xs
xsm
sm
md
lg

จีนสะดุ้ง! สหรัฐฯ เตรียมขาย ‘โดรนสอดแนม’ ให้ 4 ชาติพันธมิตรรอบทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อากาศยานไร้คนขับ ‘สแกนอีเกิล’ ซึ่งผลิตโดยบริษัท Insitu ในเครือโบอิ้ง (Photo: Insitu/Handout via REUTERS)
รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าขายอากาศยานไร้คนขับเพื่อการสอดแนม (surveillance drones) ให้แก่ 4 ชาติพันธมิตรรอบทะเลจีนใต้ ขณะที่รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แพทริก แชนาแฮน ยืนยันว่าวอชิงตันจะตอบโต้พฤติกรรมของจีนในเอเชียอย่าง “ไม่เกรงใจ” กันอีกต่อไป

โดรนสอดแนมเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรวบรวมข่าวกรอง ซึ่งอาจยับยั้งกิจกรรมของจีนในภูมิภาคได้

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมด้านความมั่นคงประจำปี ‘แชงกรีลา ไดอะล็อก’ ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อวันเสาร์ (1 มิ.ย.) แชนาแฮน ได้กล่าวหา “ผู้กระทำ” บางรายว่ากำลังบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค พร้อมเตือนว่าสหรัฐฯ จะไม่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมของปักกิ่งอีกต่อไป

วันศุกร์ที่แล้ว (31 พ.ค.) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนจำหน่ายโดรน ‘สแกนอีเกิล’ (ScanEagle) ที่ผลิตโดยค่ายโบอิ้งจำนวน 34 ลำ ให้แก่รัฐบาลมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คิดเป็นมูลค่ารวม 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จีนอ้างความเป็นเจ้าของน่านน้ำในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และมักจะแสดงท่าทีโกรธเกรี้ยวเมื่อสหรัฐฯ หรือชาติพันธมิตรส่งเรือเข้าไปกระทำภารกิจใกล้หมู่เกาะที่จีนควบคุมอยู่

อย่างไรก็ดี รัฐบาลบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม ก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้บางส่วนเช่นกัน จึงทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทกับแดนมังกร

เพนตากอนระบุว่า ข้อตกลงจำหน่ายโดรนนี้ยังครอบคลุมถึงอะไหล่, อุปกรณ์สนับสนุน, เครื่องไม้เครื่องมือ, การฝึกฝน และบริการทางเทคนิคด้วย โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. ปี 2022

โดรนไม่ติดอาวุธ 12 ลำพร้อมอุปกรณ์เสริมจะถูกจำหน่ายให้แก่รัฐบาลมาเลเซียในราคาประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์สั่งซื้อประเทศละ 8 ลำ ส่วนเวียดนามสั่งซื้อ 6 ลำ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ริเริ่มปฏิรูปการส่งออกอาวุธในปี 2018 เพื่อให้อเมริกาสามารถจำหน่ายอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ แก่ชาติพันธมิตรได้มากขึ้น โดย ทรัมป์ เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมกลาโหมของอเมริกา และเพิ่มการจ้างงานในประเทศ

ความริเริ่มที่ว่านี้ยังรวมถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดในการส่งออกโดรนเพื่อการสังหาร (lethal) และโดรนไม่ติดอาวุธบางประเภทให้แก่ชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนหลายสิบราย

ทั้งนี้ แม้โดรน ‘สแกนอีเกิล’ จะไม่มีเวอร์ชันติดอาวุธ แต่บริษัท Insitu ในเครือโบอิ้งซึ่งเป็นผู้พัฒนาโดรนตัวนี้ก็ยังผลิตโดรน RQ-21A Blackjack ที่ใช้งานในกองทัพเรือและหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ซึ่งสามารถใช้เป็นโดรนติดอาวุธได้
กำลังโหลดความคิดเห็น