xs
xsm
sm
md
lg

In Clips :สื่อนอกรายงาน "ไทย" ก้าวหน้าใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าสู้ก่อการร้ายภาคใต้ แต่กลุ่มสิทธิฯออกมาค้าน "เลือกปฎิบัติ"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - กลายเป็นที่ฮือฮาบวกกับความไม่พอใจเกิดขึ้นเมื่อพบว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในภาคใต้ซึ่งมีประชากรมุสลิมส่วนมากถูกรัฐบาลไทยออกคำสั่งให้ทำการส่งภาพถ่ายไปให้ทางการเพื่อใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ( facial recognition software) ในการขุดรากถอนโคนกลุ่มผู้ก่อการไม่สงบ หากผู้ใช้รายใดไม่ทำตามจะถูกสั่งตัดสัญญาณมือถือ หมดเขตลงทะเบียน 31 ต.ค นี้ แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนมุสลิม สถาบันข้ามวัฒนธรรม( Cross Cultural Foundation) ออกมาโต้วานนี้(25 มิ.ย) ถือเป็นการเลือกปฎิบัติ และเทคโนโลยีนี้ยังมีปัญหาเป็นต้นว่า ในสหรัฐฯ เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของแอมะซอนที่เสนอให้ทางตำรวจสหรัฐฯใช้ทำงานผิดพลาด ระบุใบหน้าของสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ 28 คนเป็นผู้ต้องหากระทำความผิด

เอเอฟพีรายงานวันนี้(26 มิ.ย)ว่า ทางรัฐบาลไทยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ( facial recognition software )ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมเชื้อสายมาเลย์เป็นตัวการลอบวางระเบิดทำให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนับครั้งไม่ถ้วน แต่ทว่าคำสั่งให้ประชาชนที่อาศัยในภาคใต้และมีโทรศัพท์มือถือต้องลงทะเบียนกับทางการด้วยการส่งรูปถ่ายไปให้นั้นสร้างความไม่พอใจ

ซึ่งทางโฆษกกองทัพได้ออกมากล่าวปกป้องในวันพุธ(26) ชี้ว่า นโยบายการใช้ระบบจดจำใบหน้าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อต้องการถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์จุดระเบิด

ทั้งนี้พบว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมาอยูในความไม่สงบจากฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายมาเลย์ ซึ่งความรุนแรงในภูมิภาคได้คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 7,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนชาวมุสลิมและชามพุทธในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าอาจเป็นกลุ่มกบฎโดยที่ไม่ใช้หมายมาแล้วเมื่อครั้งอดีต

แต่ในเวลานี้บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้รับคำสั่งจากกองทัพให้ผู้ใช้จำนวนร่วม 1.5 ล้านคนในภาคใต้ต้องส่งรูปถ่ายของตัวเองเพื่อลงทะเบียนสำหรับจุดประสงค์การตรวจจับใบหน้าโดยเฉพาะ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมากเนื่องมาจากเส้นตายของการส่งรูปเพื่้อลงทะเบียนนั้นใกล้เข้ามา

โฆษกกองทัพภาค 4 กล่าวว่า ถือเป็นความจำเป็นที่ต้องระบุตัวผู้ลงมือก่อเหตุที่แอบใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนระเบิด "ในกรณีที่คนร้ายใช้โทรศัพท์มือถือจุดชนวนระเบิด ทางเราจะสามารถแกะรอยคนร้ายได้"

เอเอฟพีชี้ว่า อ้างอิงจากโฆษกกองทัพภาคที่ 4 พบว่าการลงทะเบียนส่งภาพถ่ายจะหมดเขตลงในวันที่ 31 ต. ค นี้ และผู้ที่พลาดไม่ส่งภายในกำหนดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และอีก 4 เขตของจังหวัดสงขลาจะต้องถูกลงโทษด้วยการถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์

ในวันอังคาร(25) นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาย้ำถึงนโยบายใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าว่า จะช่วยให้มี "หลักฐาน" ระบุตัวตนแท้จริงของผู้ใช้โทรศัทพ์มือถือ ประยุทธ์กล่าวว่า "ประชาชนในภาคใต้ไม่บ่น...เพราะพวกเขารู้ว่า มันจะช่วยลดความรุนแรงลง"

อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวมุสลิมในที่ภาคใต้และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างออกมากล่าวหารัฐบาลไทยมาตลอดว่า ทางการใช้ความรุนแรงกับประชาชนชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ในพื้นที่ ทำให้คนเหล่านี้รู้สึกตกเป็นเป้าในบ้านของตัวเอง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนมุสลิม สถาบันข้ามวัฒนธรรม( Cross Cultural Foundation) ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้(25)ว่า "การใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าที่มีข้อผิดพลาดจะนำไปสู่การใช้ชาติพันธุ์เป็นตัวกำหนดสำคัญ และนำไปสู่การจับกุมที่ผิดพลาด" และเสริมต่อว่า "ความเสี่ยงของการกีดกันทางเชื้อชาติอาจส่งผลต่อความไว้ใจตำรวจในพื้นที่"

เอเอฟพีชี้ว่า คำสั่งที่ออกมานี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้กับคนในภาคอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม โฆษกกองทัพภาคที่ 4 ย้ำว่า สำหรับผู้ใช้มือถือที่ไม่ได้ลงทะเบียนซิมการ์ดจากภาคอื่นๆที่เดินทางมายัง 3 จังหวัดชายแดนใต้จะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือใช้

สำหรับเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าในสหรัฐฯยังคงเป็นที่ถกเถียง ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา "ซานฟรานซิสโก" กลายเป็นเมืองแรกในสหรัฐฯที่ประกาศห้ามหน่วยงานประจำเมือง 53 หน่วยงานรวมถึงตำรวจซานฟรานซิสโกใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้ และในเดือนนี้เมืองโอ๊คแลนด์ที่มีพื้นที่ติดกับซานฟรานซิสโกอยู่ในขั้นพิจารณาการห้ามใช้การตรวจจับใบหน้าเช่นเดียวกัน

โดยประธานสภาเมืองโอ๊กแลนด์ รีเบคกา แคปแลน(Rebecca Kaplan) เป็นผู้เสนอญัตติการห้ามใช้เทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้าด้วยตัวเอง อ้างอิงการรายงานของสื่อซานฟรานซิสโก sfgate ในวันจันทร์(24)

โดยแคปแลนได้อ้างว่า เทคโนโลยีนี้ยังมีปัญหา "ระบบการจดจำใบหน้าขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลที่มีอคติ ที่มีอัตราความผิดพลาดระดับสูง และปราศจากมาตรฐานในการใช้ซึ่งมาสู่การระบุที่ผิดพลาดและควบคุมข้อมูล"

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมามีการทดสอบซอฟต์แวร์เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของแอมะซอน บริษัทค้าทางออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า "Rekognition software" เกิดปัญหาผิดพลาดระบุใบหน้าสมาชิกสภาคองเกรส 28 คนเป็นใบหน้าคนร้าย

โดยทางองค์กร สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ACLU เป็นผู้ทำการทดสอบ เกิดขึ้นหลังมีรายงานว่า ทางแอมะซอนพยายามที่จะขายเทคโนโลยีตัวนี้ให้กับหน่วยงานตำรวจของสหรัฐฯ

ในการทดสอบทาง ACLU ได้ใช้ระบบเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของแอมะซอนทำการสแกน โดยทางกลุ่มได้สร้างดาต้าเบสขึ้่นมาที่มีภาพของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมจำนวน 25,000 คน และฐานข้อมูลใบหน้าทุกคนของสมาชิกสภาล่างสหรัฐฯและสภาบนสหรัฐฯ

และผลปรากฎว่า ซอฟต์แวร์ตรวจจับทำงานผิดพลาด ระบุใบหน้าสมาชิกรัฐสภาคองเกรส 28 คนเป็นใบหน้าผู้ถูกจับกุมตัว โดยจากทั้งหมด 28 คนพบว่า มี 11 คนเป็นกลุ่มชนที่ไม่ใช่ผิวขาว ถือเป็นความผิดพลาด ถึงแม้ว่าในสภาคองเกรสจะมีสมาชิกที่ไม่ใช่ผิวขาวอยู่แค่ 20% นอกจากนี้ในกลุ่มที่ถูกระบุผิดพลาด มีสมาชิกคอคัสผิวดำ 6 คนรวมอยู่ในนั้น และผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนชื่อดังที่เป็นสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ จอห์น ลูอิซ(John Lewis) ยังถูกระบุว่าเป็นคนร้าย หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานวันที่้ 26 ก.ค 2018

นอกจากนี้ ในการศึกษาขององค์กรอิเล็กทรอนิก ฟรอนเทียร์ ฟาวเดชัน (Electronic Frontier Foundation) ที่ออกรายงานในวันที่ 15 ก.พ 2018 ชี้ว่า ระบบจดจำใบหน้านั้นคุกคามต่อเสรีภาพบุคคล และมีอคติต่อกลุ่มชนผิวสี โดยระบุว่า เทคโนโลยีนี้ตรวจจับผิดพลาดในกลุ่มแอฟริกันอเมริกัน ผู้หญิง และคนอายุน้อย เป็นอัตราที่สูงกว่ากลุ่มชายผิวขาวอายุมาก









กำลังโหลดความคิดเห็น