xs
xsm
sm
md
lg

'ทรัมป์'ตั้งการ์ดปกป้องบ.ไฮเทคมะกัน หลังฝรั่งเศสออกกม.จัดเก็บภาษีดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเจนซีส์ – “ทรัมป์” สั่งสอบกรณีฝรั่งเศสเตรียมผ่านกฎหมายเก็บภาษีบริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่างรุนแรง นอกจากนั้นความเคลื่อนไหวนี้อาจนำไปสู่การงัดภาษีศุลกากรตอบโต้ตามแนวถนัดของทรัมป์ อันจะทำให้ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติกขยายวงลุกลามนอกเหนือจากประเด็นเหล็กกล้า อลูมิเนียม รถยนต์ เครื่องบิน และสินค้าเกษตร

โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันพุธ (10 ก.ค.) ว่า อเมริกากังวลอย่างมากต่อภาษีบริการดิจิตอลที่เป็นการพุ่งเป้าเล่นงานบริษัทอเมริกันโดยไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ระหว่างที่เขาแถลงข่าวนั้น กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาล่างของฝรั่งเศสไปแล้ว และต่อมาในวันพฤหัสบดี (11) กฎหมายนี้ก็ได้รับการอนุมัติจากสภาสูงของแดนน้ำหอมโดยเรียบร้อย

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สั่งให้ไลต์ไฮเซอร์เริ่มต้นการตรวจสอบ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อพิจารณาว่า แผนการภาษีของฝรั่งเศสนี้ป็นแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมและกระทบกระเทือนบริษัทเทคโนโลยีอเมริกาหรือไม่

การสอบสวนนี้อาจปูทางให้วอชิงตันประกาศมาตรการตอบโต้ ด้วยการเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าฝรั่งเศส โดยที่แนวทางเช่นนี้เป็นสิ่งซึ่งทรัมป์ใช้บ่อยมากนับจากเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงการเล่นงานจีนที่อเมริกาอ้างว่ามีแนวทางปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม

ความเคลื่อนไหวนี้ยังอาจทำให้ประเด็นขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองฟากฝังแอตแลนติก นั่นคือ ฝั่งสหรัฐฯกับฝั่งยุโรป บานปลายขยายวง หลังจากมีปัญหาในเรื่องเหล็กกล้า อลูมิเนียม รถยนต์ เครื่องบิน และสินค้าเกษตร กันอยู่แล้ว

เรื่องการเก็บภาษีบริการดิจิตอลนั้น บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส กล่าวไว้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า การจัดเก็บในอัตรา 3% ของรายได้รวมตลอดทั้งปีของพวกบริษัทอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ที่ให้บริการในฝรั่งเศส จะทำให้รัฐบาลมีรายได้ปีละ 563 ล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่จำนวนมาก สามารถใช้ประโยชน์จากการที่บางประเทศเก็บภาษีในอัตราต่ำ เช่น ไอร์แลนด์ และบางประเทศกระทั่งอาจไม่ต้องเสียเลย ทำให้บริษัทเหล่านี้ตักตวงผลกำไรเต็มที่

เลอแมร์สำทับว่า มาตรการภาษีนี้จะพุ่งเป้าที่บริษัทราว 30 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทอเมริกัน ที่เหลือก็มีทั้งบริษัทจีน เยอรมนี สเปน อังกฤษ รวมถึงบริษัทฝรั่งเศสเอง 1 แห่ง และอีกหลายแห่งที่มีถิ่นกำเนิดในฝรั่งเศสแต่ถูกต่างชาติซื้อกิจการไปแล้ว

ทั้งนี้ มาตรการภาษีนี้จะครอบคลุมบริษัทที่มีรายได้ปีละอย่างต่ำ 844 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบริษัทที่เข้าข่ายรวมถึง กูเกิล ซึ่งมีอัลฟาเบตเป็นบริษัทแม่, แอปเปิล, เฟซบุ๊ก และแอมะซอน

สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ระบุในคำแถลงว่า บริการดังกล่าวเป็นบริการที่บริษัทอเมริกันเป็นผู้นำทั่วโลก โครงสร้างภาษีใหม่ที่เสนอ ตลอดจนถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่บ่งชี้ว่า ฝรั่งเศสพุ่งเป้าเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีที่มีฐานในอเมริกาอย่างไม่เป็นธรรม

ทางด้าน ไอทีไอ กลุ่มล็อบบี้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของอเมริกาที่เป็นตัวแทนของแอปเปิล, แอมะซอน, กูเกิล และอีกมากมาย แถลงว่าเห็นด้วยที่รัฐบาลสหรัฐฯพยายามตรวจสอบเรื่องนี้ แต่เรียกร้องให้ใช้มาตรา 301 โดยอิงกับความร่วมมือระหว่างประเทศ และหลีกเลี่ยงการออกมาตรการใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ฝรั่งเศส

ส.ว.ชัค กราสส์ลีย์ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน และส.ว.รอน ไวเดน สมาชิกระดับสูงของคณะกรรมาธิการชุดนี้จากพรรคเดโมแครตออกมาให้ทัศนะว่า เห็นด้วยกับการสอบสวน เนื่องจากมองว่า ภาษีบริการดิจิตอลที่ฝรั่งเศสและชาติยุโรปอื่นๆ กำลังจะนำมาใช้เป็นการกีดกันการค้าและพุ่งเป้าที่บริษัทอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งจะกระทบต่อตำแหน่งงานและแรงงานอเมริกัน

กระนั้น ไลต์ไฮเซอร์ย้ำว่า ยูเอสทีอาร์จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอีกหลายสัปดาห์ต่อจากนี้ และหลังจากนั้นจะออกรายงานฉบับสุดท้ายพร้อมมาตรการดำเนินการที่เสนอแนะ

เขาสำทับว่า อเมริกาจะยังคงสานต่อความพยายามร่วมกับประเทศอื่นๆ ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เพื่อบรรลุข้อตกลงพหุภาคีในการรับมือจัดการกับความท้าทายด้านระบบภาษีระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัวมากขึ้นทุกที


กำลังโหลดความคิดเห็น