ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำท่าหวนกลับมาโฟกัสใหม่อีกครั้ง ในสิ่งซึ่งเขากล่าวหาว่าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ “ไม่เป็นธรรม” ทำให้เกิดความหวั่นผวากันว่านี่อาจจะเป็นลางบอกเหตุชี้ถึงพื้นที่สมรภูมิใหม่ของสงครามระดับโลก ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างความเสียหายหนักหน่วงร้ายแรงให้แก่เศรษฐกิจของพื้นพิภพนี้โดยรวม
ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์เข้าถล่มโจมตีรากฐานต่างๆ ที่เป็นตัวพยุงระบบการค้าของโลก ด้วยการเปิดศึกขึ้นภาษีศุลกากรพร้อมๆ กันในหลายแนวรบ ทั้งต่อชาติพันธมิตรและต่อประเทศที่เป็นปรปักษ์ ในเวลาเดียวกับที่คร่ำครวญร้องโวยว่าสหรัฐฯกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ
แต่จากกฎระเบียบชุดใหม่ที่ทางการสหรัฐฯกำลังพิจารณากันอยู่ในขณะนี้ โดยที่อาจผ่านออกมามีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดก็คือเดือนกรกฎาคมนี้ จะทำให้วอชิงตันสามารถขึ้นภาษีศุลกากรในลักษณะเป็นมาตรการลงโทษ เพื่อเล่นงานประเทศใดๆ ก็ตามที่สหรัฐฯวินิจฉัยตัดสินตามลำพังฝ่ายเดียวว่ากำลังปั่นค่าเงินตราของตนเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของประเทศเหล่านี้มีความได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าอเมริกัน
ในระยะหลังๆ ทรัมป์ได้กล่าวโจมตีพวกประเทศยูโรโซนอย่างเช่นเยอรมนีอยู่บ่อยครั้ง ว่ากำลังหาประโยชน์จากสกุลเงินยูโรที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมาก อย่างเช่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาพูดว่า “พวกเขา (ยูโรโซน) กำลังทำอย่างนี้โดยไม่ได้ถูกลงโทษมาเป็นปีๆ แล้ว เช่นเดียวกับจีนและชาติอื่นๆ อีก”
การที่ทรัมป์พูดโจมตี มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังก่อให้เกิดความรู้สึกกันว่า ความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการเงินที่ครั้งหนึ่งเคยมองกันว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาๆ ในเวลานี้กลับอาจถูกสหรัฐหยิบใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างความชอบธรรมในการเล่นงานคนอื่นๆ โดยอ้างว่าคือการตอบโต้แก้เผ็ด
พวกนักเศรษฐศาสตร์พากันเตือนว่า การนำเรื่องนี้มาใช้คือการเปิดประตูเพื่อทำสงครามเงินตราระดับโลก ซึ่งจะทำให้ทุกๆ ชาติสามารถโจมตีชาติอื่นๆ ได้ทั้งหมด และจะสร้างความเสียหายอันสาหัสร้ายแรง
ถ้าทรัมป์ตัดสินใจเดินไปในเส้นทางใหม่สายนี้ โดยที่น่าจะได้รับการหนุนหลังจากรัฐมนตรีพาณิชย์ วิลเบอร์ รอสส์ ผู้ขึ้นชื่อเรื่องมีแนวทางแข็งกร้าวสุดลิ่มทางด้านการค้าอยู่แล้ว อเมริกาเองก็มีจุดอ่อนเปราะที่จะถูกตอบโต้แก้เผ็ดไดแหมือนกัน เมื่อในที่สุดแล้วธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มต้นการตัดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตน อย่างที่ทรัมป์ได้พยายามกดดันบีบคั้นมาสักพักหนึ่ง
ทั้งนี้ ในโลกยุคปัจจุบันพวกธนาคารกลางธนาคารชาติทั้งหลาย ย่อมใช้การตัดลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังโซซัดโซเซ, ทำให้มูลค่าในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราของตนอ่อนตัวลงเพื่อกระตุ้นการส่งออก ซึ่งจะกลับมาส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว
มาร์ก ซอเบล ผู้เคยทำงานอยู่ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯมาเป็นแรมปีทั้งภายใต้คณะบริหารของพรรครีพับลิกันและของพรรคเดโมแครต กล่าวให้ความเห็นว่า เขามี “ข้อสงวนอย่างจริงจังหลายประการ” เกี่ยวกับแผนการใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณานี้
ในเอกสารความเห็นที่เขายื่นต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เขาบอกว่าการเปลี่ยนกฎระเบียบอย่างที่กำลังจะทำกันนี้ “เป็นความผิดพลาดในขั้นรากฐาน ... และอาจก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม อีกทั้งเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ”
มาตรการที่อาจจะไม่ให้ผลตามต้องการ
ตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมา พวกสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน ได้เคยเสนอแผนการที่จะเล่นงานชาติอื่นๆ ซึ่งปั่นอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินตราของพวกตน เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันในระบบการค้าของโลก
ทว่าความพยายามเหล่านั้น (ซึ่งในช่วงหลังๆ มานี้ แทบทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งเล่นงานจีน) ได้ถูกต่อต้านเรื่อยมา และท้ายที่สุดก็ถูกยกเลิกกันไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากถูกมองว่ามันเป็นมาตรการที่ละเมิดกฎกติกาทางการค้าของโลก
แล้วมันยังมีความย้อนแย้งบังเกิดขึ้นอีกด้วย กล่าวคือในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ จีนไม่ได้เข้าแทรกแซงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ยกเว้นแต่จะพยายามประคองไม่ให้ค่าเงินหยวนของตนลดต่ำลง ดังนั้นเมื่อมองกันในระยะยาวแล้ว ค่าเงินตราของแดนมังกรแข็งโป๊กขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังจากวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2008 (วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์)
ในปัจจุบัน กระทรวงการคลังสหรัฐฯถูกกฎหมายกำหนดให้จัดทำรายงานปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจตราและระบุชาติที่อาจมีพฤติการณ์ปั่นค่าเงิน
ทว่าตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 ทางกระทรวงไม่เคยก้าวไปถึงขั้นตอนสุดท้ายด้วยการประทับตราว่าประเทศหนึ่งประเทศใดเป็นนักปั่นค่าเงินเลย แม้กระทั่งในช่วงหลายปีตอนที่จีนยังแข็งขันมากในความพยายามทำให้เงินหยวนอ่อนค่า
มาถึงเวลานี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เคลื่อนเข้ามาชิงอำนาจการควบคุมประเด็นปัญหานี้ไปจากกระทรวงการคลัง ด้วยการเสนอออกกฎระเบียบที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งจะทำให้กระทรวงพาณิชย์สามารถปฏิบัติตอบโต้การปั่นค่าเงิน ในลักษณะเดียวกันกับที่กระทรวงใช้จัดการกับการที่รัฐบาลต่างชาติให้การอุดหนุนต่างๆ ที่เป็นการสร้างความเสียหายให้ผู้ผลิตอเมริกัน
ถ้ากฎระเบียบใหม่นี้ได้รับการอนุมัติให้บังคับใช้ กระทรวงพาณิชย์จะสามารถบังคับขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อชดเชยค่าเงินตราที่อ่อนตัวลงไปของต่างชาติ เวลานี้กระทรวงพาณิชย์กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนไปจนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดี (27) นี้ และอาจประกาศบังคับใช้กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงใหม่ ในเวลาใดๆ ก็ได้หลังจากนั้น
ตามข้อเสนอที่กำลังพิจารณากันอยู่ในเวลานี้ กระทรวงพาณิชย์บอกว่าจะอนุโลมคล้อยตามการประเมินของกระทรวงการคลังในเรื่องที่ว่าสกุลเงินตรานั้นๆ มีมูลค่าอ่อนเกินความเป็นจริงหรือไม่ “ยกเว้นเมื่อเรามีเหตุผลที่ดีซึ่งทำให้เชื่อเป็นอย่างอื่น”
ข้อความอันกำกวมเช่นนี้เองทำให้พวกนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเห็นว่ามีอันตราย หลายๆ คนเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์นั้นไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่จะทำการประเมินในเรื่องนี้ได้
แผนการนี้ “จะอนุญาตให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจมากเกินไป” ซอเบล บอก
ในอีกด้านหนึ่ง เป็นที่ยอมรับกันว่า มีความยากลำบากยวดยิ่งในเรื่องการคำนวณอย่างเป็นกลางปราศจากอคติว่า สกุลเงินตราหนึ่งใดกำลงมีมูลค่าต่ำเกินไปหรือไม่ และหากต่ำเกินไปจริงๆ แล้ว ต่ำไปในปริมาณเท่าใดแน่ๆ
สถาบันปีเตอร์ตันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics) ได้เคยจัดทำรายงานประเมินค่าอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินต่างๆ มาเป็นเวลาหลายปีทีเดียว แต่ได้ยุติลงไป “เนื่องจากมัน (การประเมิน) เป็นการทำตามใจชอบโดยสิ้นเชิง” แอดัม โพเซน ประธานบริหารของหน่วยงานคลังความคิดทางเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในกรุงวอชิงตันแห่งนี้ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวเมื่อไม่นานมานี้
โพเซนกล่าวอย่างเจาะจงว่า “จีนนั้นควรที่จะถูกเล่นงานอย่างหนักในช่วงต้นและกลางทศวรรษ 2000 สำหรับการปั่นค่าเงินตราอย่างมากมายมหาศาล” ทว่าหากจะทำเช่นนั้นในเวลานี้ มันกลับ “ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับความเลอะเทอะเหลวไหล”
(เก็บความจากเรื่อง Under Trump, currencies may become next global battleground ของสำนักข่าวเอเอฟพี)