดินรายใหญ่ และไม่ได้มีการก่อสร้างที่พักอาศัยเคหะสถานสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้พอเพียง แท้ที่จริงแล้วเยาวชนคนหนุ่มสาวที่กำลังเข้าร่วมการประท้วง “โปรประชาธิปไตย” อยู่ในเวลานี้ มีเปอร์เซ็นต์สูงทีเดียวที่อาจจะเพียงแค่ต้องการระบายความหงุดหงิดผิดหวัง จากการที่รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขเยียวยาความลำบากเดือดร้อนของพวกเขา

ตรงนี้เองที่เผยให้เห็นถึงความท้าทาย กล่าวคือ เพื่อที่จะทำให้เกิดการกลับมารวมชาติเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน “อย่างประสานกลมกลืนกันและดำเนินไปอย่างสันติ” ซึ่งจะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนฮ่องกง รัฐบาลเขตบริหารพิเศษแห่งนี้จะต้องจัดทำโครงการต่างๆ ที่มุ่งปรับปรุงยกระดับสภาพทางสังคมเศรษฐกิจ และทำให้พลเมืองฮ่องกงเกิดความมั่นอกมั่นใจว่า เสรีภาพต่างๆ ของพวกเขาและวิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขาจะได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง นอกจากนั้นยังควรที่จะต้องระลึกเอาไว้ว่า ผู้คนจำนวนมากในฮ่องกงนั้นเคยเป็น “ผู้ลี้ภัย” ที่อพยพออกมาจากแผ่นดินใหญ่ ในช่วงเวลาที่จีนเกิด “การเคลื่อนไหวก้าวกระโดดใหญ่” (Great Leap Forward Movement) [2] และ “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) [3] พวกเขาเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวเคยผ่านประสบการณ์ความลำบากทุกข์ยากและการถูกกล่าวโทษตั้งข้อหาจากเหตุการณ์ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิบัติหายนะเหล่านั้นมาแล้ว

บางทีการเริ่มต้นที่ดีน่าจะเป็นการสร้างที่พักอาศัยเคหะสถานเพื่อสังคมกันอย่างใหญ่โตมโหฬาร ทำนองเดียวกับที่รัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษได้เคยกระทำมาในอดีต นโยบายดังกล่าวได้รับการประเมินว่ามีส่วนอย่างมากทีเดียวสำหรับการประคับประคองเสถียรภาพทางสังคมและจุดประกายให้แก่การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นแล้วต้องไม่ลืมว่า กิจกรรมการก่อสร้างต่างๆ เป็นตัวสร้างผลพวงต่อเนื่องที่สำคัญยิ่ง โดยกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเติบโตขยายตัวในเรื่องการผลิตเครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับบ้านเรือนที่พักอาศัย และเป็นเจ้าภาพของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมายหลายหลาก

รัฐบาลเขตบริหารพิเศษยังอาจจะต้องการอธิบายแจกแจงข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ของตนอย่างชัดเจนและละเอียดถี่ถ้วน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และกลายเป็นการให้โอกาสแก่พวกนักเคลื่อนไหว “โปรประชาธิปไตย” ที่จะใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับการรณรงค์เคลื่อนไหวให้โครงการเหล่านี้พังครืนลงไป แบบเดียวกับที่กระทำกับการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา หรือร่างแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน มาแล้ว

ทันทีที่ประชาชนฮ่องกงส่วนข้างมากบังเกิดความแน่ใจขึ้นมาว่า พวกเขามีอนาคตภายในประเทศจีน กระบวนการรวมชาติให้กลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็น่าที่จะได้รับความสนับสนุนและได้รับการต้อนรับ

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer

หมายเหตุผู้แปล

[1] จอมพลเย่ เจี้ยนอิง (Ye Jianying) เป็นรองประธานคนที่หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 1976 ถึงเดือนกันยายน 1982 และเป็นประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นประมุขแห่งรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 1978 ถึง เดือนมิถุนายน 1983 (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Ye_Jianying)

[2] “การเคลื่อนไหวก้าวกระโดดใหญ่” (Great Leap Forward Movement) เป็นการณรงค์ทางเศรษฐกิจและสังคมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่ปี 1958 ถึงปี 1962 การรณรงค์ครั้งนี้นำโดยประธานเหมา เจ๋อตง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนผ่านเขตชนบทของประเทศจีน จากการมีเศรษฐกิจแบบสังคมการเกษตร (agrarian economy) ให้เข้าสู่สังคมสังคมนิยม (socialist society) อย่างรวดเร็ว โดยผ่านกระบวนการแปรเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม (industrialization) และกระบวนการแปรเปลี่ยนสู่การรวมหมู่ (collectivization) อย่างรวดเร็ว นโยบายเหล่านี้นำไปสู่ความวิบัติหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจ ทว่าความล้มเหลวเหล่านี้ถูกปิดบังเอาไว้ด้วยการโฆษณาเกินจริงอย่างกว้างขวางตลอดจนรายงานที่โกหกหลอกลวง ภายในเวลาไม่ช้าไม่นาน ทรัพยากรต่างๆ จำนวนมากก็ได้ถูกหันเหไปใช้ในการดำเนินการทางอุตสาหกรรมใหม่ๆ ราคาแพง ซึ่งปรากฏว่าล้มเหลวไม่สามารถผลิตอะไรออกมาได้นัก ขณะเดียวกันก็เป็นการผลาญทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นเร่งด่วนของภาคเกษตรกรรม ผลลัพธ์สำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาคือผลผลิตอาหารลดลงฮวบฮาบ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คนนับสิบๆ ล้านคนเสียชีวิตในเหตุการณ์อดอยากขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ (Great Chinese Famine) ช่วงปี 1959 – 1961 (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย
https://en.wikipedia.org/wiki/Great_Leap_Forward)

[3] “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพ (Great Proletarian Cultural Revolution) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองในประเทศจีนจากปี 1966 จนถึงปี 1976 เริ่มต้นขึ้นมาโดย เหมา เจ๋อตง ซึ่งเวลานั้นเป็นประธานของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป้าหมายที่ระบุออกมาคือการพิทักษ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ของจีน ด้วยการกำจัดกวาดล้างพวกเศษเดนทุนนิยม ตลอดจนพวกส่วนประกอบตกทอดตามประเพณีให้ออกจากสังคมจีน และกลับฟื้นฟู “ความคิดเหมาเจ๋อตง” (รู้จักกันภายนอกประเทศจีนว่าลัทธิเหมา) ให้เป็นอุดมการณ์ที่มีฐานะนำของพรรค การปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นหลักหมายแสดงถึงการที่เหมาหวนกลับคืนสู่ฐานะแห่งอำนาจได้ใหม่ภายหลังความล้มเหลวต่างๆ ของการเคลื่อนไหวก้าวกระโดดใหญ่ของเขา ความเคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรมทำให้จีนกลายเป็นอัมพาตในทางการเมือง สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมของจีน และประมาณกันว่าสังหารผู้คนไประหว่าง 500,000 ถึง 2 ล้านคน (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Cultural_Revolution)


กำลังโหลดความคิดเห็น