xs
xsm
sm
md
lg

'เซินเจิ้น'กับ'ฮ่องกง'แข่งเดือดเรื่องสร้าง'รันเวย์ใหม่'

เผยแพร่:   โดย: แฟรงค์ เฉิน

ท่าอากาศยานเซินเจิ้น มีผู้โดยสารผ่านเข้าออกจำนวน 45 ล้านคนเมื่อปี 2018  เวลานี้กำลังดำเนินโครงการขยายครั้งมโหฬาร
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Shenzhen HK in dogfight over new runways
By Frank Chen
10/07/2019

ฮ่องกง เขตบริหารพิเศษของจีน กับ เซินเจิ้น เมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีนซึ่งตั้งประชิดติดกัน กำลังเกิดความขัดแย้งอันสืบเนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีโครงการขยายรันเวย์ใหม่ของท่าอากาศยานของตนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดการช่วงชิงทั้งทรายทะเลที่ใช้สำหรับการก่อสร้าง และพื้นที่น่านฟ้าสำหรับการบิน

การท่าอากาศยานของฮ่องกง (Hong Kong’s Airport Authority) เวลานี้กำลังเจอปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน พร้อมกันนั้นทรายทะเลที่ซัปพลายจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็ทำท่าจะได้มาอย่างไม่พอเพียงแก่ความต้องการ ทั้งนี้หลังจากนครแห่งนี้สามารถตกลงเห็นพ้องต้องกันได้ว่าจะสร้างรันเวย์ที่ 3 ขึ้นมาบริเวณหันหน้าออกสู่ทะเล ทางตอนเหนือของเกาะซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานของฮ่องกงในปัจจุบัน

ขณะที่ทางนครผลักดันโครงการนี้ให้เดินหน้า เพื่อช่วยให้ฮ่องกงยังคงสามารถขยายตัวอย่างทะเยอทะยานเพื่อแข่งขันกับศูนย์กลางคมนาคมสำคัญๆ แห่งอื่นๆ ปรากฏว่า เซินเจิ้น เมืองบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคของแผ่นดินใหญ่ซึ่งกำลังเติบโตรุ่งเรืองขึ้นมาอย่างรวดเร็วยิ่ง ก็ได้ตัดริบบิ้นเปิดแผนการอันใหญ่โตในการช่วงชิงผู้โดยสารและสินค้าขนส่งทางอากาศจากฮ่องกง

โครงการต่างๆ ในด้านสนามบินที่เซินเจิ้นกำลังดำเนินการนั้น มีทั้งการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 และอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 4 ด้วยจุดประสงค์ที่จะเพิ่มศักยภาพของตนเองขึ้นมาอีกเท่าตัว เพื่อให้สามารถรับมือกับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 80 ล้านคนต่อปี และสินค้าไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2030

การถมดินปรับปรุงพื้นที่ของรันเวย์ใหม่ความยาว 3,600 เมตรตลอดจนลานจอดเครื่องบินที่อยู่ข้างเคียงกัน ได้รับไฟเขียวจากคณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติของจีน (China’s National Development and Reform Commission) เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้ และอีกไม่ช้าไม่นานขบวนรถบูลโดเซอร์และเรือบรรทุกทรายก็จะลงมือทำงานเพื่อสร้างพื้นที่ผืนใหญ่ผืนใหม่ตามชายฝั่งด้านตะวันออกของปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River) รันเวย์แห่งใหม่ของท่าอากาศยานเซินเจิ้น ซึ่งติดราคา 9,350 ล้านหยวน (1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นี้ จะสร้างขึ้นมาอย่างตั้งใจให้สามารถรับพวกเครื่องบินจัมโบ้เจ็ตลำมหึมาทั้งหลาย อย่างเช่น แอร์บัส เอ 380 และ โบอิ้ง 747

รันเวย์ใหม่ของเซินเจิ้น จะสร้างคู่ขนานกับสะพานของทางด่วนสายที่การจราจรคับคั่งสายหนึ่ง ซึ่งต่อเชี่อมนครแห่งนี้กับเมืองกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง โดยที่งานถมดินปรับปรุงพื้นที่และงานก่อสร้างจะต้องไม่รบกวนการดำเนินงานต่างๆ ของท่าอากาศยานเซินเจิ้น ตลอดจนการจราจรของถนนหนทางและการเดินเรือทะเลซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้ๆ

ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น คาดหมายกันว่ารันเวย์ใหม่ของท่าอากาศยานเซินเจิ้นนี้จะสร้างเสร็จและใช้งานได้ภายในระยะเวลา 4 ปี ด้วยความช่วยเหลือจากสัญญาหลายฉบับที่ได้ทำเอาไว้แล้วกับพวกผู้ซัปพลายทรายทั้งที่อยู่ในมณฑลกวางตุ้งและในเขตปกครองตนเอง (ระดับมณฑล) ชนชาติจ้วงแห่งกวางสี แต่เวลาเดียวกันนี้ ฮ่องกงน่าที่จะพลาดไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่จะทำรันเวย์ใหม่ของตนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2023
ภาพแสดงสภาพโดยรวมของอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ของท่าอากาศยานเซินเจิ้น
ท่าอากาศยานของเซินเจิ้นเวลานี้มีรันเวย์อยู่แล้ว 2 รันเวย์ และมีอาคารผู้โดยสารอยู่แล้ว 3 อาคาร โดยเฉพาะอาคาร 3 นั้น มีรูปทรงเหนือล้ำแบบยุคอนาคต ครอบคลุมเนื้อที่ 450,000 ตารางเมตร แผ่นฝ้าเพดานรูปทรงรวงผึ้งวางเรียงต่อเนื่องกันจนเหมือนเป็นใยแมงมุมขนาดใหญ่โตมโหฬาร ขณะเดียวกันก็ใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่กวาดถูพื้น

ในปี 2018 สนามบินแห่งนี้ให้บริการผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 45 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.2% จาก 1 ปีก่อนหน้านั้น ทำให้กลายเป็นท่าอากาศยานที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับ 5 ของจีนแผ่นดินใหญ่ และเป็นอันดับ 32 ในทั่วโลก แซงหน้าทั้งท่าอากาศยานแกตวิค (Gatwick) ของลอนดอน, นวร์ค (Newark) ของนิวยอร์ก, และท่าอากาศยานของซิดนีย์ สำหรับฮ่องกงในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ให้บริการผู้โดยสารขึ้นลงเครื่องบินรวม 74.5 ล้านคน

การที่เซินเจิ้นก้าวขึ้นเป็นฮับเพื่อการเปลี่ยนเครื่องบินสำหรับพวกนักท่องเที่ยวชาวแผ่นดินใหญ่ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังฮ่องกงและมาเก๊า ตลอดจนเป็นประตูแห่งใหม่สำหรับรองรับการสัญจรทางอากาศในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงที่เศรษฐกิจมั่งคั่ง ทำให้มีสายการบินตางๆ และบริษัทจัดส่งพัสดุภัณฑ์ต่างๆ เปิดเส้นทางบินผ่านนครแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น ราคาตั๋วโดยสารที่ถูกกว่าในเส้นทางบินตรงจากเซินเจิ้นไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป กำลังสามารถล่อใจดึงดูดผู้โดยสารให้ผละจากฮ่องกง ซึ่งเผชิญปัญหามีเครื่องบินขึ้นลงกันแน่นขนัดเหลือเกินจนผลักดันให้ราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากนั้นเซินเจิ้นยังกำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าสำคัญแห่งหนึ่งให้กับฝูงเครื่องบินขนส่งพัสดุภัณฑ์ของยูพีเอส (UPS) อีกด้วย

เวลาเดียวกันนั้น ซัปพลายวัสดุดิบสำคัญของการก่อสร้างอย่างทรายทะเล ก็กำลังอยู่ในภาวะตึงตัว เนื่องจากทั้งฮ่องกงและเซินเจิ้นต่างเร่งรัดการก่อสร้างรันเวย์ของพวกตน ขณะที่น่านฟ้าเหนือศูนย์กลางคมนาคมทั้ง 2 แห่งนี้ก็กำลังมีการจราจรหนาแน่นคับคั่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

นครบ้านใกล้เรือนเคียงทั้ง 2 ในเวลานี้จึงกำลังต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่น่านฟ้ากันอยู่ เพราะเครื่องบินที่ทะยานขึ้นหรือร่อนลงจอด ณ รันเวย์สร้างใหม่ของพวกเขาในอนาคต อาจจะอยู่ในเส้นทางที่จะชนกันได้ ถ้าหากไม่มีการแก้ไขคลี่คลายภาวะขาดแคลนพื้นที่น่านฟ้า

คณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งจากฝ่ายฮ่องกง, ฝ่ายเซินเจิ้น, และสำนักงานการบินพลเรือนของจีน ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้วเพื่อวางแผนตกลงแบ่งสรรน่านฟ้ากัน ทว่าจนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้เรียบร้อยเกี่ยวกับเส้นทางการบินและน่านฟ้าซึ่งเกิดความขัดแย้งกันอยู่

พวกหนังสือพิมพ์ในฮ่องกงรายงานว่า เซินเจิ้นมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะไม่ยินยอมอ่อนข้ออะไรอย่างมากมายเกินไป เนื่องจากนครของพวกเขาที่กำลังเติบโตก้าวผงาดขึ้นมาโดยองค์รวม ทำให้พวกผู้ปฏิบัติงานของเซินเจิ้นมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าจะสามารถเอาชนะเข้าแทนที่ฮ่องกงได้ ในแนวรบสำคัญๆ อย่างเช่นเรื่องการบิน


กำลังโหลดความคิดเห็น