เอเอฟพี - อินเดียระงับการส่งยานสำรวจดวงจันทร์ก่อนที่จรวดจะถูกปล่อยออกจากฐานยิงเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมงในวันนี้ (15 ก.ค.) หลังพบปัญหาทางเทคนิค
รัฐบาลภารตะคาดหวังว่าโครงการ ‘จันทรายาน-2’ จะทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ 4 ของโลกถัดจากรัสเซีย สหรัฐฯ และจีน ที่สามารถส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
การนับถอยหลังที่ศูนย์อวกาศ สาทิศ ธาวัน ถูกยกเลิกเพียง 56 นาทีกับอีก 24 วินาที ก่อนที่จะถึงกำหนดปล่อยจรวดในเวลา 2.51 น. ตามเวลาท้องถิ่น
ศูนย์วิจัยด้านอวกาศของอินเดีย (ISRO) แถลงผ่านทวิตเตอร์ว่าจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการส่งยานอวกาศ ‘จันทรายาน-2’ ออกไปก่อน เนื่องจาก “พบปัญหาทางเทคนิค” และจะประกาศกำหนดการส่งยานใหม่ให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
เจ้าหน้าที่ของศูนย์อวกาศซึ่งตั้งอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งรัฐอานธรประเทศยืนยันว่า ปัญหาที่พบนั้นเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมจรวดขนส่งยาน (launch vehicle system)
ภารกิจส่งยานสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีขึ้นเพียง 5 วันก่อนจะถึงวาระครบรอบ 50 ปีที่นักบินอวกาศชาวอเมริกัน นีล อาร์มสตรอง สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 1969
รัฐบาลอินเดียใช้งบประมาณเพียง 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,300 ล้านบาท) ในการเตรียมส่ง ‘จันทรายาน-2’ ขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งใช้งบสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือถ้าเทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบันก็มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการอะพอลโลในช่วงทศวรรษ 1960-70
ยานโคจร (orbiter) รวมถึงส่วนลงจอด (lander) และยานสำรวจ (rover) ถูกออกแบบและผลิตในอินเดียทั้งหมด โดยอินเดียยังได้พัฒนาจรวด GSLV Mk III ซึ่งมีพลังขับเคลื่อนสูงที่สุดเท่าที่เคยผลิตได้เพื่อใช้ในการขนส่งยานโคจรน้ำหนัก 2.4 ตัน ซึ่งจะวนรอบดวงจันทร์ประมาณ 1 ปีเพื่อถ่ายภาพพื้นผิวและส่งข้อมูลเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์กลับมายังโลก
อินเดียส่งยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรก ‘จันทรายาน-1’ เมื่อปี 2008 ทว่าไม่ได้ลงจอด เพียงแต่ใช้เรดาร์สำรวจหาร่องรอยแหล่งน้ำบนดวงจันทร์เท่านั้น
ทั้งนี้ การนำยานลงจอดอย่างนิ่มนวลบนพื้นผิวดวงจันทร์จะถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่สำหรับโครงการอวกาศอินเดีย และเป็นความภาคภูมิใจของชาติ ขณะที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ยังประกาศจะส่งยานพร้อมมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศให้ได้ภายในปี 2022