เอเอฟพี - นางอูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี ได้รับเสียงสนับสนุนมากพอสำหรับผ่านการรับรองจากรัฐสภายุโรปในวันอังคาร(16ก.ค.) ก้าวขึ้นมาเป็นประธานหญิงคนแรกของคณะกรรมาธิการยุโรป มีชัยเหนือสมาชิกสายโซเชียลิสต์และลิเบอรัล ที่แสดงความเคลือบแคลงใจในตัวเธอ
รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีหัวอนุรักษ์นิยมวัย 60 ปี ได้รับการเสนอชื่อจากพวกผู้นำรัฐสมาชิก 18 ชาติของกลุ่ม ให้ก้าวมาเป็นประธานหญิงคนแรกของคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งสร้างความผิดหวังแก่สมาชิกรัฐสภายุโรปหลายคน
สมาชิกรัฐสภายุโรปบางส่วนอยากเลือกผู้ถูกเสนอชื่อจากหนึ่งในกลุ่มการเมืองของพวกเขาเองมากกว่า แต่สุดท้ายการโหวตจบลงด้วยชัยชนะอย่างฉิวเฉียดของ ฟอน เดอร์ เลเยน ด้วยคะแนน 383 เสียงจากทั้งหมด 751 เสียง
จากนี้ไป ฟอน เดอร์ เลเยน จะเข้ามาทำหน้าที่แทน ฌอง โคล้ด จุงเกอร์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป หรือหนึ่งวันหลังจากสหราชอาณาจักรถึงกำหนดถอนตัวจากสหภาพยุโรป และมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
"ด้วยภาระที่รอเราอยู่เบื้องหน้า ฉันขอถ่อมตัว มันคือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่และงานของฉันเริ่มแล้วตั้งแต่บัดนี้" คุณแม่ลูก 7 บอกกับสมาชิกรัฐสภายุโรป พร้อมกับกล่าวขอบคุณ "สมาชิกทุกท่านที่ลงคะแนนโหวตให้ดิฉันในวันนี้"
เบื้องต้นมีความกังวลกันว่าหาก ฟอน เดอร์ เลเยน ไม่ผ่านความเห็นชอบ ยุโรปอาจเผชิญฤดูร้อนที่เต็มไปด้วยศึกกระทบกระทั่งกันภายในสถาบัน แทนที่จะเอาเวลาเหล่านี้ไปเตรียมพร้อมรับมือกับเบร็กซิต, สู้รบกับอิตาลีในประเด็นหนี้ของพวกเขา และช่วยเหลือฮังการีกับโปแลนด์รับมือกับภัยคุกคามค่านิยมประชาธิปไตย
ฟอน เดอร์ เลเยน มีเวลาเพียงสั้นๆนับตั้งแต่พวกผู้นำ 28 ชาติอียูเสนอชื่อเธอ ในการเอาชนะใจพรรค EPP กลุ่มการเมืองขวากลาง, พรรคโซเชียลิสต์ S&D และกลุ่มการเมือง Renew Europe ในความหวังว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนที่จำเป็น 374 เสียง
ในหลายชั่วโมงระหว่างการปราศรัยขอคะแนนและเริ่มลงคะแนนโหวต พวกเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองบ่งชี้ว่าเธออาจได้รับการสนับสนุนจากพรรคขวากลาง, ฝ่ายลิเบอรัลเกือบทั้งหมดและอาจได้จากพรรคฝ่ายซ้ายราวๆ 2 ใน 3
การโหวตครั้งนี้เป็นการลงคะแนนลับ แต่ผลที่ออกมาว่าฟอน เดอร์ เลเยน ได้รับชัยชนะอย่างฉิวเฉียด บ่งชี้ว่าเธอได้รับการสนับสนันเพียงจากพวกสายกลางฝักใฝ่ยุโรป และสมาชิกหลักหลายคนงดออกเสียง
ความเคลื่อนไหวโหวตรับรอง ฟอน เดอร์ เลเยน เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจที่เรียกกันว่า "ตำแหน่งระดับสูง"ของอียู" ในนั้นรวมถึงตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรป ซึ่งชาร์ลส์ มิเชล นายกรัฐมนตรีเบลเยียม อยู่บนเส้นทางที่จะผ่านการรับรอง
ในส่วนของ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ใกล้ที่จะได้รับการรับรองจากรัฐสภายุโรปให้ก้าวขึ้นเป็นประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) เช่นกัน หลังจากอดีตรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสรายนี้แถลงลาออกจากไอเอ็มเอฟในวันอังคาร(16ก.ค.)