xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: มะกันสั่งเพิ่มทหารในตอ.กลาง ยุนานาชาติลงโทษ ‘อิหร่าน’ โจมตีเรือ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กองทัพเรืออิหร่านส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดับเพลิงที่ลุกไหม้เรือบรรทุกน้ำมัน ฟรอนท์ อัลแทร์ (Front Altair) หลังถูกโจมตีในอ่าวโอมานเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.
สหรัฐฯ ประกาศจะเสริมกำลังทหารในตะวันออกกลางเพิ่มอีก 1,000 นาย พร้อมงัดหลักฐานใหม่ๆ กล่าวโทษอิหร่านว่าเป็นตัวการก่อวินาศกรรมเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวโอมานเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่จีนและรัสเซียวอนทุกฝ่ายอดกลั้นและหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะกระพือความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลาย

ท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ มีขึ้นพร้อมๆ กับที่อิหร่านออกมาขีดเส้นตาย 10 วันให้ 5 ชาติภาคีในข้อตกลงนิวเคลียร์ช่วยปกป้องอิหร่านจากบทลงโทษของสหรัฐฯ ไม่เช่นนั้นเตหะรานก็จะละเมิดเงื่อนไขควบคุมยูเรเนียมสมรรถนะต่ำซึ่งสัญญาระบุไว้ว่ามีได้ไม่เกิน 300 กิโลกรัมในระยะเวลา 15 ปี

ความสัมพันธ์อิหร่าน-สหรัฐฯ เริ่มเลวร้ายลงตั้งแต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นำอเมริกาถอนตัวจากแผนปฏิบัติการร่วมเบ็ดเสร็จ (JCPOA) หรือข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นผู้ริเริ่มไว้ ทั้งยังรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตร และประกาศขึ้นบัญชีดำกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) เป็นองค์กรก่อการร้าย

แพทริก แชนาแฮน รักษาการรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้อนุมัติส่งทหารไปยังตะวันออกกลางเพิ่มอีก 1,000 นายเมื่อวันจันทร์ (17) พร้อมอ้างว่าเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ “เป็นเครื่องยืนยันความน่าเชื่อถือของข่าวกรองที่เราได้รับมาเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวของอิหร่านและกลุ่มติดอาวุธตัวแทน ซึ่งกำลังคุกคามบุคลากรและผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทั่วภูมิภาค”

สหรัฐฯ กล่าวโทษอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีเรือ โคคุกะ เคอเรเจิส (Kokuka Courageous) สัญชาติญี่ปุ่น และเรือ ฟรอนท์ อัลแทร์ (Front Altair) ของนอร์เวย์ ในอ่าวโอมานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ และวิจารณ์ข้อสรุปของอเมริกาว่า “ไม่มีมูล”

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์ไปหว่านล้อมผู้นำทั้งในเอเชียและยุโรปให้เชื่อว่าหลักฐานที่สหรัฐฯ มีอยู่นั้นไม่ผิดพลาด และพิสูจน์ได้แน่นอนว่าอิหร่านเกี่ยวข้องกับเหตุวินาศกรรมเรือเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่นานาชาติจะต้องร่วมกันจัดการ ไม่ใช่ปล่อยให้สหรัฐฯ รับมืออยู่ฝ่ายเดียว

สัปดาห์ที่แล้ว วอชิงตันได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่เป็นภาพขาวดำพร่ามัว โดยอ้างว่ากองทัพอเมริกันบันทึกไว้ได้ขณะที่เรือตรวจการณ์อิหร่านแอบเข้าไปถอดระเบิดลิมเพ็ทไมน์ที่ยังไม่ทำงานออกจากข้างลำตัวเรือโคคุกะ

ต่อมากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังได้เผยแพร่ชุดภาพถ่ายใหม่ในวันจันทร์ (17) โดยระบุว่าเป็นภาพจุดที่เคยมีระเบิดติดอยู่บนเรือโคคุกะ, ภาพชาวอิหร่านบนเรือตรวจการณ์กำลังเข้าไปปลดระเบิด และร่องรอยความเสียหายจากระเบิดอีกลูกที่ทำงาน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดอิหร่านจึงกล้ากระทำการอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งที่มีกองกำลังสหรัฐฯ ป้วนเปี้ยนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

เยอรมนีระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าคลิปวิดีโอของสหรัฐฯ ไม่พอที่จะใช้เป็นหลักฐานกล่าวโทษอิหร่าน ขณะที่ประธานบริษัทเจ้าของเรือโคคุกะออกมาเผยว่า ลูกเรือเห็น “วัตถุบินได้” ลอยเข้าโจมตีถึง 2 ครั้งจนลำตัวเรือเกิดความเสียหาย

ฮอสเซน อารยัน นักวิเคราะห์ด้านการทหารซึ่งเคยทำงานกับกองทัพเรืออิหร่านนาน 18 ปีทั้งในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติอิสลามปี 1979 เชื่อว่าระเบิดลิมเพ็ทไมน์น่าจะถูกนำไปติดไว้ขณะที่เรือจอดทอดสมอ หรือไม่ผู้ก่อเหตุก็อาจส่งเรือเล็กหรือโดรนนำระเบิดเข้าไปติดขณะที่เรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำแล่นอยู่กลางทะเล
กองทัพเรือสหรัฐฯ โชว์เศษชิ้นส่วนระเบิดลิมเพ็ทไมน์ที่เก็บมาได้จากเรือบรรทุกน้ำมัน Kokuka Courageous สัญชาติญี่ปุ่น
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงในอเมริกาและยุโรปชี้ว่า เหตุโจมตีครั้งนี้ซับซ้อนและมีการวางแผนมาอย่างรัดกุม โดยจงใจทำให้เรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำเสียหายอย่างหนัก แต่ไม่มุ่งหวังเอาชีวิตลูกเรือ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าอิหร่านมีศักยภาพพอที่จะป่วนการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางได้มากกว่านี้ หากคิดที่จะทำ

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และ ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกของผู้นำหมีขาว เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “อดทนอดกลั้น” เพื่อไม่ให้สถานการณ์ในภูมิภาคย่ำแย่ลงไปอีก ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนก็เตือนทุกฝ่ายให้งดกระพือความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และย้ำสหรัฐฯ ว่า “อย่าเปิดกล่องแพนโดรา” ซึ่งหมายถึงอย่าทำในสิ่งซึ่งจะสร้างความวุ่นวายไม่จบสิ้น

หวัง ยังขอให้สหรัฐฯ เลิกใช้นโยบายกดดันขั้นสูงสุดกับอิหร่าน ขณะเดียวกันก็ขอให้เตหะรานอย่าเพิ่งด่วนละทิ้งข้อตกลงนิวเคลียร์

ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ประกาศเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ว่าอิหร่านจะฝ่าฝืนเกณฑ์ควบคุมยูเรเนียมสมรรถนะต่ำและน้ำมวลหนักที่ระบุไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 เพื่อตอบโต้การถอนตัวฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ และจะค่อยๆ ปลีกตัวออกจากข้อจำกัดต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. เป็นต้นไป หากคู่สัญญา 5 ชาติที่เหลือซึ่งได้แก่ อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ไม่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ หรือหาทางหลบเลี่ยงให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้ต่อไป

เบห์รูซ คามัลวันดี โฆษกองค์การพลังงานปรมาณูแห่งอิหร่าน เตือนเมื่อวันจันทร์ (17) ว่าเตหะรานจะครอบครองยูเรเนียมสมรรถนะต่ำเกินกว่า 300 กิโลกรัมภายในอีก 10 วันข้างหน้า แต่ก็ยังพอมีเวลาแก้ไขหากชาติยุโรปมีมาตรการเชิงรุกเพื่อปกป้องข้อตกลงนิวเคลียร์ไว้

ภายใต้ข้อตกลงที่ทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 อิหร่านรับปากจะจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ของตนเป็นเวลาหลายปี และอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบต่างชาติเข้าไปสังเกตการณ์ โดยแลกกับการที่สหรัฐฯ และตะวันตกยอมผ่อนคลายบทลงโทษทางเศรษฐกิจให้

สัญญาฉบับนี้ยังจำกัดจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuges) ที่อิหร่านครอบครอง และห้ามอิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินกว่า 3.67% ซึ่งต่ำกว่ายูเรเนียมเกรดอาวุธที่จะต้องมีความบริสุทธิ์ถึง 90%

อิหร่านยังถูกบังคับให้ต้องส่งออกยูเรเนียมเสริมสมรรถนะและน้ำมวลหนัก เพื่อรับประกันว่าคลังสำรองภายในประเทศจะไม่เกินกว่าที่นานาชาติกำหนด ทว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ก็ทำให้การส่งออกแทบจะเป็นไปไม่ได้

ทั้งนี้ ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสามารถใช้เป็นวัสดุฟิสไซล์ในอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนน้ำมวลหนักก็เป็นแหล่งของพลูโตเนียม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบทางเลือกสำหรับการผลิตหัวรบนิวเคลียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น