รอยเตอร์ - คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ลงมติในวันพฤหัสบดี(11ก.ค.) เห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนเหตุสังหารหมู่ระหว่างปฏิบัติการที่เรียกว่า "สงครามยาเสพติด" ของประธานาธิบดีโรดิโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ก้าวย่างที่พวกนักเคลื่อนไหวบอกว่าปล่อยให้ล่วงเลยมานานแล้ว
รัฐบาลของดูเตอร์เตบอกว่ามีผู้คนราวๆ 6,600 รายที่ถูกสังหารโดยตำรวจ ในเหตุดวลปืนกับพวกผู้ต้องสงสัยค้ายา นับตั้งแต่เขาได้รับเลือกตั้งในปี 2016 ขณะที่พวกนักเคลื่อนไหวเชื่อว่ายอดตายที่แท้จริงอาจแตะระดับอย่างน้อยๆ 27,000 คน
ในมติแรกที่เกี่ยวข้องกับฟิลิปปินส์ ซึ่งเสนอโดยไอซ์แลนด์ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติลงมติเห็นชอบ 18 ชาติและคัดค้าน 14 ประเทศ ในนั้นรวมถึงจีน ขณะเดียวกันมีอยู่ 15 ชาติที่งดออกเสียง ในนั้นรวมถึงญี่ปุ่น
"นี่ไม่ใช่แค่ก้าวย่างแรกแห่งการมุ่งสู่การชดใช้ความยุติธรรมแก่ครอบครัวเหยื่อหลายหมื่นชีวิตที่ถูกสังหารโดยศาลเตี้ยในฟิลิปปินส์ แต่มันยังเป็นสารที่เราส่งออกร่วมกันไปถึงพวกที่ยกย่องประธานาธิบดีดูเตอร์เตด้วย" เอลลีเซอร์ คาร์ลอส จาก iDefend กลุ่มสิทธิมนุษยชนในมะนิลา "อย่างที่เราเคยพูดซ้ำๆว่า สงครามยาเสพติดนี้ คือสงครามตบตา"
พวกนักเคลื่อนไหวฟิลิปปินส์บอกว่าหลายหมื่นคนถูกฆ่าจากการที่ตำรวจคุกคามชุมชนคนยากไร้ โดยการใช้บัญชีเฝ้าระวังยาเสพติดที่จัดทำแบบลวกๆ ระบุตัวผู้เสพหรือผู้ค้ายาเสพติด และในนั้นจำนวนมากถูกเข่นฆ่าภายใต้ปฏิบัติการที่มีเลศนัย
ผู้แทนทูตของฟิลิปปินส์พยามล็อบบี้อย่างหนักต่อมติครั้งนี้ ที่ขอให้เจ้าหน้าที่ของประเทศละเว้นจากการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรมและให้ความร่วมมือกับ มิเชล บาเชเลต์ ประธาน UNHRC ซึ่งต้องรายงานการสืบสวนของเธอในเดือนมิถุนายน 2020
อีวาน การ์เซีย ผู้แทนทูตฟิลิปปินส์ เผยแพร่ถ้อยแถลงผ่านกระทรวงการต่างประเทศหลังการโหวต ปฏิเสธมติดังกล่าวว่าเป็น "มติฝ่ายเดียว ถือพรรคถือพวกทางการเมือง" พร้อมระบุว่ารัฐบาลของดูเตอร์เต ยึดมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม "เราจะไม่อดทนต่อรูปแบบของการขาดความเคารพและพฤติกรรมที่ไร้ศรัทธา จะมีผลลัพธ์ตามมา ผลสนองที่มีผลกระทบอย่างมาก"