รอยเตอร์ - อินเดียเผยในวันพุธ(12มิ.ย.) ว่าจะดำเนินภารกิจส่งยานขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์เป็นครั้งที่ 2 ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ในขณะที่พวกเขาเคลื่อนไหวกระชับสถานะหนึ่งในผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการประสบความสำเร็จในการลงจอดภายใต้การควบคุมบนดวงจันทร์
หากประสบความสำเร็จในภารกิจนี้จะทำให้อินเดียกลายเป็นเพียงชาติที่ 4 ของโลกต่อจาก สหรัฐฯ, รัสเซียและจีน ที่สามารถลงจอดแบบ "นุ่มนวล" และปล่อยยานโรเวอร์แล่นบนพื้นผิวดวงจันทร์ หลังจากก่อนหน้านี้ จีน ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์และปล่อยยานโรเวอร์ลงสำรวจพื้นผิวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ยานอวกาศไร้มนุษย์ "จันทรายาน2" ซึ่งหมายความว่า "ยานดวงจันทร์"ในภาษาสันสกฤต จะประกอบด้วยยานโคจร, ยานลงจอดและยานโรเวอร์ ซึ่งสร้างโดยองค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย(ISRO)
ทาง ISRO เปิดเผยว่ายานอวกาศจันทรายาน2 มีกำหนดถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 15 กรกฎาคม โดยจรวด GSLV Mk-III ซึ่งจะมีต้นทุนจ่ายราวๆ 10,000 ล้านรูปี(ราว 4,500ล้านบาท)
หลังจากใช้เวลาเดินทางมากกว่า 50 วัน ยานลงจอดของ ISRO จะพยายามลงจอดอย่างนุ่มนวลและอยู่ภายใต้การควบคุม บนพื้นผิวของดวงจันทร์ ราวๆวันที่ 6 กันยายน
"ช่วง 15 นาทีสุดท้ายของการลงจอดจะเป็นช่วงเวลาที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดสำหรับเรา" เค.ศีวาน ประธาน ISRO ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันพุธ(12มิ.ย.) ขณะที่หน่วยงานแห่งนี้ระบุว่าแรงโน้มถ่วงที่แปรปรวนบนดวงจันทร์, ลักษณะภูมิประเทศและฝุ่น ล้วนแต่สามารถก่อปัญหาได้
ภารกิจของอินเดียหนนี้จะเป็นความพยายามลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ของปี 2019 หลังจากก่อนหน้านี้ จีนประสบความสำเร็จในการนำยานสำรวจ ฉางเอ๋อ 4 ลงจอด แต่ยานอวกาศเบเรชีต(Beresheet)ของอิสราเอล ประสบความล้มเหลว ร่วงกระแทกพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา "มันเป็นภารกิจที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่ ISRO เคยดำเนินการ" ศีวานกล่าว
อินเดียเคยประสบความสำเร็จในการส่งยานไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์มาแล้ว นั่นก็คือภารกิจยานจันทรายาน1 ในปี 2008 ซึ่งมีต้นทุน 79 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและช่วยยืนยันว่าบนดวงจันทร์นั้นมีน้ำอยู่จริง
แผนเดิมของ จันทรายาน2 จะเป็นความร่วมมือกับสำนักงานอวกาศรอสคอสมอสของรัสเซีย แต่ในปี 2013 อินเดียได้ยกเลิกความร่วมมือ สืบเนื่องจากความเห็นต่างทางเทคนิคกับโครงการของทางฝั่งรัสเซีย
นายกรัฐมนตรีโมดี ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในนโยบายด้านอวกาศ และช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อินเดียเผยว่าสามารถดำเนินการสอยร่วงดาวเทียมของตนเอง ทำให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นเพียงชาติที่ 4 ของโลกที่ครอบครองเทคโนโลยีดังกล่าว