เอเอฟพี – มาเลเซียกล่าวในวันนี้ (22) ว่า ผู้ก่อความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในเมียนมาร์ต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความคิดเห็นเผ็ดร้อนที่ออกมาในการประชุมซัมมิทระดับภูมิภาคที่ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีความน่าสนใจนัก
เมียนมาร์ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองของพวกเขา แต่เรียกพวกเขาว่าเป็นชาวเบงกาลี คำเรียกสั้นๆ สำหรับผู้อพยพผิดกฎหมายที่มาจากบังกลาเทศ
การกวาดล้างของกองทัพในปี 2017 ผลักดันชาวโรฮิงญากว่า 740,000 คนเข้าสู่บังกลาเทศ และมีรายงานการข่มขืน สังหารหมู่ และเผาหมู่บ้านออกมามากมาย
เจ้าหน้าที่สืบสวนของยูเอ็นเรียกร้องให้กลุ่มนายพลระดับสูงของเมียนมาร์ถูกพิจารณาคดีข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาร์และผู้นำโดยพฤตินัย ออง ซานซูจี อธิบายว่าการกระทำดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อขับไล่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาออกจากรัฐยะไข่
ในการพูดคุยกับกลุ่มรัฐมนตรีชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วันนี้ (22) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ไซฟุดดิน บิน อับดุลเลาะห์ เรียกร้องให้ “กลุ่มผู้กระทำความผิดประเด็นโรฮิงญาถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” กระทรวงของเขา ระบุในทวีต
เขายังกล่าวด้วยว่า การรับชนกลุ่มน้อยนี่้กลับจากค่ายผู้ลี้ภัยอันเหม็นเน่าและแออัดในบังกลาเทศ “ต้องรวมถึงการให้สถานะพลเมืองแก่ชาวโรฮิงญาด้วย”
มาเลเซีย ประเทศมุสลิมที่รับรองประชากรผู้ลี้ภัชาวโรฮิงญาจำนวนมาก เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไม่กี่รายที่กล่าวปกป้องชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้
กลุ่มสมาชิก 10 ประเทศนี้ปกติจะยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกอื่นๆ
อาเซียนถูกกลุ่มสิทธิวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังรายงานที่กลุ่มจัดทำให้การยกย่องการทำงานของเมียนมาร์ในประเด็นการรับชาวโรฮิงญากลับประเทศ
รัฐยะไข่ พื้นที่ทางตะวันตก บ้านของชาวโรฮิงญา ยังคงถูกตัดขาดเนื่องจากความรุนแรง มีชนกลุ่มน้อยมุสลิมเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่ได้กลับบ้านภายใต้ข้อตกลงรับกลับประเทศอันฉาวโฉ่
เมียนมาร์ไม่ได้เสนอสถานะพลเมืองให้แก่ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศ หากพวกเขากลับไป ในขณะที่ชาวโรฮิงญาก็ต้องการการรับประกันความปลอดภัยและการชดใช้คืนที่ดินที่ถูกยึดและหมู่บ้านที่ถูกเผาก่อนถึงจะยอมกลับไป