xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนกอดคอต่อต้านกีดกันการค้า ไม่แตะเผือกร้อนทะเลจีนใต้-โรฮิงญา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี – เหล่าผู้นำอาเซียนต่อต้านลัทธิกีดกันการค้าและจะเร่งบรรลุข้อตกลงอาร์เซ็ปภายในปีนี้ ขณะที่สงครามการค้าอเมริกา-จีนแผ่อิทธิพลครอบคลุมการประชุม อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกล่าวถึงประเด็นร้อนเกี่ยวกับการส่งชาวโรฮิงญาที่หนีการถูกข่มเหงรังแกกลับเมียนมาร์ และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ไทยเป็นประธานประจำปีนี้ ระบุว่า ลัทธิกีดกันการค้ากำลังส่งผลกระทบต่อระบบการค้าพหุภาคี โดยในวันอาทิตย์ (23 มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เรียกร้องให้อาเซียนผนึกกำลังกันในการเจรจาเพื่อเร่งบรรลุความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปีนี้เพื่อชดเชยผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าที่ยังดำเนินอยู่

อาร์เซ็ปคือข้อตกลงการค้าที่ถูกมองว่า เป็นกลไกของจีนในการกำหนดกฎการค้าภายในเอเชีย-แปซิฟิก ภายหลังจากที่อเมริกาถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) นับจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ อาร์เซ็ปประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน รวมถึง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ถึงกระนั้น ความคืบหน้าของอาร์เซ็ปหยุดชะงักมานานหลายเดือนเนื่องจากอินเดียกลัวว่า สินค้าราคาถูกของจีนจะท่วมตลาด ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันเสาร์ (22 มิ.ย.) ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ได้เตือนว่า สงครามการค้าอเมริกา-จีนกำลังสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก พร้อมเรียกร้องให้สองชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกทำสิ่งที่ถูกต้องและแก้ไขข้อขัดแย้งก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามจนเกินควบคุม

นอกจากนี้ เหล่าผู้นำอาเซียนยังให้การรับรอง “ปฏิญญากรุงเทพฯ” เพื่อแก้ปัญหาขยะในทะเลที่รวมถึงขยะพลาสติกในภูมิภาคที่มีมลพิษทางน้ำรุนแรงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

หลายฝ่ายคาดว่าที่ประชุมอาเซียนในวันอาทิตย์จะโต้เถียงกันอย่างดุเดือดในประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้และการข่มเหงรังแกมุสลิมโรฮิงญาในพม่า อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นที่ร้อนแรงเหล่านี้

ผู้นำอาเซียนนั้นมักพยายามสร้างภาพความสามัคคีระหว่างการประชุมสุดยอดประจำปี แต่ที่ประชุมนี้ถูกวิจารณ์มาตลอดว่า ให้ความสำคัญกับความพิถีพิถันทางการทูตมากกว่าการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับปัญหาร้ายแรงที่สุดที่เผชิญอยู่ ถึงกระนั้น เมื่อวันเสาร์ มาเลเซียได้เรียกร้องให้นำตัวผู้ที่ข่มเหงรังแกชาวโรฮิงญามาดำเนินคดี

ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติกว่า 740,000 คนหนีออกจากเมียนมาร์ภายหลังการปราบปรามของกองกำลังความมั่นคงในปี 2017

ไซฟุดดิน บิน อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ระบุทางทวิตเตอร์ว่า การส่งตัวชาวโรฮิงญากลับพม่าต้องครอบคลุมถึงการให้สัญชาติแก่คนเหล่านั้น ซึ่งเป็นการพาดพิงโดยตรงต่อนโยบายอย่างเป็นทางการของเมียนมาร์ในการปฏิเสธการให้สัญชาติอย่างสมบูรณ์แก่ชนกลุ่มน้อยนี้ แต่กลับตีตราว่าเป็น “เบงกาลี” หรือผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

วิกฤตการณ์นี้ลุกลามไปทั่วภูมิภาค หลังจากเรือขนผู้อพยพเดินทางถึงชายฝั่งบังกลาเทศ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

จากรายงานที่รั่วไหลผ่านตาสำนักข่าวเอเอฟพี อาเซียนถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการเสนอแนะให้ส่งชาวโรฮิงญากลับเมียนมาร์ภายใน 2 ปี ทั้งที่ผู้อพยพเหล่านั้นไม่สมัครใจกลับไปเลย เนื่องจากกังวลกับความปลอดภัยของตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น