xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ก่อตั้งเผยทรัมป์ดูแคลนศักยภาพหัวเว่ย มาตรการแบนส่อเค้าทุบหม้อข้าวบ.มะกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเจนซีส์ – ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยชี้ทรัมป์ประเมินความแข็งแกร่งของหัวเว่ยต่ำเกินไป ชี้การชะลอมาตรการแบน 90 วันไม่มีนัยสำคัญเพราะบริษัทเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ขณะที่สื่อจีนรายงานว่า หัวเว่ยกำลังทดสอบระบบปฏิบัติการของตัวเองในชื่อ “หงเมิ่ง” ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังตั้งข้อสังเกตว่า การแบนยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมแดนมังกรแห่งนี้อาจทำให้บริษัทอเมริกันเองสูญเสียรายได้มหาศาลและสร้างความเสี่ยงต่อการจ้างงานกว่า 70,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ ระยะยาวอาจทำให้บริษัทจีนฮึดสู้พัฒนานวัตกรรมเพื่อปลดแอกตัวเองจากซิลลิคอนแวลลีย์ ในจำนวนนี้รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มที่ 3 สำหรับมือถือ

เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ให้สัมภาษณ์สื่อจีนในวันอังคาร (20 พ.ค.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งที่หวังตัดวงจรธุรกิจของหัวเว่ยในอเมริกา อีกทั้งเป็นความพยายามล่าสุดในหยุดยั้งการเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5จีของหัวเว่ยว่า วิธีปฏิบัติปัจจุบันของนักการเมืองอเมริกันเป็นการประเมินความแข็งแกร่งของหัวเว่ยต่ำเกินจริง

เหรินสำทับว่า เทคโนโลยี 5จีของหัวเว่ยจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ และว่า ภายใน 2-3 ปีนี้จะไม่มีใครตามทันเทคโนโลยีของบริษัท

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติขึ้นบัญชีดำบริษัทที่เข้าข่ายเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป้าหมายของผู้นำทำเนียบขาวคือหัวเว่ย

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศห้ามบริษัทอเมริกันขายหรือถ่ายโอนเทคโนโลยีให้หัวเว่ย ส่งผลให้เมื่อวันอาทิตย์ (19) กูเกิลแถลงตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับหัวเว่ย ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้สมาร์ทโฟนของบริษัทจีนแห่งนี้ เนื่องจากจะไม่สามารถเข้าถึงแอปพลิเคชันและบริการที่เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของกูเกิลที่รวมถึงจีเมล, กูเกิล แมปส์ และยูทูบ

กระนั้น เมื่อวันจันทร์ (20) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แถลงเลื่อนการแบนหัวเว่ยออกไป 90 วันด้วยการให้ใบอนุญาตชั่วคราวและจะประเมินว่า จะขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่ โดยวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ระบุว่า เพื่อให้ผู้ดำเนินการระบบโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ที่พึ่งพิงอุปกรณ์หัวเว่ยมีเวลาปรับเปลี่ยนระบบ

เควิน วูล์ฟ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่า คำสั่งนี้มีเป้าหมายป้องกันไม่ให้อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และระบบโทรศัพท์มือถือในอเมริกาล่ม

ขณะที่ดักลาส จาค็อบสัน นักกฎหมายการค้าในวอชิงตัน เชื่อว่า วอชิงตันต้องการสังเกตการณ์ผลกระทบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สินค้าและเทคโนโลยีของหัวเว่ยแพร่หลายทั่วโลก ดังนั้น หากอเมริกากีดกันบริษัทแห่งนี้ก็ย่อมส่งผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เกี่ยวกับการชะลอคำสั่งแบนจนถึงวันที่ 19 สิงหาคมนั้น เหรินกล่าวว่า ไม่มีผลเท่าไหร่ เนื่องจากหัวเว่ยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์นี้ไว้แล้ว และเสริมว่า หัวเว่ยกำลังหารือกับกูเกิลในการรับมือมาตรการแบน

ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยยังยกย่องกูเกิลว่า เป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบสูง

สำหรับการเข้าถึงชิ้นส่วนสำคัญของหัวเว่ยนั้น เหรินแจกแจงว่า ชิปครึ่งหนึ่งมาจากอเมริกา และอีกครึ่งบริษัทผลิตเอง กระนั้น เขาบอกว่า หัวเว่ยไม่สามารถตัดขาดจากโลก และแม้ผลิตชิปได้ในมาตรฐานเดียวกับอเมริกา แต่ไม่ได้หมายความว่า บริษัทจะเลิกซื้อชิปอเมริกัน

ทว่า แพทริก มัวร์เฮด จากมัวร์ อินไซต์ส แอนด์ สแตรทเทอจี กลับมองว่า ถ้ามาตรการแบนคงอยู่ต่อไป หัวเว่ยจะได้รับความเสียหายแน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสมาร์ทโฟน รวมถึงศูนย์ข้อมูล และตลาดเครือข่ายการสื่อสาร

อนึ่ง ขณะที่หัวเว่ยผลักดันตัวเองมานานหลายปีจนก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งในเทคโนโลยี 5จี หน่วยงานข่าวกรองอเมริกันกลับเชื่อว่า บริษัทแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพจีน และอุปกรณ์หัวเว่ยถูกใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมให้ปักกิ่ง จึงพยายามกดดันพันธมิตรให้ปฏิเสธเทคโนโลยีของหัวเว่ย ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญเนื่องจากปัจจุบันมีตัวเลือกเครือข่าย 5จีน้อยมาก

แม้ออสเตรเลียเดินตามรอยอเมริกาด้วยการขัดขวางหัวเว่ยไม่ให้มีส่วนร่วมในแผนการ 5จี แต่พันธมิตรบางประเทศ เช่น อังกฤษกลับมีข่าวว่า อนุมัติให้หัวเว่ยมีบทบาทในการสร้างเครือข่าย 5จีแบบจำกัด

ขณะเดียวกัน แคนาดาถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งนี้จากการจับกุมเมิ่ง หว่านโจว บุตรสาวผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) หัวเว่ยเมื่อเดือนธันวาคม และอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อส่งตัวให้อเมริกาดำเนินคดีต่อในข้อหาละเมิดมาตรการแซงก์ชันอิหร่าน โดยหลังจากนั้นไม่นานปักกิ่งตอบโต้ด้วยการจับชาวแคนาดา 2 คน ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นอดีตนักการทูต

เหรินกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หัวเว่ยเสียสละตัวเองและครอบครัวเพื่อบรรลุเป้าหมายในการขึ้นเป็นผู้นำในตลาดโลก แม้รู้ว่า เป้าหมายนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับอเมริกาไม่ช้าก็เร็ว

การโจมตีหัวเว่ยทำให้สงครามการค้าอเมริกา-จีนทวีความตึงเครียด จาง หมิง ผู้แทนของจีนในสหภาพยุโรป (อียู) วิจารณ์ว่า การแบนหัวเว่ยเป็นพฤติกรรมที่ผิดและต้องมีการโต้ตอบที่จำเป็น

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์บางคนมองว่า มาตรการแซงก์ชันของทรัมป์อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อบริษัทหลายแห่งของอเมริกาที่เป็นองค์ประกอบในห่วงโซ่อุปทานของหัวเว่ย เฉพาะปีที่แล้วบริษัทอเมริกันขายชิ้นส่วนให้หัวเว่ยเป็นมูลค่าถึง 11,000 ล้านดอลลาร์

รายงานจากอินฟอร์เมชัน เทคโนโลยี แอนด์ อินโนเวชัน ฟาวน์เดชันที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ระบุว่า มาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีของอเมริกาอาจทำให้บริษัทอเมริกันสูญเสียยอดส่งออกถึง 56,300 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 5 ปี และอาจคุกคามการจ้างงานในอเมริกาถึง 74,000 ตำแหน่ง

บลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้ผลิตชิปของอเมริกา ได้แก่ อินเทล, ควอลคอมม์, บรอดคอม และซีลิงก์ แจ้งหยุดการจัดส่งให้หัวเว่ยแล้ว ขณะที่ไมโครซอฟท์ที่จัดหาระบบปฏิบัติการวินโดว์สให้อุปกรณ์หลายประเภทของหัวเว่ย ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ

กระนั้น บ็อบ โอดอนเนลล์ จากบริษัทที่ปรึกษา เทคนาลิสิส รีเสิร์ช กล่าวว่า การแบนหัวเว่ยน่าจะส่งผลกระทบต่อไมโครซอฟต์เช่นเดียวกัน และสำทับว่า หัวเว่ยและบริษัทจีนแห่งอื่นๆ อาจฮึดสู้ด้วยการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เพื่อปลดแอกตัวเองจากซิลิคอนแวลลีย์ เผลอๆ หัวเว่ยอาจพัฒนาแพล็ตฟอร์มที่ 3

สำหรับโทรศัพท์มือถือ โดยเมื่อวันจันทร์ หนังสือพิมพ์โกลบัล ไทมส์ของทางการจีนรายงานว่า หัวเว่ยกำลังทดสอบระบบปฏิบัติการของตัวเองภายใต้ชื่อ “หงเมิ่ง” และจะนำมาใช้แทนแอนดรอยด์อย่างค่อยเป็นค่อยไป

โรเจอร์ เคย์ ผู้ก่อตั้งและนักวิเคราะห์ของเอนด์พอยต์ เทคโนโลยีส์ แอสโซซิเอตส์ ระบุว่า ในระยะสั้นนั้นทั้งบริษัทอเมริกันและจีนจะได้รับผลกระทบแง่ลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับระยะยาว หัวเว่ยและบริษัทอื่นๆ ของจีนอาจหันหลังให้ซัปพลายเออร์อเมริกัน และพัฒนาไมโครโปรเซสเซอร์และชิ้นส่วนอื่นๆ ใช้เอง

เอวี กรีนการ์ต ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย เทคสโปเนนเชียล ขานรับว่า การแบนการขายชิ้นส่วนและเทคโนโลยีให้หัวเว่ยอาจส่งผลเป็นวงกว้างต่อบริษัททั้งขนาดใหญ่และเล็กของสหรัฐฯ ไม่เว้นแม้แต่แอปเปิลที่แม้อาจได้ประโยชน์ในตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมียมในยุโรป แต่ต้องเผชิญความเสี่ยงใหญ่หลวงกว่าหากเจอกระแสต่อต้านในตลาดจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น