รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ยืนยันวานนี้ (15 ก.ค.) ว่ากองทัพอังการามีแผนจะนำระบบต้านขีปนาวุธ S-400 ที่ได้รับมอบจากรัสเซียแล้วบางส่วนเมื่อ 4 วันก่อนมาประจำการอย่างเต็มรูปแบบในเดือน เม.ย. ปี 2020
การที่ตุรกีสั่งซื้อระบบขีปนาวุธของแดนหมีขาวได้ก่อความตึงเครียดกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มนาโต โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งขู่จะตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตร
แอร์โดอัน ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สนามบินอตาเติร์กในนครอิสตันบูลเนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีความพยายามก่อรัฐประหาร โดยระบุว่าเครื่องบิน 8 ลำได้ลำเลียงชิ้นส่วนระบบต้านขีปนาวุธจากรัสเซียมายังตุรกีแล้ว และกำลังจะมีมาเพิ่มอีก
“ด้วยความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ขีปนาวุธเหล่านี้จะถูกส่งไปประจำการยังสถานที่ของมันภายในเดือน เม.ย. ปี 2020” ผู้นำตุรกีกล่าวต่อประชาชน
“S-400 เป็นระบบป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะสามารถปกป้องประเทศของเราจากการถูกโจมตี... นี่คือการลงทุนร่วมระหว่างเรากับรัสเซีย ซึ่งจะยังคงดำเนินต่อไป”
เจ้าหน้าที่อเมริกันระบุว่า นอกจากจะถูกคว่ำบาตรตามกฎหมาย CAATSA ของสหรัฐฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกีดกันประเทศอื่นๆ ไม่ให้ซื้ออาวุธจากรัสเซียแล้ว ตุรกียังอาจถูกขับออกจากโครงการพัฒนาสุดยอดเครื่องบินขับไล่สเตลธ์ F-35 อีกด้วย นั่นหมายความว่าอังการาจะไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตชิ้นส่วน และไม่สามารถสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ได้อีกต่อไป
แอร์โดอัน ได้โยนหินถามทางเมื่อวันอาทิตย์ (14) โดยกล่าวว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ มีอำนาจที่จะสั่งละเว้นคว่ำบาตรตุรกีได้ และควรหาวิธี “พบกันครึ่งทาง” เพื่อยุติความบาดหมาง
ทรัมป์ เคยแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจตุรกีขณะที่พบ แอร์โดอัน ในเวทีซัมมิต G20 เมื่อเดือนที่แล้ว โดยให้สัมภาษณ์ว่าอังการาจำเป็นต้องซื้อขีปนาวุธ S-400 จากรัสเซียเนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนปฏิเสธที่จะขายระบบขีปนาวุธแพทริออตให้
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เกรงว่า ระบบต่อต้านขีปนาวุธ S-400 ของรัสเซียอาจเป็นภัยต่อเครื่องบิน F-35 หากถูกส่งไปประจำการในพื้นที่เดียวกัน
รัฐบาลตุรกีได้สั่งซื้อ F-35 ที่ผลิตโดยค่ายล็อกฮีดมาร์ตินมากกว่า 100 ลำ ซึ่ง แอร์โดอัน เรียกร้องให้อเมริกายึดมั่นในสัญญาดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าตุรกียังคงต้องการสั่งซื้อระบบขีปนาวุธแพทริออตจากวอชิงตันอยู่ และเรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศยกระดับความร่วมมือทั้งในด้านการค้าและกลาโหมอย่างครอบคลุม