xs
xsm
sm
md
lg

‘ตุรกี’ เลิกซื้อน้ำมันจาก ‘อิหร่าน’ ตามใบสั่งสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเอฟพี - ตุรกีระงับการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แม้ว่าทั้ง 2 ชาติจะมีข้อบาดหมางกันอยู่ก็ตาม

เจ้าหน้าที่ตุรกีผู้หนึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธ (22 พ.ค.) ในระหว่างที่ ยาวุซ เซลิม คีราน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกีเดินทางไปเยือนวอชิงตัน โดยระบุว่า ตุรกีในฐานะที่เป็น “พันธมิตรทางยุทธศาสตร์” ของสหรัฐฯ ย่อมต้อง “เคารพ” คำสั่งคว่ำบาตรของวอชิงตัน

หลังจากที่นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์เมื่อ 1 ปีก่อน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้สั่งรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงเพื่อสกัดกั้นการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน รวมถึงขู่เล่นงานประเทศที่รับซื้อน้ำมันจากเตหะรานด้วย

ตุรกี จีน อินเดีย และญี่ปุ่น อยู่ในกลุ่ม 8 ประเทศที่เคยได้รับการผ่อนผันจากสหรัฐฯ ให้ซื้อน้ำมันอิหร่านได้ในปริมาณที่จำกัด ทว่ามาตรการยกเว้นดังกล่าวได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. โดย ทรัมป์ ยืนยันว่าจะไม่ต่ออายุอีก

แม้อังการาจะมีท่าทีไม่เต็มใจปฏิบัติตามคำสั่งสหรัฐฯ ในช่วงแรกๆ แต่เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามยืนยันว่า ตุรกีได้งดนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านอย่างสิ้นเชิงหลังวันที่ 2 พ.ค.

คณะผู้แทนตุรกีได้เข้าพบ ทรัมป์ เพื่อหารือแนวทางคลี่คลายความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติพันธมิตรนาโต ซึ่งรวมถึงเรื่องที่ตุรกีสั่งซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 จากรัสเซีย

สหรัฐฯ ชี้ว่าข้อตกลงซื้อขายอาวุธระหว่างอังการากับมอสโกเป็นภัยคุกคามต่อระบบป้องกันของโลกตะวันตก และได้ส่งสัญญาณเตือนด้วยการระงับจัดส่งอุปกรณ์และความร่วมมือทุกอย่างที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาสุดยอดเครื่องบินขับไล่ F-35 กับตุรกีเมื่อวันที่ 1 เม.ย.

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศตุรกียืนยันผ่านสื่ออเมริกันว่า “นี่คือสิ่งที่ได้ตกลงกันไปแล้ว” ซึ่งถือเป็นการย้ำจุดยืนว่าตุรกีจะไม่ฉีกสัญญากับแดนหมีขาว

ตุรกีเสนอที่จะตั้งคณะทำงานด้านเทคนิคร่วมกับรัฐบาลทรัมป์เพื่อบรรเทาความกังวลของสหรัฐฯ ซึ่งเกรงว่าระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 อาจบันทึกรวบรวมข้อมูลด้านเทคโนโลยีของเครื่องบินทหารนาโต และทำให้รัสเซียเข้าถึงข้อมูลลับเหล่านี้ได้

เจ้าหน้าที่ตุรกีคนเดิมระบุว่า “เรายังคงรอคำตอบจากสหรัฐฯ” เกี่ยวกับข้อเสนอนี้

สหรัฐฯ และตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรในกลุ่มนาโตเริ่มขัดแย้งกันเองหลังจากที่อเมริกาเข้าไปหนุนหลังกองกำลังเคิร์ด YPG ในซีเรีย ซึ่งตุรกีถือว่าเป็นสาขาของพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ที่ก่อความไม่สงบในตุรกีมานานหลายสิบปี รวมถึงการที่วอชิงตันไม่ยอมเนรเทศ เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาซึ่งรัฐบาลตุรกีเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารโค่นประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน เมื่อปี 2016
กำลังโหลดความคิดเห็น