xs
xsm
sm
md
lg

'จีน'ยื่นมือช่วยเหลือ'ศรีลังกา' ชาติเอเชียใต้รายที่ 2 ซึ่งร่วมใน'เส้นทางสายไหมใหม่' ที่เพิ่งถูกผู้ก่อการร้ายโจมตี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม.เค ภัทรกุมาร

<i>ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ขวา) ต้อนรับประธานาธิบดี ไมตรีปาละ สิริเสนา แห่งศรีลังกา ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอังคาร (14 พ.ค.) </i>
China extends helping hand to Sri Lanka
By M.K. Bhadrakumar
16/05/2019

ประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา แห่งศรีลังกา เลือกที่จะเดินทางเยือนจีน ขณะสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศของเขายังดูน่าห่วง ภายหลังกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ไม่ค่อยรู้จักกันมาก่อน ก่อเหตุโจมตีวันอีสเตอร์ซึ่งสังหารผู้คนไปกว่า 250 คน ทำให้ศรีลังกากลายเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียใต้ถัดจากปากีสถาน ซึ่งกำลังเข้าร่วมในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน และประสบกับการโจมตีเช่นนี้

การเดินทางไปจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ของประธานาธิบดี ไมตรีปาละ สิริเสนา (Maithripala Sirisena) แห่งศรีลังกา คือการตอกย้ำให้เห็นว่า พัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศเกาะแห่งนี้ ไม่สามารถที่จะแยกขาดออกจากภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียใต้ได้ การออกเยือนต่างประเทศของสิริเสนาครั้งนี้บังเกิดขึ้นเพียงแค่ 3 สัปดาห์ หลังจากเหตุการณ์โจมตีอย่างนองเลือดของผู้ก่อการร้ายในวันอีสเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน ซึ่งสังหารผลาญชีวิตผู้คนไปมากกว่า 250 คน

สิ่งที่น่าสนใจมากยังอยู่ตรงที่ว่า จุดหมายปลายทางของสิริเสนา คือกรุงปักกิ่ง

ศรีลังกายังคงอยู่ใต้การประกาศภาวะฉุกเฉิน ขณะที่เสียงก้องสะท้อนจากการโจมตีแบบผู้ก่อการร้ายคราวนี้ ดังอึงคะนึงในลักษณะของการป่าวร้องให้เห็นถึงการปะทะขัดแย้งกันระหว่างคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาภายในประเทศนี้ ขณะที่สิริเสนายังอยู่ในประเทศจีน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ยังได้เกิดเหตุการณ์สดใหม่เกี่ยวกับความรุนแรงมุ่งต่อต้านชาวมุสลิมปะทุขึ้นมา ซึ่งบังคับให้พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของศรีลังกาต้องประกาศห้ามออกนอกบ้านยามวิกาลกันทั่วทั้งเกาะ จากสภาพแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ จึงดูไม่ใช่จังหวะเวลาอันเหมาะสมเอาเสียเลยสำหรับสิริเสนาที่จะไปต่างประเทศ และดังนั้นข้อความทางการเมืองที่ส่งออกมาในคราวนี้จึงยิ่งเน้นย้ำด้วยความชัดเจนว่า เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งแก่การเดินทางไปยังปักกิ่ง

จริงๆ แล้ว ทางเจ้าภาพฝ่ายจีนก็ดูจะรู้สึกซาบซึ้งใจกับท่าทีของสิริเสนา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ต้อนรับเขาที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งวันที่ 14 พฤษภาคม สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานว่า ในการพบปะหารือระหว่างสีกับสิริเสนานั้น ประเด็นเรื่องการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในศรีลังกาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด

ซินหวารายงานคำพูดของสีที่กล่าวว่า “จีนพร้อมแล้วที่จะยืนเคียงข้างรัฐบาลศรีลังกาและประชาชนชาวศรีลังกา, สนับสนุนศรีลังกาในการสู้รบปราบปรามการก่อการร้าย, และช่วยเหลือประเทศนี้ในการเพิ่มพูนเสริมสร้างศักยภาพการต่อสู้กับการก่อการร้ายเพื่อพิทักษ์รักษาความมั่นคงและเสถียรภาพแห่งชาติ”

สำนักข่าวของทางการจีนแห่งนี้ยังบอกอีกว่า “เขา (สี) เรียกร้องให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันในการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงอย่างหนักแน่นลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก และดำเนินการร่วมกันในการจัดการกับภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงประเภทที่ไม่ใช่แบบแผนปกติ อย่างเช่น การก่อการร้าย” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/english/2019-05/14/c_138058299.htm )

เป็นเรื่องบังเอิญใช่หรือไม่ ศรีลังกากลายเป็นประเทศหุ้นส่วนของจีนรายที่สองในภูมิภาคเอเชียใต้ (รายแรกคือปากีสถาน) ซึ่งข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI ชื่ออย่างไม่เป็นทางการอีกชื่อหนึ่งของข้อริเริ่มนี้คือ เส้นทางสายไหมใหม่) กำลังประสบปัญหาปั่นป่วน ทั้งนี้หนึ่งในเป้าหมายที่ถูกโจมตีเมื่อวันอาทิตย์อีสเตอร์ 21 เมษายน คือ โรงแรมแชงกรีลา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อันเรียกกันว่า พอร์ต ซิตี้ (Port City) ที่กำลังสร้างกันอยู่ในกรุงโคลัมโบ บนที่ดิน 269 เฮกตาร์ (1,681.25 ไร่) ซึ่งเกิดขึ้นจากการถมมหาสมุทรอินเดีย นี่คือโครงการ BRI โครงการหนึ่ง โดยมีมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ และดำเนินการโดย บริษัทก่อสร้างเพื่อการสื่อสารของจีน (China Communications Construction Company) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของแดนมังกรที่เน้นหนักเรื่องงานวิศวกรรม

ปักกิ่งจะต้องกำลังสงสัยข้องใจว่า ทำไมเจ้าสัตว์ร้ายลึกลับที่มีประวัติสายพันธุ์อันคลุมเครือในเรื่องความเกี่ยวข้องโยงใยกับ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) จึงได้เลือกเอาเมืองกวาดาร์ (Gwadar) ในปากีสถาน และกรุงโคลัมโบในศรีลังกา เป็นสถานที่สำหรับแสดงความโกรธเกรี้ยวของตน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สีก็พูดให้สิริเสนาเกิดความมั่นใจว่า “จีนพร้อมอยู่แล้วที่จะทำงานกับศรีลังกา ในการผลักดันสร้างความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอให้แก่ความเป็นหุ้นส่วนร่วมมือกันในเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศทั้งสอง ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงใจและไมตรีจิตมิตรภาพในระยะยาว” เขาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย “ธำรงรักษาการติดต่อสื่อสารกันในระยะสูงอย่างเป็นประจำ, ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในทิศทางใหญ่ของความร่วมมือกันฉันมิตร, และสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่” สียังย้ำว่าจีนกับศรีลังกาควรที่จะ “สร้างความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอให้แก่การก่อสร้างแถบและเส้นทางร่วมกัน, ส่งเสริมความร่วมมือกันในโครงการสำคัญๆ”

ภายหลังการโจมตีวันอีสเตอร์แล้ว สหรัฐฯได้นำเอา “พวกที่ปรึกษา” จากกองบัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Command) ตน ซึ่งตั้งอยู่ที่ฮาวาย มาประจำอยู่ในศรีลังกา โดยให้เหตุผลข้ออ้างว่าเพื่อช่วยเหลือในเรื่องการต่อสู้การก่อการร้าย

มีเหตุผลดีทีเดียวที่ปักกิ่งกำลังเฝ้าจับตาติดตามการขยายอิทธิพลของอเมริกันในศรีลังกา ภายหลังจาก “การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง” เมื่อปี 2015 ที่สหรัฐฯหนุนหลัง ซึ่งส่งผลให้มีการขับไล่อดีตประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ

ต้องถือเป็นน่าประหลาดไม่ใช่น้อยเลย สำหรับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ละเมิดพิธีการทางการทูต และโทรศัพท์ถึง รานิล วิกรมสิงเห (Ranil Wickremesinghe) นายกรัฐมนตรีของศรีลังกาที่ “โปรสหรัฐฯ” แบบมองเมินไม่สนใจประธานาธิบดีสิริเสนา เพื่อปรึกษาหารือเรื่องความช่วยเหลือของอเมริกันภายหลังการโจมตีวันอาทิตย์อีสเตอร์ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.voanews.com/a/trump-calls-sri-lankan-pm-expresses-condolences-after-deadly-blasts/4886257.html)

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภูมิรัฐศาสตร์กับการเมืองภายในประเทศศรีลังกานั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกันอย่างชัดเจน สหรัฐฯถือว่าสิริเสนา ซึ่งเป็นนักการเมืองมากประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นผู้ที่ควรระแวงสงสัยแทบจะในระดับเดียวกันกับอดีตประธานาธิบดีราชปักษา สำหรับวอชิงตันแล้ว เป็นเรื่องจำเป็นเหลือเกินที่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะจัดขึ้นในศรีลังกาช่วงเวลาต่อไปของปีนี้ วิกรมสิงหาจะต้องผงาดขึ้นมาในฐานะผู้ชนะ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลย ที่ทั้ง สิริเสนา และ ราชปักษา ต่างเป็นผู้ที่เสนอให้ขยายความร่วมมือกับจีน และทั้งคู่ต่างมีความสัมพันธ์อันย่ำแย่กับอินเดีย

น่าสนใจว่า เหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายในศรีลังกา ทำให้อินเดียตกอยู่ในฐานะเหมือนเป็นจำเลย

ชนชั้นปกครองของศรีลังกานั้น ดูเหมือนในจิตใจซ่อนเร้นความระแวงสงสัยเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของอินเดียเสมอมาอยู่แล้ว แต่มันเป็นไอเดียที่เลวจริงๆ สำหรับเดลีที่ไปปล่อยข่าวรั่วผ่านสื่อมวลชนว่า ตนเองได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองกับโคลัมโบแล้วในเรื่องความเป็นไปได้อย่างสูงยิ่งที่จะเกิดการโจมตีของผู้ก่อการร้าย การปล่อยข่าวรั่วเช่นนี้สร้างความอับอายขายหน้าให้สิริเสนา ด้วยเหตุนี้ ผู้บัญชาการทหารของศรีลังกาจึงได้ตอบโต้กลับอย่างรุนแรงด้วยการกล่าวหาในระหว่างให้สัมภาษณ์บีบีซีซึ่งถูกนำออกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ว่าพวกผู้ก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องพัวพันกับการโจมตีในวันอีสเตอร์นั้นได้เคยไปเยือนอินเดีย รวมทั้งแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ และได้รับการฝึกอบรมเพื่อดำเนินกิจกรรมแทรกซึมบ่อนทำลายต่างๆ

จากสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ จึงทำให้ สิริเสนา ตัดสินใจหันไปหาปักกิ่งแทนที่จะเป็นเดลี เพื่อขอความช่วยเหลือซึ่งมีน้ำหนักสูงมากในเชิงสัญลักษณ์ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรที่ว่า ในการสนองตอบต่อคำขอของ สิริเสนา นั้น ปักกิ่งได้อนุมัติความช่วยเหลือแบบให้เปล่าอย่างใจดีเป็นมูลค่า 14.75 ล้านดอลลาร์เพื่อมุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กองกำลังรักษาความมั่นคงของศรีลังกา นอกเหนือจากให้รถจิ๊ป 100 คันและอุปกรณ์อื่นๆ คิดเป็นมูลค่าอีก 8.5 ล้านดอลลาร์แก่ฝ่ายตำรวจของศรีลังกาแล้ว ไม่เฉพาะเพียงเท่านี้ ตามรายงานจากโคลัมโบระบุว่า ในการหารือระหว่าง สิริเสนา กับ สี นั้น จุดโฟกัสเน้นหนักอยู่ที่เรื่อง “การเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือกันในภาคกลาโหม และการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองระหว่างประเทศทั้งสอง” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thehindu.com/news/international/china-to-assist-sri-lanka-in-its-anti-terror-efforts/article27142911.ece )

ในอีกด้านหนึ่ง การที่คณะผู้นำของจีนให้ความสำคัญอย่างสูงถึงขนาดนี้เกี่ยวกับความมั่นคงและเสถียรภาพของศรีลังกา ย่อมเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งกำลังรู้สึกได้ว่ากำลังมีภัยคุกคามที่จะก่อกวนโครงการ “แถบและเส้นทาง” ต่างๆ บนประเทศเกาะแห่งนี้ จีนไม่สามารถที่จะยินยอมให้การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองอย่างที่ได้วางแผนดำเนินการกันที่ มัลดีฟส์ เมื่อไม่นานมานี้ มารีเพลย์ซ้ำกันอีกในศรีลังกา เป็นจุดสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ทีเดียวว่า ในการพบปะหารือกับ สิริเสนา นั้น สี ได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย “ธำรงรักษาการติดต่อสื่อสารกันในระยะสูงอย่างเป็นประจำ, ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในทิศทางใหญ่ของความร่วมมือกันฉันมิตร, และสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่”

แล้วในการตอบสนองต่อความกังวลของ สิริเสนา เกี่ยวกับเรื่องที่ศรีลังกา “ขาดแคลนความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการเฝ้าติดตามบุคคลต่างๆ ผู้ซึ่งกำลังเผยแพร่เปลวเพลิงแห่งการก่อการร้าย” สีก็เสนอที่จะส่งทีมเทคนิคชาวจีนไปยังศรีลังกาในเร็วๆ นี้เพื่อช่วยเหลือพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของที่นั่น

พิจารณาจากฉากหลังทางภูมิรัฐศาสตร์ในเวลานี้ จีนยังอาจจะรู้สึกว่าตนเองอยู่ในฐานะเสียเปรียบ สหรัฐฯกับอินเดียกำลังทำงานโดยมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งผลักดันให้จีนล่าถอยในอาณาบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ศรีลังกานั้นกำลังกลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ชิ้นสำคัญยิ่งยวดในการแข่งขันช่วงชิงอำนาจกันครั้งใหญ่นี้ ศรีลังกา และ มัลดีฟส์ อยู่ประมาณกลางๆ ทาง ระหว่างฐานทัพอเมริกันที่เกาะดิเอโก การ์เซีย กับ สิงคโปร์ คิดกันง่ายๆ เลย ถ้าหากประเทศเกาะซึ่งตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ (เรือบรรทุกเครื่องบินที่กำลังลอยลำอยู่ตลอดเวลา) ทั้ง 2 ประเทศนี้ สามารถที่จะนำเอามาอยู่ภายในวงโคจรของสหรัฐฯแล้ว จีนก็จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างร้ายแรงในการรักษาการปรากฏตัวทางนาวีในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรของการค้าต่างประเทศมูลค่ามหึมาของแดนมังกร

ความพยายามของสหรัฐฯ-อินเดีย ในการแทนที่ ราชปักษา ซึ่ง “โปรจีน” ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งทีเดียวในปี 2015 แต่แล้ว สิริเสนา ผู้ขึ้นครองอำนาจต่อจากเขากลับพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า ไม่เพียงมีความคิดจิตใจที่เป็นอิสระและมีความเป็นชาตินิยมเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีความหวาดกลัวจีนปรากฏร่องรอยให้เห็นเอาเลยในทัศนะมุมมองของเขา ขณะที่ในทางตรงกันข้าม นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ผู้ได้รับชื่อเสียงอย่างเข้มว่ากำลังโปรสหรัฐฯและโปรอินเดีย กลับตกอยู่ในสภาพไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เนื่องจาก สิริเสนา คอยบั่นทอนความสำคัญของเขาอย่างสม่ำเสมอ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อขบคิดทบทวนย้อนหลังแล้ว โครงการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองของสหรัฐฯ-อินเดียในศรีลังกาเมื่อปี 2015 ไม่ได้ให้ดอกให้ผลตามที่ตั้งความปรารถนากันไว้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีศรีลังกาซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นมาจึงกลายเป็นกิจการที่มีเดิมพันสูงมาก สถานการณ์ความมั่นคงภายในซึ่งกำลังอยู่ในจุดพลิกผัน จะกลายเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งในการเลือกตั้งคราวนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนกำลังยื่นมือเข้าช่วยเหลือ สิริเสนา ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งยวดนี้

(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/china-extends-helping-hand-to-sri-lanka/)

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก


กำลังโหลดความคิดเห็น