xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ 50 ปีมนุษย์คนแรกเหยียบดวงจันทร์: สุดคึกคัก! “สถาบันสมิธโซเนียน” เปิดตัวชุดนักบินอวกาศ “นีล อาร์มสตรอง” - เอเชียมองเห็น “จันทรุปราคา”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – เมื่อวานนี้(16 ก.ค)สถาบันสมิธโซเนียนที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ได้เปิดการจัดแสดงชุดนักบินอวกาศของ นีล อาร์มสตรอง ที่เดินทางไปถึงดวงจันทร์ในภารกิจอพอลโล 11 ในสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลอง 50 ปีที่มนุษย์ประสบความสำเร็จสามารถเหยียบดวงจันทร์ เหมือนอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น เอฟ เคนเนดี เคยกล่าวไว้ว่า เราเลือกไปดวงจันทร์ไม่ใช่เพราะเป็นสิ่งที่ง่ายแต่เพราะเป็นสิ่งยาก

รอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้(16 ก.ค)ว่า ชุดนักบินอวกาศของนีล อาร์มสตรอง(Neil Armstrong)ในภารกิจเดินทางไปเยือนดวงจันทร์ของยานอพอลโล 11 ได้เปิดการแสดงต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปีเมื่อวันอังคาร(16) ที่พิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศของสถาบันสมิธโซเนียนตรงกับเมื่อ 50 ปีก่อนที่ยานอพอลโล 11 เดินทางออกไปในอวกาศ

ทั้งนี้พบว่าในพิธีเปิดบุตรชายของอาร์มสตรองคือ ริค(Rick) ได้ร่วมกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ ทำพิธีเปิด โดยมีการรำลึกถึงอดีตเมื่อครั้งมีความแตกแยกภายในสหรัฐฯในช่วงปลายยุค 60 แต่สามารถกลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวได้จากการที่สหรัฐฯกลายเป็นชาติแรกที่สามารถส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์สำเร็จ

นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศคนแรกที่ได้ฝากรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์พร้อมกับวาทะที่เขากล่าวในขณะที่ลงเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อ 20 ก.ค.1969 ว่า “นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์ (คนหนึ่ง) แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” (That's one small step for (a) man, one giant leap for mankind) พบว่าเชาเสียชีวิตในวันที่ 12 ส.ค 2012 เมืองซินซิแนติ รัฐโอไฮโอ

ส่วน ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) ซึ่งเป็นลูกเรือยานอพอลโล 11 ทำหน้าที่ขับยานบังคับการโมดุลวนดวงจันทร์เพื่อรอรับ อาร์มสตรองและ บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ซึ่งเป็นมนุษย์คนที่ 2 ที่เหยียบดวงจันทร์กลับสู่โลก โดยในครั้งนั้นทั้งอาร์มสตรองและอัลดรินช่วยเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมามีน้ำหนักรวม 22 กิโลกรัม พบว่าในวันอังคาร(16) คอลลินส์ได้กลับมาเยือนฐานปล่อยยานอีกครั้ง

เอพีรายงานว่า คอลลินส์เปิดเผยความรู้สึกว่า เขาหวังว่าเพื่อนยานอพอลโล 11 ทั้งสองที่ได้ลงเดินบนดวงจันทร์จะสามารถมาร่วมแสดงความรำลึกถึงช่วงเวลาดังกล่าวที่ฐานปล่อย 39A ประจำศูนย์อวกาศเคนเนดีที่เคยถูกใช้เป็นที่ปล่อย

“มีความรู้สึกดีที่ได้กลับมา” คอลลินส์ นักบินยานบังคับการโมดุลวัย 88 ปี กล่าวกับทีวีนาซ่า และเสริมว่า “มีความต่างออกไปในครั้งนี้ ผมต้องการหันไปถามนีล และบางทีอาจต้องการบอกกับ บัซ อัลดริน บางย่าง แน่นอนที่สุดผมอยู่เพียงลำพังคนเดียวที่นี่”

ทั้งนี้พบว่าอาร์มสตรองนั้นเสียชีวิต 7 ปีมาแล้ว ส่วนอัลดรินนั้นยกเลิกการเข้าร่วม เอพีกล่าว และชี้ว่า ในเวลานี้ฐานปล่อยของศูนย์อวกาศเคนเนดีถูกบริษัทสำรวจอวกาศ SpaceX ของอีลอน มัสค์เช่าไว้

ซึ่งในพิธีการเปิดแสดงชุดอวกาศของนีล อาร์มสตรองที่สถาบันสมิธโซเนียน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวว่า “จากทั้งหมดของคุณูปการต่อวิทยาศาสตร์และความเข้าใจของมนุษย์ สำหรับช่วงเวลาที่สั้นนั้น ชายผู้ที่ได้สวมชุดนี้ ทำให้ประเทศของเราและทั้งโลกร่วมกัน”

และเสริมว่า “อพอลโล 11 ถือเป็นแค่เหตุการณ์เดียวของศตวรรษที่ 20 ที่จะมีโอกาสเป็นที่ถูกจดจำอย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ 30” เพนซ์อธิบายว่า “ในอีก 1,000 ปีหลังจากนี้ วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 จะเป็นวันที่ถูกจดจำทั้งในจิตใจและจินตนาการของชายและหญิงที่นี่บนโลก ตลอดทั่วทั้งระบบสุริยะและที่ห่างออกไป”

ทั้งนี้โปรเจกต์อพอลโลนั้นเริ่มต้นอย่างจริงจังและตั้งใจภายในสเตเดียมสนามกีฬาอเมริกันฟุตบอลปี 1962 เมื่อครั้งอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอห์น เอฟ เคนเนดีออกมาประกาศต่อประชาชนทั้งประเทศว่า สหรัฐอเมริกาจะส่งมนุษย์ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ โดยส่วนหนึ่งของวาทะที่น่าจดจำ เดอะแอตแลนติกรายงานว่า เคนเนดีได้ประกาศว่า

“เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์ในทศวรรษนี้และทำอย่างอื่น ไม่ใช้เพราะสิ่งเหล่านี้ง่าย แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่ยาก” (“We choose to go to the moon in this decade and do the other things, not because they are easy, but because they are hard.”)

อาจเป็นเรื่องที่ขบขันบวกกับการเป็นสิ่งที่สุดเหลือเชื่อเมื่อพบว่าเคนเนดีมีความคลั่งไคล้ในการโครงการอพอลโลและการสำรวจอวกาศเป็นอย่างมาก เพราะพบว่าครั้งหนึ่งอดีตประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ ได้เคยวิจารณ์โครงการแข่งขันเพื่อไปเหยียบดวงจันทร์ของเคนเนดีว่า “บ้าคลั่ง”

โดยพบว่าในการหารือส่วนตัวระหว่างช่วงอาหารเช้าร่วมกับสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯของพรรครีพับลิกันที่กรุงวอชิงตันที่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 160 คนที่ได้เข้าร่วม ในครั้งนั้นไอเซนฮาวร์ที่พ้นตำแหน่งไปในขณะที่เคนเนดีนั่งอยู่ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้วิจารณ์ถึงงบประมาณด้านอวกาศของเคนเนดีว่า

“ใครก็ตามที่ต้องการใช้งบร่วม 40 พันล้านดอลลาร์ในการแข่งขันไปเยือนดวงจันทร์เพื่อความภาคภูมิใจของชาตินั้นบ้า”

ในรายงานชี้ว่า เคนเนดีไม่ได้ให้ความสนใจต่อความเห็นของไอเซนฮาวร์ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าการแข่งขันทางอวกาศยังคงมีมาต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเวลาไม่นานมานี้ จีนและอินเดียต่างแข่งเพื่อที่จะส่งยานไปลงดวงจันทร์ในขณะที่สหรัฐฯและอังกฤษได้ก่อตั้งกองทัพอวกาศ

สัปดาห์การเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีที่มนุษย์สามารถเหยียบดวงจันทร์ยังบังเอิญเกิดในช่วงที่คนจำนวนมากบนโลกตั้งแต่ออสเตรเลีย เอเชีย ยุโรป แอฟริกาและทางตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้จะได้มีโอกาสได้เห็นปรากฎการณ์จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) ยกเว้นในสหรัฐฯและแคนาดา บางส่วนของเกาะกรีนแลนด์ และทางเหนือของรัสเซีย เกิดขึ้นในคืนวันอังคาร(16) หรือเช้าวันพุธ(17) ขึ้นอยู่กับว่าอาศัยอยู่ในส่วนใดของโลก

CNN ชี้ว่า ปรากฎการณ์จันทรุปราคาจะสามารถมองเห็นได้ในทวีปแอฟริกา เกือบทั้งหมดของทวีปยุโรป พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ และทางใต้ของออสเตรเลีย

สำหรับในส่วนของออสเตรเลียและเอเชีย ปรากฎการณ์จันทรุปราคาจะปรากฎในช่วงเช้ามืดของวันพุธ(17) เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานว่า ที่กรุงนิวเดลีของอินเดีย พบว่าปรากฎการณ์จันทรุปราคาเริ่มต้นหลังจากเวลาเที่ยงคืนไปแล้ว

ส่วนของยุโรปจะปรากฏในช่วงค่ำวันอังคาร(16)เมื่อพระอาทิตย์ตก























กำลังโหลดความคิดเห็น