(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
A tipping point for Sino-US relations?
By Christina Lin
13/05/2019
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังเลวร้ายลง และบางคนบางฝ่ายตั้งคำถามว่าสงครามกำลังตั้งเค้าขึ้นมาแล้วใช่ไหม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปุจฉาเช่นนี้ ทว่าจากสงครามการค้าที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง บวกกับความผูกพันกันทั้งทางการเมือง, การทูต, และการทหารที่เสื่อมถอยเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทำให้เสียงเตือนที่ว่า กำลังมาถึง “จุดพลิกผัน” กันแล้ว ดังขึ้นมาไม่ขาดสาย
พวกนักวิเคราะห์ทั้งอเมริกันและจีนต่างส่งเสียงเตือนกันบ่อยครั้งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯกำลังมาถึง “จุดพลิกผัน” ซึ่งถัดจากนี้ทั้งสองประเทศจะมีข้อสรุปว่าการสู้รบขัดแย้งกันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเริ่มต้นเตรียมตัวรับมือกับสงคราม แล้วจากโฉมหน้าของความตึงเครียดระดับทวิภาคีในปัจจุบัน ซึ่งสงครามการค้าที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องข้ามปี เข้าบรรจบกับสายสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั้งในทางการเมือง, การทูต, และการทหาร ใครๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เรากำลังใกล้จะถึงจุดที่ว่านั้นใช่หรือไม่
ไม่เพียงเฉพาะแค่วอชิงตันระงมด้วยถ้อยคำต่อต้านจีนอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนยิ่งขึ้น โดยที่บางคนบางฝ่ายไปไกลถึงขนาดเรียกจีนว่าเป็นจักรวรรดิไรช์ที่ 3 แห่งใหม่ (new Third Reich) [1] (ซึ่งก็คือการประทับตราว่าจีนกำลังมีพฤติการณ์เหมือนกับนาซีเยอรมัน -ผู้แปล) นอกจากนั้นแล้วยังแสดงออกถึงความเป็นศัตรูกับจีนด้วยการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ล็อตใหม่ๆ ให้ไต้หวัน [2] และข่มขู่คุกคามที่จะใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรจากข้อกล่าวหาที่ว่าจีนกำลังตั้งค่ายกักกันขึ้นในซินเจียง [3] –ถึงแม้ทั้งไต้หวันและซินเจียงนั้น ปักกิ่งถือว่าเป็นดินแดนในอธิปไตยของตน
นอกจากนั้นแล้ว สหรัฐฯยังกำลังตรวจการณ์อย่างแข็งกร้าวตามน่านน้ำและน่านฟ้าที่อยู่นอกชายฝั่งต่างๆ และเกาะต่างๆ ของจีน, กำลังพยายามแบ่งแยกตัดขาดการพึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างจีนกับอเมริกา, กำลังจำกัดเข้มงวดเรื่องการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทางการศึกษา, กำลังจับกุมพวกผู้บริหารภาคบริษัทของจีน, และกำลังพยายามที่จะก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายการลงทุนที่มีอยู่แล้วของจีน และบอยคอตต์การลงทุนใหม่ๆ จากแดนมังกร [4]
จากการก่อตั้งกลุ่ม “คณะกรรมาธิการว่าด้วยอันตรายที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน: จีน” (Committee on the Present Danger: China) ขึ้นมา โดยประกาศหลักการชี้นำของตนซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า “ไม่มีความหวังใดๆ เลยที่จะสามารถอยู่ร่วมกับกับจีน ตราบใดที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังเป็นผู้ปกครองประเทศนั้นอยู่” [5] เช่นนี้แล้วมันก็ดูเหมือนว่า จีนน่าจะถูกประทับตราทำเครื่องหมายเอาไว้แล้ว ว่าคือเป้าหมายแห่ง “การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง” รายต่อไป ภายหลังจากเวเนซุเอลาและอิหร่าน
ขณะที่สหรัฐฯทำถูกต้องแล้วที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่จีนกระทำเรื่องผิดพลาดและขาดตกบกพร่องในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต, นโยบายที่ใช้ปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย, การจำกัดควบคุมทางศาสนา, การเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้, การใช้วิธีปฏิบัติทางการค้าแบบลัทธิพาณิชย์นิยม (Mercantilism) แต่การพุ่งพรวดของพวกสุดโต่งต่อต้านจีนในวอชิงตันก็กลายเป็นการลั่นระฆังเตือนภัยสำหรับบรรดานักวิชาการด้านจีนผู้มีวุฒิภาวะผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก
อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซูซาน เชิร์ค (Susan Shirk) เป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้ เธอออกมาพูดเตือนว่า การกระพือภัยคุกคามของจีนจนเฟ้อจนเกินความเป็นจริงไปมาก “อาจกลับกลายเป็นการถลำเข้าสู่ “ความหวาดกลัวภัยแดงแบบลัทธิแมคคาร์ธี” (McCarthyite Red Scare) [6] นี่ก็เป็นความกังวลซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เควิด รัดด์ (Kevin Rudd) เห็นพ้องด้วย [7] โดยที่รัดด์ตั้งข้อสังเกตว่า “พื้นที่สาธารณะสำหรับการถกเถียงและการอภิปรายอย่างเปิดกว้างและผ่านการขบคิดอย่างถี่ถ้วนในปัญหาว่าด้วยจีนนั้น กำลังหดแคบลงไปเรื่อยๆ ขณะที่การประณามว่าร้ายกันกำลังเติบโตขยายตัว” [8]
เช่นเดียวกับ เดวิด แลมป์ตัน (David Lampton) นักจีนวิทยา (sinologist) แห่ง ไซส์ (SAIS ซึ่งเป็นคำย่อของ Paul H. Nitze School of Advanced International Studies วิทยาลัยระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์) ที่ชี้ว่า ภายหลังจากเขาใช้เวลามา 20 ปีในการทำให้พวกปัญญาชนชาวจีนเกิดความมั่นอกมั่นใจว่านโยบายของสหรัฐฯไม่ได้อยู่ในแนวทางของการมุ่งปิดล้อม เวลานี้ทัศนะของเขาเองกลับเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากนโยบายของสหรัฐฯตอนนี้ “มันทำให้ผมมองเห็นไปว่า เรากำลังตั้งท่าบ่ายหน้าไปในทิศทางนั้นนั่นแหละ” [9]
เอกอัครราชทูต แชส ฟรีแมน(Chas Freeman) [10] เข้าร่วมกับ ซูซาน เชิร์ค ในการชักชวนเสนอแนะว่า สหรัฐฯควรที่จะเพิ่มพูนยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตนเองให้สูงขึ้น แทนที่จะพยายามลดทอนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของคนอื่นๆ ต้องเดี้ยงไป ขณะที่อดีตประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ออกมาตักเตือนว่า “ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่สมควรที่จะใช้เรื่อง 'ความมั่นคงแห่งชาติ' มาเป็นข้ออ้างข้อแก้ตัวสำหรับการขัดขวางรบกวนกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศอื่นๆ” [11]
สำหรับ รุดด์ แล้ว [12] ปี 2017 คือปีหลักหมายแสดงถึงการปรับเปลี่ยนทางหลักคิดในระดับรากฐานที่สหรัฐฯมีต่อจีน โดยจากที่มุ่งมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในทางยุทธศาสตร์ ก็หันมาดำเนินการแข่งขันกันในทางยุทธศาสตร์กับจีน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติปี 2017 (2017 National Security Strategy), เอกสารยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติสหรัฐฯปี 2018 (2018 US National Defense Strategy), การเปิดฉากทำสงครามการค้าในเดือนมิถุนายน 2018, และการกล่าวคำปราศรัยแบบแนวทางแข็งกร้าวโดยรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ณ สถาบันฮัดสัน (Hudson Institute) ในเดือนตุลาคม 2018[13] รุดด์สันนิษฐานว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นการประกาศเจตนารมณ์แบบรวมหมู่กันในรูปแบบหลายหลากของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทำให้ยุคสมัยแห่ง “ปฏิสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์” จีน-สหรัฐฯในยุคหลังปี 1978 เป็นอันสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิดของแนวทางวิธีการแบบ “การแข่งขันกันทางยุทธศาสตร์” น่าที่จะเริ่มต้นขึ้นมาก่อนหน้านั้นไปอีก ได้แก่การที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯในเวลานั้น ได้ประกาศมุ่งตะวันออก ด้วยการ “รวมศูนย์หวนกลับคืนสู่เอเชีย” (Pivot to Asia) เมื่อปี 2012 ซึ่งก็ถูกตอบโต้อย่างรวดเร็วจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในปี 2013 ด้วย “การมุ่งสู่ตะวันตก” (March West) [14] ข้ามไปทั่วทั้งยูเรเชีย โดยผ่านข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) แนวคิดเรื่องนี้ได้รับการแจกแจงอย่างรัดกุมเป็นครั้งแรกโดย หวัง จีซือ (Wang Jisi) ในบทความที่เผยแพร่ทาง โกลบอลไทมส์ (Global Times) ในปี 2012 [15] เมื่อตอนที่จีนเกิดความรับรู้เกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า ตนเองกำลังถูกผลักจนเสียสมดุล และถูกปิดล้อมทั้งทางการทหารและทางเศรษฐกิจทางบริเวณปีกตะวันออกของตนเอง โดยผ่านทางข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP) ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นศูนย์กลางและกีดกันจีนออกไป, การเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มพันธมิตรทางทหารต่างๆ ของสหรัฐฯ, และการเพิ่มขยายทรัพย์สินทางการทหารของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออก [16]
ในการตอบโต้เพื่อสร้างความสมดุลขึ้นมาใหม่ จีนได้เดินตามคำกล่าวของเหมา เจ๋อตง [17] ที่ว่า “ข้าศึกรุก เราถอย, ข้าศึกถอย เราตาม” และรวมศูนย์ให้ความสำคัญในการมุ่งสู่ด้านตะวันตก ข้ามไปทั่วทั้งยูเรเชีย ด้วยการเปิดตัวแผนการ BRI ขึ้นในเดือนกันยายน 2013 ในการดำเนินการเช่นนี้ ปักกิ่งวาดหวังว่าตนจะสามารถหลีกเลี่ยงจากการเผชิญหน้าจีน-สหรัฐฯในเอเชียตะวันออก ไม่ให้เพิ่มทวีขึ้นอีก และส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือกันในประเด็นปัญหาความมั่นคงที่มิใช่ประเด็นปัญหาตามแบบแผน เป็นต้นว่า การต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย, และการสร้างเสถียรภาพภายหลังการสู้รบขัดแย้งขึ้นมาในอัฟกานิสถานและปากีสถาน
กระนั้นก็ตาม เรื่องการรวมศูนย์มุ่งสู่ทางตะวันตกนี้ ไม่ได้มีการเสนอเรื่องส่วนแบ่งผลประโยชน์จากความร่วมมือกันที่จีนจะได้รับ และก็ไม่ได้ผ่อนคลายความตึงเครียดทวิภาคีจีน-สหรัฐฯ ที่อยู่เบื้องลึกลงไป ครั้นแล้วในปีถัดมาคือในปี 2014 ไมเคิล พิลส์บิวรี (Michael Pillsbury) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทหารจีน ที่เวลานี้เป็นหนึ่งในบรรดาที่ปรึกษาด้านเกี่ยวกับจีน ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ [18] ก็ได้เขียนบทความเผยแพร่ทางวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) โดยใช้ชื่อเรื่องว่า China and the United States are preparing for war” (จีนกับสหรัฐฯกำลังเตรียมตัวเข้าสู่สงคราม) [19]
ในบทความนี้ เขาแสดงหลักฐานให้เห็นว่าฝ่ายทหารของจีนมีความไม่ไว้วางใจสหรัฐฯในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยมา เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าจีนกำลังกลายเป็นศูนย์กลางในการวางแผนสงครามของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้จึงกำลังบีบบังคับปักกิ่งให้ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสงครามที่จะต้องเกิดขึ้นมาในที่สุด เป็นความจริงทีเดียว พวกนายทหารของจีนชี้ว่าในวารสารต่างๆ ของพวกสถาบันทางการทหารของอเมริกันนั้น บ่อยครั้งจะเสนอข้อเขียนบทความซึ่งพูดเกี่ยวกับวิธีการในการเอาชนะในการทำสงครามกับจีน เป็นต้นว่า การเสนอให้วางทุ่นระเบิดใต้น้ำเชิงรุก [20] รอบๆ ชายฝั่งทะเลของจีนในบริเวณใกล้เคียงกับท่าเรือสำคัญๆ ของแดนมังกร [21] และการทำลายเส้นทางการคมนาคมทางทะเลของจีน, การเสนอแนะให้ติดอาวุธพวกชนกลุ่มน้อยที่หัวแข็งควบคุมยากของจีนในซินเจียงและทิเบตเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของแดนมังกร [22], และการปิดล้อมปักกิ่งผ่านทางการจับมือเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่างๆ ซึ่งอยู่ใน “แนวห่วงโซ่เกาะแนวที่หนึ่ง (first island chain) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ส่วนโค้งไล่ตั้งแต่เกาะหลักๆ ของญี่ปุ่น ลงมายังหมู่เกาะริวกิว, ไต้หวัน, และกลุ่มเกาะประเทศฟิลิปปินส์ [23]
ปัจจุบัน สายตาของวอชิงตันยังคงจับจ้องอยู่ที่บริเวณปีกด้านตะวันออกของจีนในแปซิฟิก และเมื่อวันที่ 4พฤษภาคมที่ผ่านมา “เดอะ เนชั่นแนล อินเทอเรสต์” (The National Interest) ได้ตีพิมพ์ซ้ำบทความชิ้นหนึ่งซึ่งพูดถึงวิธีการที่สามารถเริ่มต้นสงครามขึ้นในทะเลจีนใต้ [24]
อย่างไรก็ดี แดนมังกรอาจจะมีมาตรการตอบโต้เตรียมเอาไว้ มียุทธศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงมากอยู่ประการหนึ่ง เรียกว่า sheng dong ji xi (声东击西) ซึ่งหมายความว่า “แกล้งลวงไปทางตะวันออก แต่เข้าโจมตีทางตะวันตก”
ด้วยเหตุนี้ วอชิงตันจึงไม่ควรประหลาดใจอะไร ถ้าหากความตึงเครียดยังคงบานปลายขยายตัวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากสงครามการค้า, การคว่ำบาตร, การระงับและให้ถอนการลงทุน, และการแซงก์ชั่นผลิตภัณฑ์ของจีนและการลงทุนของจีน, และการยั่วยุทางการทหารซึ่งกันและกัน จะสะสมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึง “จุดพลิกผัน” ซึ่งจีนจะเข้าโจมตีทางด้านตะวันตก โดยร่วมมือกับรัสเซียและอิหร่าน
คริสตินา ลิน เป็นนักวิเคราะห์นโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย เธอมีประสบการณ์ในการทำงานกับรัฐบาลสหรัฐฯอย่างกว้างขวางในประเด็นปัญหาความมั่นคงอันเกี่ยวกับจีน เป็นต้นว่า การวางแผนด้านโยบายที่กระทรวงกลาโหม, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, และกระทรวงการต่างประเทศ ความสนใจของเธอในปัจจุบันโฟกัสที่เรื่องความสัมพันธ์จีน-ตะวันออกกลาง-เมดิเตอร์เรเนียน
เชิงอรรถ
[1]https://www.gatestoneinstitute.org/13995/china-third-reich
[2]https://www.cnbc.com/2018/09/25/chinese-anger-grows-as-us-agrees-fresh-arms-sale-to-taiwan.html
[3]https://www.theguardian.com/world/2018/sep/12/us-considers-sanctions-on-china-over-treatment-of-uighurs
[4]https://www.businessinsider.com/eu-5g-cybersecurity-guidelines-huawei-2019-3
[5]https://presentdangerchina.org/guiding-principles/
[6]https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3003973/overreaction-china-threat-could-turn-mccarthyite-red-scare
[7]https://www.foreignaffairs.com/articles/china/2018-10-22/how-avoid-avoidable-war
[8]https://thediplomat.com/2019/04/americas-china-bashers-are-gaining-steam/
[9]https://www.scmp.com/news/china/diplomacy-defence/article/2156875/hawks-war-how-moderates-were-shut-out-donald-trumps
[10]https://chasfreeman.net/after-the-trade-war-a-real-war-with-china/
[11]https://www.washingtonpost.com/opinions/jimmy-carter-how-to-repair-the-us-china-relationship--and-prevent-a-modern-cold-war/2018/12/31/cc1d6b94-0927-11e9-85b6-41c0fe0c5b8f_story.html?utm_term=.97a390be3217
[12]https://asiasociety.org/sites/default/files/2018-12/Kevin%20Rudd_Can%20China%20and%20the%20U.S.%20Avoid%20War.pdf
[13]https://abcnews.go.com/US/vice-president-mike-pence-warns-china-stand/story?id=58282875
[14]https://www.brookings.edu/blog/up-front/2013/01/31/march-west-chinas-response-to-the-u-s-rebalancing/
[15]http://opinion.huanqiu.com/opinion_world/2012-10/3193760.html
[16]https://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/northamerica/usa/9307583/US-to-move-the-majority-of-its-naval-fleet-to-Asia.html
[17]https://www.brookings.edu/blog/up-front/2013/01/31/march-west-chinas-response-to-the-u-s-rebalancing/
[18]https://www.politico.com/story/2018/11/30/trump-china-xi-jinping-g20-michael-pillsbury-1034610
[19]https://foreignpolicy.com/2014/11/13/china-and-the-united-states-are-preparing-for-war/
[20]https://www.usni.org/magazines/proceedings/2014/february/deterring-dragon-under-sea
[21]https://warontherocks.com/2015/11/the-economics-of-war-with-china-this-will-hurt-you-more-than-it-hurts-me/
[22]https://www.asiatimes.com/2018/09/opinion/after-syrias-partition-will-xinjiang-be-destabilized/
[23]https://www.usni.org/magazines/proceedings/2014/april/defend-first-island-chain
[24]https://nationalinterest.org/blog/buzz/history-tells-us-how-south-china-sea-war-could-start-55862