xs
xsm
sm
md
lg

In Pics: สุดอึ้ง! ‘ภูเขาขยะ’ ในอินเดียจ่อสูงแซงหน้า ‘ทัชมาฮาล’ ในปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - กองขยะสูงที่สุดในอินเดียซึ่งตั้งตระหง่านราวกับภูเขาย่อมๆ คาดว่าจะมีความสูงแซงหน้า ‘ทัชมาฮาล’ ภายปีหน้า และกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของกรุงนิวเดลีซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยกให้เป็นเมืองหลวงที่มีมลพิษมากสุดในโลก

บ่อขยะคาซีปูร์ (Ghazipur) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงนิวเดลีมีพื้นที่มากกว่าสนามฟุตบอล 40 สนามรวมกัน และสูงขึ้นเกือบ 10 เมตรในทุกๆ ปี กลิ่นอันเหม็นคลุ้งของมันยังดึงดูดสัตว์หลายชนิด เช่น อีแร้ง วัวจรจัด สุนัข และหนู ให้พากันมาคุ้ยหาอาหาร

อรุณ กุมาร หัวหน้าฝ่ายวิศวกรประจำกรุงนิวเดลีฝั่งตะวันออก ระบุว่า ภูเขาขยะแห่งนี้มีความสูงกว่า 65 เมตร และด้วยอัตราการเพิ่มของขยะในปัจจุบันจะทำให้มันแซงหน้า ‘ทัชมาฮาล’ อนุสรณ์แห่งความรักอันเลื่องชื่อในเมืองอักราซึ่งสูง 73 เมตร ภายในปี 2020

ศาลสูงสุดอินเดียออกคำเตือนเมื่อปีที่แล้วว่า เร็วๆ นี้อาจจะต้องมีการติดตั้งสัญญาณไฟสีแดงเหนือบ่อขยะคาซีปูร์ เพื่อเตือนเครื่องบินที่ผ่านไปมาให้ระมัดระวัง

บ่อขยะแห่งนี้ถูกเปิดใช้งานเมื่อปี 1984 และแม้จะมีขยะสะสมจนเต็มพื้นที่ตั้งแต่ปี 2002 แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีรถบรรทุกขนสิ่งปฏิกูลมาทิ้งที่นี่วันละหลายร้อยคัน

“มีขยะถูกขนมาทิ้งที่คาซีปูร์ประมาณวันละ 2,000 ตัน” เจ้าหน้าที่เทศบาลกรุงนิวเดลีผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุ

ปีที่แล้วภูเขาขยะด้านหนึ่งได้พังถล่มลงมาขณะเกิดฝนตกหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 2 ราย และเจ้าหน้าที่ได้สั่งห้ามนำขยะมาทิ้งที่นี่อีก ทว่าคำสั่งดังกล่าวก็ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดกวดขันอยู่เพียงไม่กี่วัน

แก๊สมีเทนจากขยะยังก่อให้เกิดเพลิงไหม้บ่อยครั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการดับนานหลายวัน

ชาวบ้านส่วนใหญ่บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าขยะส่งกลิ่นเหม็นตลบอลอวลจนแทบจะหายใจไม่ได้

“เราต้องทนดมกลิ่นขยะจนเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในนรก มีคนล้มป่วยตลอดเวลา” ปูนีต ชาร์มา ชาวบ้านวัย 45 ปี ให้สัมภาษณ์

ผลวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า บ่อขยะคาซีปูร์เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร และยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

เมืองใหญ่ในอินเดียผลิตขยะมากถึงปีละ 62 ล้านตัน ขณะที่รัฐบาลประเมินว่าปริมาณขยะอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 165 ล้านตันภายในปี 2030

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เริ่มรณรงค์ส่งเสริมความสะอาดและสุขอนามัยในอินเดียตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2014 โดยทุ่มงบประมาณสร้างสุขาสาธารณะหลายหมื่นแห่ง และยังออกกฎระเบียบด้านการจัดการขยะในปี 2016 แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเสียงวิจารณ์จากองค์กรสิ่งแวดล้อมและศาลสูงสุดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาแต่เล่นการเมืองจนไม่พยายามแก้ไขวิกฤตขยะในนิวเดลีอย่างจริงจัง



กำลังโหลดความคิดเห็น