xs
xsm
sm
md
lg

เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำวอชิงตันลาออกแล้ว หลังถูก “ทรัมป์” ด่าแหลกมาหลายวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 18 ม.ค. 2017) คิม ดาร์ร็อค เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐฯ กำลังปราศรัยในงานซึ่งจัดขึ้นที่สถานเอกอัครราชทูตในกรุงวอชิงตัน  ทั้งนี้ ดาร์ร็อคประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วในวันพุธ (10 พ.ค.) </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำวอชิงตัน คิม ดาร์ร็อค ลาออกจากตำแหน่งแล้วในวันพุธ (10 ก.ค.) ภายหลังตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีอยู่หลายวันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ซึ่งโกรธจัดหลังจากรายงานลับซึ่งนักการทูตผู้นี้ส่งเข้ากระทรวงการต่างประเทศอังกฤษโดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คณะบริหารทรัมป์อย่างตรงไปตรงมานั้น เกิดรั่วไหลถูกเผยแพร่ทางสื่อมวลชน

รายงานลับทางการทูตจากดาร์ร็อค ซึ่งเขาพูดถึงคณะบริหารทรัมป์ว่าโง่เขลาไร้ความสามารถ ได้รั่วไหลถูกเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ของอังกฤษเมื่อวันอาทิตย์ (7) ที่ผ่านมา สร้างความโกรธกริ้วให้ทรัมป์ ซึ่งเปิดฉากโจมตีผ่านทางทวิตเตอร์ทั้งต่อเอกอัครราชทูตผู้นี้ และต่อนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ผู้กำลังจะพ้นตำแหน่ง ซึ่งประกาศให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่ดาร์ร็อค

ดาร์ร็อคแถลงในวันพุธว่า ในสภาพเช่นนี้เขาไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปแล้ว ทว่าพวกผู้สนับสนุนเขาจำนวนมากต่างพากันประณาม บอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและอดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ผู้ซึ่งเป็นตัวเก็งที่จะชนะการเลือกตั้งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่สืบต่อจากเมย์ในปลายเดือนนี้ เนื่องจากจอห์นสันปฏิเสธไม่ยอมแสดงการหนุนหลังดาร์ร็อค

“นับตั้งแต่การรั่วไหลของเอกสารทางการจากสถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ มันก็มีการคาดเดากันอย่างใหญ่โตเกี่ยวกับตำแหน่งของผม และระยะเวลาที่ผมยังจะเป็นเอกอัครราชทูตอยู่” ดาร์ร็อค กล่าว โดยที่วาระการดำรงตำแหน่งของเขามีกำหนดสิ้นสุดในตอนสิ้นปีนี้อยู่แล้ว

“ผมต้องการที่จะให้ยุติการคาดเดาดังกล่าว สถานการณ์ในปัจจุบันกำลังทำให้มันเป็นไปไม่ได้สำหรับผมที่จะแสดงบทบาทของผมต่อไปอย่างที่ผมปรารถนา”

ถึงแม้บรรดารัฐมนตรีและโฆษกของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ออกมายืนยันว่า รายงานลับทางการทูตที่รั่วไหลไปถึงสื่อ ซึ่งนำออกเผยแพร่จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตในขณะนี้นั้น เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของนักการทูตทั้งหลาย อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินสถานการณ์ของดาร์ร็อค โดยไม่ได้สะท้อนมุมมองของรัฐบาลอังกฤษ แต่คำอธิบายเหล่านั้นไม่สามารถทำให้ทรัมป์ หายเกรี้ยวกราด

วันอังคาร (9) ผู้นำสหรัฐฯ ยังคงทวิตด่าเอกอัครราชทูตอังกฤษผู้นี้ต่อไปว่า ไม่เต็มบาท โง่เง่า ขี้โอ่ และไม่ใช่คนที่อเมริกาปลาบปลื้ม

ทรัมป์ร่ายยาวว่า ดาร์ร็อคควรคุยกับเมย์เรื่องการเจรจาเบร็กซิตที่ล้มเหลว และไม่ต้องโมโหที่ตนวิจารณ์ว่า อังกฤษจัดการเรื่องนี้แย่แค่ไหน

“ผมบอกเมย์แล้วว่า ควรทำอย่างไร แต่เธอดึงดันใช้วิธีการโง่เขลาของตัวเองแล้วก็ทำไม่สำเร็จ หายนะแท้ๆ!”

เมย์มีกำหนดลงจากตำแหน่งในเดือนนี้ ขณะที่ 2 ผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมที่จะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทนเมย์ แสดงจุดยืนคนละขั้วเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการทูตกับอเมริกาครั้งนี้
<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 25 มิ.ย. 2019) ทวิตโจมตีทั้ง  คิม ดาร์ร็อค เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ  เทเรซา เมย์  จนในที่สุดาร์ร็อคประกาศลาออกแล้ว </i>
จอห์นสัน ซึ่งเป็นตัวเก็งที่จะเป็นผู้ชนะ บอกว่า ความสัมพันธ์ของอังกฤษกับอเมริกามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด และเมื่อถูกถามระหว่างการดีเบตออกทีวีว่า ถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะให้ดาร์ร็อคทำงานต่อหรือปลดออก จอห์นสันตอบเลี่ยงว่า ไม่อยากโอ้อวดด้วยการคิดว่า ตัวเองจะได้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว

เขายังให้สัมภาษณ์ระหว่างอยู่ที่สนามบินเมืองแมนเชสเตอร์ว่า ไม่ลำบากใจเลยที่จะพูดว่า ตนเองมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทำเนียบขาว

ทางด้านเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันและเป็นผู้ท้าชิงอีกคนที่ยังเหลืออยู่ บอกว่า คำพูดของทรัมป์ “ดูหมิ่นหยาบคายและไม่ถูกต้อง” ต่อเมย์และอังกฤษ พร้อมสำทับว่า พันธมิตรต้องปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติเหมือนที่เมย์ปฏิบัติต่อทรัมป์

“เอกอัครราชทูตได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษ และถ้าผมได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทูตของเราจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”

ข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นขณะที่อังกฤษคาดหวังบรรลุข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่กับอเมริกา หลังถอนตัวจากสหภาพยุโรป ตามกำหนดในวันที่ 31 ตุลาคมนี้

ทั้งจอห์นสันและฮันต์ต่างสนับสนุนการถอนตัวจากอียูแม้ไม่มีข้อตกลง จึงเท่ากับว่า ข้อตกลงในอนาคตกับอเมริกายิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (8) ทรัมป์ได้ทวิตว่า จะไม่ติดต่อใดๆ กับดาร์ร็อค และว่า เป็นข่าวดีสำหรับอังกฤษที่กำลังจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เร็วๆ นี้

ตั้งแต่ก่อนที่ทรัมป์จะทวิตครั้งล่าสุด โฆษกของเมย์แถลงว่า ดาร์ร็อคจะยังคงอยู่ในตำแหน่ง และว่า นักการทูตที่เป็นตัวแทนของประเทศต้องรู้สึกมั่นใจจึงจะสามารถแลกเปลี่ยนแบ่งปันการประเมินข้อมูลสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมาได้

สำหรับข้อมูลที่รั่วไหลในคราวนี้ เป็นบันทึกภายในตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งดาร์ร็อคระบุว่า รายงานเกี่ยวกับความแตกแยกในทำเนียบขาว “ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจริง” อีกทั้งระบุว่า การตัดสินใจยกเลิกปฏิบัติการทางอากาศเพื่อตอบโต้อิหร่านเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งทรัมป์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากกลัวว่า จะมีผู้เสียชีวิตนับร้อยนั้น แท้จริงแล้วมีเหตุผลด้านภาพลักษณ์ทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งมากกว่า

บันทึกของดาร์ร็อคยังระบุว่า คณะบริหารของอเมริกาโง่เขลาด้อยประสิทธิภาพ คาดเดาไม่ได้ สร้างความแตกแยก เงอะงะงุ่มง่ามทางการทูต

ทางการอังกฤษได้เปิดการสอบสวนหาผู้อยู่เบื้องหลังการปล่อยเอกสารนี้ให้รั่วไหลถึงสื่อแล้ว โดยคริสโตเฟอร์ เมเยอร์ อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำวอชิงตัน บอกว่า ผู้ร้ายที่เป็นไปได้มีอยู่มากมาย เห็นได้ชัดว่า เป็นคนที่ต้องการบ่อนทำลายตำแหน่งของดาร์ร็อค และต้องการให้มีการเปลี่ยนตัวทูตเป็นคนที่ผู้ปล่อยข่าวพึงพอใจมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น