เอเอฟพี - พวกผู้นำอียูในวันอังคาร (2 ก.ค.) บรรลุข้อตกลงระหว่างการประชุมที่ถกเถียงอันอย่างหนักและยาวนาน ในการวางผู้หญิงเข้ามานั่งเก้าอี้สำคัญสุดของกลุ่ม 2 ตำแหน่งเป็นครั้งแรก ในนั้นรวมถึง คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งจะเข้ามากุมบังเหียนประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
ผู้นำ 28 ชาติของสหภาพยุโรป เปิดหารือกันเกี่ยวกับการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในสถาบันที่สำคัญของอียู หลังการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
หลังจากถกเถียงอันอย่างเผ็ดร้อนมา 3 วันนางอูร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรปแทนที่ ฌอง โคล้ด จุงเกอร์ สำหรับการทำหน้าที่นี้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เมื่อการเสนอชื่อได้รับการรับรอง ฟอน เดอร์ เลเยน จะก้าวมานำพาคณะกรรมาธิการยุโรปเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆนานา ไล่ตั้งแต่ปัญหาโลกร้อนไปจนถึงข้อมูลข่าวสารเท็จ, ประชานิยมและเบร็กซิต
คริสติน ลาการ์ด อดีตรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2011 จะเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีบีซี)
ลาการ์ดระบุในถ้อยแถลงว่า “ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานธนาคารกลางยุโรป ซึ่งหลังจากผ่านการหารือกับคณะกรรมการด้านจริยธรรมของคณะกรรมการบริหารของ IMF แล้ว ดิฉันก็ได้ตัดสินใจที่จะสละตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ IMF เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการแต่งตั้งดังกล่าว”
โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปและเจ้าภาพการประชุมยืนยันการแต่งตั้งผ่านทวิตเตอร์ สิ้นสุดการเจรจาที่ยุ่งยากซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ช่วงเย็นวันอาทิตย์(30มิ.ย.) ท่ามกลางความเห็นที่แตกแยกและทะเลาะเบาะแว้งกัน
การเสนอชื่อ ฟอน เดอร์ เลเยน นักการเมืองหัวอนุรักษ์นิยมวัย 60 ปีเข้ามาอยู่ในความคิดของคณะกรรมาธิการ หลังจากการเสนอชื่อ ฟรานซ์ ทิมเมอร์แมนส์ นักการเมืองสายประชาธิปไตยสังคมนิยมของเนเธอร์แลนด์ไม่อาจฝ่าเสียงคัดค้านไปได้
บัญชีรายชื่อต่างๆ ที่เห็นพ้องโดยเหล่าผู้นำอียูทั้ง 28 ชาติ ยังรวมไปถึงการเสนอชื่อ ชาร์ลส์ มิเชล นายกรัฐมนตรีเบลเยียม เข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรียุโรปแทน ทัสค์ ส่วน โจเซฟ บอร์เรลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศสเปนจะก้าวมาเป็นผู้แทนระดับสูงด้านกิจการต่างประเทศแทนเฟเดริกา โมเกรินี
ผู้ถูกเสนอชื่อทุกคนยกเว้น มิเชล ยังจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภายุโรป และบุคคลระดับสูงหลายรายในกลุ่มกลางซ้ายของทิมเมอร์แมนส์ ส่งเสียงไม่พอใจต่อรายชื่อที่ถูกเสนอมา
หากได้รับการรับรอง ฟอน เดอร์ เลเยน จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 พฤศจิกายน หรือ 1 วันหลังจากกำหนดการในปัจจุบันที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
ฟอน เดอร์ เลเยน ได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญจากประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง จากฝรั่งเศส เช่นดียวจากกลุ่มวิแชกราด 4 อันประกอบด้วย ฮังการี, โปแลนด์, สาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย ซึ่งแรงสนับสนุนได้กล่าวช่วยปกป้องให้ ฟอน เดอร์ เลเยน หลุดพ้นจากชะตากรรมเดียวกับทิมเมอร์แมนส์
การประชุมต่อรองได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงเย็นวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) แต่หลังจากพูดคุยกันนานกว่า 18 ชั่วโมง การหารือก็พังครืนลงโดยปราศจากข้อตกลงใดๆ ในวันจันทร์ (1 ก.ค.) หลังจากกลุ่มวิแชกราด 4 และอิตาลี ปฏิเสธรับรองทิมเมอร์แมนส์ แสดงออกร่วมกันถึงความไม่พอใจที่ต่อบรัสเซลส์ในประเด็นผู้อพยพ จนสุดท้ายต้องถอนชื่อทิมเมอร์แมนส์ออกไป
อันเดรจ บาบิส นายกรัฐมนตรีสาธารรัฐเช็กระบุว่าเขาไม่อาจยอมรับทิมเมอร์แมนส์ได้ เนื่องจากเข้าผลักดันให้ใช้แนวทางนุ่มนวลในประเด็นผู้อพยพ “เขามักผลักดันนโยบายคนเข้าเมืองที่เราไม่อาจยอมรับได้ ดังนั้นชายคนนี้ถึงไม่เป็นที่ยอมรับ”