ขณะที่สหรัฐฯนำขบวนรณรงค์ขับดันให้โลกตะวันตกมองเมินหัวเว่ย ด้วยการสร้างภาพแห่งความหวาดกลัวด้านความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมา ยักษ์ใหญ่เทคสัญชาติจีนแห่งนี้ก็แสวงหาหนทางเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะของตนในทวีปแอฟริกา ซึ่งอยู่ในสภาพปักหลักปักฐานอย่างเหนียวแน่นอยู่แล้ว
หัวเว่ยกำลังมีบทบาทเป็นผู้นำหน้าใครเพื่อนในการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่นหน้า นั่นคือ ระบบ 5 จี ในตลอดทั่วโลก
ทว่าบริษัทตกอยู่ในความปั่นป่วนทีเดียว ตั้งแต่ที่วอชิงตันกล่าวหาโดยไม่เคยแสดงหลักฐานพิสูจน์อย่างหนักแน่นเลยว่า อุปกรณ์ของบริษัทอาจถูกใช้เป็น “ม้าไม้เมืองทรอย” สำหรับหน่วยงานข่าวกรองของจีน
บริษัทแห่งนี้ซึ่งยังมีฐานะเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย ปฏิเสธอย่างเดือดดาลต่อข้อกล่าวหาเหล่านี้ กระนั้นสหรัฐฯก็ทวีออกแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ
แรงบีบคั้นของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้บริษัทจำนวนมากตัดสินใจที่จะถอยห่างไม่ทำธุรกิจหรือแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีกับหัวเว่ย ในจำนวนนี้ก็รวมถึงกูเกิล ซึ่งเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์” ที่เครื่องสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ใช้อยู่
ขณะเดียวกัน วอชิงตันยังถึงขั้นมุ่งบีบบังคับชาติพันธมิตรทั้งหลายให้ต้องเลือกเอาว่า จะตัดขาดจากจากหัวเว่ยและยืนอยู่ฝ่ายสหรัฐฯ หรือว่าจะเสี่ยงต่อการถูกวอชิงตันตัดทอนไม่ร่วมมือแลกเปลี่ยนแบ่งปันด้านข้อมูลข่าวกรองด้วย
ไม่เฉพาะแต่ประเทศที่ใกล้ชิดกับอเมริกาเท่านั้น จากการที่วอชิงตันกับปักกิ่งกำลังประหมัดกันในสงครามการค้าและเทคโนโลยีที่ขยายตัวบานปลายออกไปทุกทีเช่นนี้ ชาติทั้งหลายทั่วโลกต่างเผชิญกับภาวะอิหลักอิเหลื่อ ที่อาจจะต้องเลือกข้าง
ถึงแม้ดูจะอยู่ในสภาพตกเป็นฝ่ายรับโดยเฉพาะในโลกตะวันตก แต่หัวเว่ยใช่ว่าจะอับจนไปไหนไม่เป็นแล้ว เมื่อวันศุกร์ (7 มิ.ย.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศเข้าร่วมวงการต่อสู้นี้ ด้วยการประณามวอชิงตันว่าพยายามที่จะ “ผลักดันอย่างกักขฬะหยาบคาย” ให้หัวเว่ยต้องพ้นออกไปจากตลาดโลก ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เอ็มทีเอส ยักษ์ใหญ่เทเลคอมของรัสเซียก็ได้ลงนามในข้อตกลงกับหัวเว่ยเพื่อพัฒนาเครือข่าย 5 จี ขึ้นในแดนหมีขาว
ประธานาธิบดสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งเป็นแขกของปูตินเข้าร่วมในเวทีประชุมทางเศรษฐกิจนานาชาติในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ยังประกาศว่า จีน “พร้อมแล้วที่จะแบ่งปันแลกเปลี่ยนการประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีกับหุ้นส่วนทุกๆ ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยี 5 จี”
“แต่การต่อสู้ที่กำลังบานปลายออกไปเรื่อยๆ เช่นนี้ จะทำให้เหล่าชาติในแอฟริกาต้องเลือกด้วยหรือไม่ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของทวีปแห่งนี้?
อาไล-ข่าน ซัตชู นักวิเคราะห์อิสระทางด้านเศรษฐกิจซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ให้ความเห็นว่า ในที่สุดแล้วก็คงยากมากๆ ที่แอฟริกาจะทำเฉย และลงท้ายก็อาจต้องเลือกว่าจะอยู่ข้างไหนใน 2 ชาติยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจนี้
‘หัวเว่ย’มีฐานะมั่นคงในกาฬทวีป
หัวเว่ย ซึ่งเวลานี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งในความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็มองหาหนทางเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่สายสัมพันธ์ที่ตนเองมีอยู่กับแอฟริกา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทเพิ่งลงนามในข้อตกลงเพื่อเสริมเติมความร่วมมือกับองค์การสหภาพแอฟริกา (เอยู)
“นี่คือหนทางหนึ่งสำหรับแสดงให้เห็นว่า หัวเว่ยยังคงปรากฏตัวอยู่ในแอฟริกา และพวกเขายังต้องการรักษาฐานะการเป็นเพลเยอร์รายสำคัญ ด้วยการวางตำแหน่งพวกเขาเองในภาคเศรษฐกิจที่กำลังมีการเติบโตอย่างสำคัญมากนี้” รูเบน นิซาร์ด นักเศรษฐศาสตร์และผู้ชำนาญการอนุภูมิภาคซับ-ซาฮารา อยู่ที่ โกเฟซ บริษัทบริการทางการเงินสัญชาติฝรั่งเศส กล่าว
ดีลนี้ยังคงบังเกิดขึ้นถึงแม้หนังสือพิมพ์ เลอ มงด์ ของฝรั่งเศส รายงานเมื่อปี 2018 ว่า จีนได้แอบทำจารกรรมสืบความลับที่สำนักงานใหญ่ของเอยู ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย โดยที่อ้างอิงการเปิดเผยของแหล่งข่าวหลายรายภายในองค์การของเหล่าชาติแอฟริกาแห่งนี้
รายงานระบุว่าการล้วงความลับเริ่มขึ้นในปี 2012 ภายหลังการก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของเอยูแห่งนี้ ที่ได้รับความสนับสนุนทางการเงินจากจีน เสร็จสิ้นลงแล้ว และเพิ่งมาเอะใจกันต่อเมื่อพวกนักเทคนิคค้นพบว่า ข้อมูลจากพวกเซิร์ฟเวอร์ในอาคารนี้กำลังถูกส่งไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้
ทั้งจีนและเอยูต่างปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
หัวเว่ยนั้นได้ลงหลักปักฐานสร้างตัวเองในตลอดทั่วทั้งแอฟริกา นับตั้งแต่เริ่มเปิดตัวที่เคนยาในปี 1998 และเวลานี้ดำเนินการต่างๆ อยู่ใน 40 ประเทศ โดยเป็นผู้จัดส่งอุปกรณ์เครือข่าย 4 จี ให้กว่าครึ่งหนึ่งของกาฬทวีป
ทวีปแห่งนี้ยังจะกลายเป็นสถานที่โชว์ความยอดเยี่ยมแห่งเทคโนโลยี 5 จี ของหัวเว่ยอีกด้วย ในการแข่งขันฟุตบอล “แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์” ที่อียิปต์ ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่ 21 มิถุนายนนี้ จนถึง 19 กรกฎาคม
“แอฟริกาคือตลาดที่หัวเว่ยได้กำหนดเอาไว้ภายหลังการศึกษาพิจารณา และก็เป็นตลาดที่พวกเขาสามารถพิชิตได้แล้ว ซึ่งต้องขอบคุณการดำเนินยุทธศาสตร์แบบเชิงรุกบุกเต็มที่ โดยอิงอยู่กับการให้ความสนับสนุนทางการเงินดอกเบี้ยต่ำและระยะเวลาในการดำเนินงานอันรวดเร็ว” ซัตชู บอกกับเอเอฟพี
“ข้อเท็จจริงที่ว่า หัวเว่ยเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่อาคารเอยู ก็สะท้อนภาพให้เห็นอย่างชัดเจนหมดจดอยู่แล้ว” เขากล่าวต่อ
อันที่จริงการปรากฏตัวของหัวเว่ยในแอฟริกา ไปไกลเกินกว่าแค่การขายสมาร์ทโฟนและการสร้างเครือข่ายสื่อสารไร้สายเท่านั้น
ในแอฟริกาใต้ บริษัทเป็นผู้จัดการฝึกอบรม ณ บรรดามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศ โดยที่ในปีนี้กำลังเริ่มเปิดคอร์สพิเศษว่าด้วย 5 จี
ทางด้านเคนยา รัฐบาลได้ลงนามในดีลมูลค่า 17,500 ล้านชิลลิง (172 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) กับหัวเว่ยเมื่อเดือนเมษายน เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลและบริการต่างๆ สำหรับ “เมืองอัจฉริยะ”
บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนแห่งนี้ยังเสนอ โปรแกรมตรวจตราเฝ้าระวังสำหรับ “เมืองปลอดภัย”
เว็บไซต์ของหัวเว่ยบอกว่า โปรแกรมริเริ่มนี้ “สามารถป้องกันอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งพุ่งเป้าเล่นงานพลเมืองสามัญธรรมดา, นักท่องเที่ยว, นักเรียนนักศึกษา, คนชรา ฯลฯ ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นมา”
โปรแกรมนี้ได้ถูกนำมาใช้แล้วที่กรุงไนโรบี ของเคนยา และในประเทศมอริเชียส โดยที่มีการติดตั้งกล้องวิดีโอตรวจการณ์ “อัจฉริยะ” 4,000 ตัวตามจุดต่างๆ 2,000 จุดในมอริเชียส ซึ่งเป็นประเทศเกาะกลางมหาสมุทรอินเดีย
มีสื่อมวลชนบางรายในมอริเชียสประณามระบบนี้ว่าเป็น “ระบบเผด็จการทางดิจิตอล” จาก “บิ๊กบราเธอร์ ปักกิ่ง”
แต่รัฐมนตรีความมั่นคงของกานา ผู้มีนามว่า อัลเบิร์ต คาน-ดาปาห์ เป็นคนหนึ่งที่บอกว่า เทคโนโลยีวิดีโอเตรวจตามเฝ้าระวังของหัวเว่ย ช่วยให้สามารถจับกุมอาชญากรได้สำเร็จ
“เมื่อมีการก่ออาชญากรรมขึ้นมา ต้องขอบคุณกล้องเหล่านี้ เราสามารถทำงานได้อย่างมหัศจรรย์ “ คาน-ดาปาห์ กล่าวในวิดีโอโปรโมชั่นให้แก่บริษัทจีนรายนี้
นอกไปจากนั้นแล้ว ยังมี หัวเว่ย มารีน กิจการด้านสายเคเบิลใต้น้ำของบริษัทจีนแห่งนี้ ซึ่งกำลังช่วยเรื่องงานระบบเคเบิลสื่อสารใต้น้ำความยาว 12,000 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมแอฟริกากับเอเชีย
จากการที่หัวเว่ยหยั่งรากฐานฝังลึกแน่นหนาอยู่ในแอฟริกาเช่นนี้ จึงมีความหวั่นเกรงกันในทวีปนี้ว่า พวกตนอาจจะเจอลูกหลงจากการสู้รบระหว่างสหรัฐฯกับจีนเข้าจนได้
“แอฟริกากำลังตกอยู่ท่ามกลางสงครามการค้าซึ่งพวกเขาไม่ควรที่จะเข้ามีส่วนร่วมด้วยเลย เพราะพวกเขาจะไม่ได้รับผลดีอะไรขึ้นมา” นิซาร์ด บอก
(เก็บความและเพิ่มเติมจากเรื่อง Huawei turns to Africa to offset US blacklist ของสำนักข่าวเอเอฟพี)