รอยเตอร์ - สหรัฐฯ เตรียมเชื้อเชิญประเทศพันธมิตรตั้งกลุ่มความร่วมมือทางทหารเพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือนอกชายฝั่งอิหร่านและเยเมน หลังเกิดเหตุโจมตีเรือสินค้าหลายลำซึ่งวอชิงตันเชื่อว่าเป็นฝีมือกลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่เตหะราน พล.อ. โจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (9 ก.ค.)
ภายใต้แผนซึ่งเพิ่งร่างสำเร็จเมื่อไม่กี่วันก่อน สหรัฐฯ จะส่งเรือบัญชาการและเป็นผู้นำภารกิจลาดตระเวนของกลุ่มพันธมิตร ส่วนเรือของประเทศที่เข้าร่วมก็จะออกตรวจการณ์ใกล้ๆ กับเรือของอเมริกา และคอยให้ความคุ้มกันแก่เรือสินค้าซึ่งติดธงของประเทศนั้นๆ
พล.อ. ดันฟอร์ด ได้ชี้แจงรายละเอียดให้สื่อมวลชนทราบ หลังจากที่ได้หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มาร์ค เอสเปอร์ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ เมื่อวานนี้ (9)
“เราอยู่ระหว่างติดต่อไปยังหลายประเทศ เพื่อดูว่าการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเพื่อรับรองเสรีภาพการเดินเรือผ่านช่องแคบฮอร์มุซและช่องแคบ บับ อัล-มันดับ จะเป็นไปได้หรือไม่” ดันฟอร์ด ระบุ
“ผมคิดว่าในอีก 2-3 สัปดาห์น่าจะทราบว่ามีประเทศใดบ้างที่พร้อมสนับสนุนความริเริ่มนี้ หลังจากนั้นเราก็จะประสานโดยตรงไปยังกองทัพของประเทศเหล่านั้น เพื่อกำหนดศักยภาพต่างๆ ที่จะสนับสนุนแผนดังกล่าว”
อิหร่านข่มขู่เรื่อยมาว่าจะปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของน้ำมันดิบเกือบ 1 ใน 5 ของโลก หากถูกคว่ำบาตรจนไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พยายามจะทำเพื่อบีบให้อิหร่านยอมแก้ไขข้อตกลงนิวเคลียร์
ข้อเสนอจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรนานาชาติเพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบฮอร์มุซเริ่มถูกพิจารณาอย่างจริงจัง หลังจากที่มีเรือบรรทุกน้ำมันหลายลำถูกโจมตีในอ่าวเปอร์เซียเมื่อช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. อีกทั้งอิหร่านยังยิงสอยโดรนของอเมริกาตกใกล้ๆ ช่องแคบแห่งนี้ จนทำให้ ทรัมป์ ถึงขั้นสั่งให้กองทัพเตรียมโจมตีทางอากาศเพื่อแก้แค้น ก่อนจะยกเลิกคำสั่งในนาทีสุดท้าย
แม้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะเคยพูดถึงแผนป้องกันช่องแคบฮอร์มุซมานานแล้ว แต่ถ้อยแถลงของ ดันฟอร์ด ได้ให้ข้อมูลใหม่ๆ ว่ากลุ่มพันธมิตรจะออกปฏิบัติการในช่องแคบ บับ อัล-มันดับ ซึ่งอยู่ตรงชายฝั่งเยเมนด้วย
สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กล่าวหามานานว่าพวกกบฏฮูตีในเยเมนที่มีอิหร่านหนุนหลังมักจะซุ่มโจมตีเรือในช่องแคบ บับ อัล-มันดับ ซึ่งเชื่อมทะเลแดงเข้ากับอ่าวเอเดนและทะเลอาหรับ
แต่ละวันจะมีน้ำมันดิบเกือบ 4 ล้านบาร์เรลถูกส่งผ่านช่องแคบ บับ อัล-มันดับ ออกไปยังยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย ไม่รวมถึงสินค้าอื่นๆ