xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนฝันเป็นประเทศที่ 4 ส่งยานลงดวงจันทร์ อินเดียชะลอส่ง ‘จันทรายาน-2’ หลังพบปัญหาเทคนิค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>จรวด จีเอสแอลวี มาร์ค III ที่เป็นยานส่ง ซึ่งมียาน “จันทรายาน 2” ติดตั้งอยู่ข้างบนสุด จอดนิ่งอยู่ที่องค์การอวกาศ สาทิศ ธาวัน เมื่อช่วงก่อนรุ่งสางวันจันทร์ (15 ก.ค.) ภายหลังอินเดียสั่งเลื่อนภารกิจส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์คราวนี้ เนื่องจากพบปัญหาทางเทคนิค </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – อินเดียระงับการส่งยานสำรวจดวงจันทร์ในวันจันทร์ (15 ก.ค.) เพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมงก่อนถึงกำหนดปล่อยจรวดออกจากฐานยิง หลังพบปัญหาทางเทคนิค เป็นการชะลอเวลาชี้ชะตาที่แดนภารตะจะกลายเป็นประเทศรายที่ 4 ของโลกซึ่งสามารถส่งยานได้ลงดวงจันทร์ได้สำเร็จหรือไม่

รัฐบาลแดนภารตะคาดหวังว่า ภารกิจส่งยาน ‘จันทรายาน-2’ คราวนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศอันทะเยอทะยานของประเทศ จะทำให้อินเดียยืนเคียงรัสเซีย สหรัฐฯ และจีน ในฐานะชาติที่สามารถส่งยานไปลงจอดบนผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ

“จันทรายาน-2” ดูเหมือนพร้อมแล้วสำหรับการขึ้นสู่อวกาศ โดยถูกติดตั้งอยู่ยอดบนสุดของยานปล่อยซึ่งคือ ยานปล่อยดาวเทียม จีเอสแอลวี มาร์ค 3 (Geosynchronous Satellite Launch Vehicle Mark III ใช้อักษรย่อว่า GSLV Mk-III) ซึ่งเป็นจรวดทรงพลังที่สุดของอินเดีย ณ ศูนย์อวกาศ สาทิศ ธาวัน แต่การนับถอยหลังได้ถูกยกเลิกขณะเหลือเพียง 56 นาทีกับอีก 24 วินาที ก็จะถึงกำหนดปล่อยจรวดในเวลา 02.51 น. ตามเวลาท้องถิ่น (04.21 น. เวลาเมืองไทย)

องค์การวิจัยอวกาศของอินเดีย (ISRO) แถลงว่าจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการส่ง ‘จันทรายาน-2’ ออกไปก่อน เนื่องจาก “พบปัญหาทางเทคนิค” และจะประกาศกำหนดการส่งยานใหม่ให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

เดิมที กำหนดลงจอดบนดวงจันทร์ของยานอวกาศลำนี้ ตั้งเอาไว้ในวันที่ 6 กันยายน

เจ้าหน้าที่ขององค์การอวกาศแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งรัฐอานธรประเทศ ยืนยันว่า ปัญหาที่พบนั้นเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมของจรวดที่เป็นยานส่ง

ภารกิจส่งยานสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีขึ้นเพียง 5 วันก่อนจะถึงวาระครบรอบ 50 ปีที่นักบินอวกาศชาวอเมริกัน นีล อาร์มสตรอง สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 1969

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการของอินเดียยังมีความน่าสนใจเป็นพิเศษตรงที่ใช้งบประมาณน้อยอย่างยิ่ง โดยรัฐบาลอินเดียบอกว่าใช้งบประมาณเพียง 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,300 ล้านบาท) ในการเตรียมส่ง ‘จันทรายาน-2’ ขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งใช้งบสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือถ้าเทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบันก็มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการอะพอลโลในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970

ยานโคจร รวมถึงส่วนลงจอด (lander) และยานสำรวจ (rover) ถูกออกแบบและผลิตในอินเดียทั้งหมด โดยอินเดียยังได้พัฒนาจรวด GSLV Mk III ซึ่งมีพลังขับเคลื่อนสูงที่สุดเท่าที่เคยผลิตได้ เพื่อใช้ในการขนส่งยานโคจรน้ำหนักรวม 2.4 ตัน ซึ่งจะวนรอบดวงจันทร์ประมาณ 1 ปีเพื่อถ่ายภาพพื้นผิวและส่งข้อมูลเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์กลับมายังโลก

อินเดียประสบความสำเร็จในการส่งยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรก ‘จันทรายาน-1’ เมื่อปี 2008 ทว่าไม่ได้ลงจอด เพียงแต่ใช้เรดาร์สำรวจหาร่องรอยแหล่งน้ำบนดวงจันทร์เท่านั้น

ทั้งนี้ การนำยานลงจอดอย่างนิ่มนวลบนพื้นผิวดวงจันทร์จะถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่สำหรับโครงการอวกาศอินเดีย และเป็นความภาคภูมิใจของชาติ ขณะที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ยังประกาศจะส่งยานพร้อมมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศให้ได้ภายในปี 2022


กำลังโหลดความคิดเห็น