xs
xsm
sm
md
lg

การเล่นงาน‘หัวเว่ย’อย่างผลีผลาม กลายเป็นการคุกคามพวกบริษัทสหรัฐฯเสียเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: คริสโตเฟอร์ สกอตต์

<i>โลโก้ของหัวเว่ย ปรากฏอยู่ในนิทรรศการหนึ่ง  ณ งานการประชุม World Intelligence Congress ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเทียนจิน (เทียนสิน) ประเทศจีน เมื่อวันที่ 16 พ.ค. </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Headlong attack on Huawei threatens US firms
By Christopher Scott
17/05/2019

หลายคนหลายฝ่ายเตือนว่า หากวอชิงตันลงมือสกัดกั้นไม่ให้มีการส่งออกด้านเทคโนโลยีแก่บรรดาผู้ซื้อชาวจีนแล้ว พวกบริษัทสหรัฐฯจำนวนมากก็จะเผชิญกับอนาคตที่น่าเป็นห่วง

เมื่อวันพุธ (15 พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศว่า บริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่สื่อสารโทรคมนาคมสัญชาติจีน จะถูกขึ้นชื่อเอาไว้ในบัญชีดำควบคุมการส่งออก ซึ่งเท่ากับเป็นการแผ้วถางทางสำหรับการสั่งห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันขายสินค้าให้แก่บริษัทแห่งนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.commerce.gov/news/press-releases/2019/05/department-commerce-announces-addition-huawei-technologies-co-ltd)

เมื่อว่ากันถึงความสำคัญของอำนาจบังคับแล้ว ประกาศฉบับนี้ก็ถือได้ว่าถูกบดบังให้อยู่ในเงามืด จากคำสั่งฝ่ายบริหารที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งลงนามไปก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน โดยมีเนื้อหามุ่งเปิดทางให้ทางการอเมริกันสามารถจำกัดควบคุมไม่ให้หัวเว่ยทำธุรกิจในสหรัฐฯได้ ทว่าการที่กระทรวงพาณิชย์ตัดสินใจใส่ชื่อหัวเว่ยเข้าไปในสิ่งที่เรียกกันว่า “บัญชีรายชื่อบุคคลและหน่วยงาน” (Entity List) กลับได้รับความสนอกสนใจยิ่งกว่ามาก เนื่องจากอาจส่งผลพวงต่อเนื่องกว้างไกลกว่ากันนัก

อย่างไรก็ดี ตรงกันข้ามกับความคิดเห็นซึ่งเป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่เจ้าหน้าที่คณะรัฐบาลทรัมป์ และในบรรดาสมาชิกรัฐสภาอเมริกัน เหล่าผู้เชี่ยวชาญหลายรายบอกว่า ผลต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นมานั้นน่าจะสร้างความเสียหายหนักให้แก่พวกบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯมากกว่าให้แก่หัวเว่ย

ความเคลื่อนไหวคราวนี้มีความแตกต่างไปจากเมื่อครั้งที่คณะบริหารทรัมสั่งห้ามบริษัทอมเริกันส่งออกสินค้าไปให้ แซดทีอี (ZTE) ที่เป็นกิจการเทเลคอมจีนอีกแห่งหนึ่ง โดยในครั้งนั้นได้มีการประกาศบังคับใช้กันไปแล้ว แต่ในเวลาต่อมาก็ได้มีการยกเลิกคำสั่งไป ภายหลังจากฝ่ายจีนต่อรองขอร้องทรัมป์ ทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

สำหรับคราวนี้ มันจะยังไม่มีผลห้ามการขายชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ของสหรัฐฯให้แก่หัวเว่ยในฉับพลัน โดยทันทีที่การขึ้นบัญชีนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการแล้ว พวกบริษัทสหรัฐฯที่ต้องการขายให้หัวเว่ย จะต้องยื่นขอใบอนุญาตเป็นพิเศษ ซึ่งโดยหลักการ ทางการอเมริกันมีอำนาจในการพิจารณาว่าจะออกให้หรือไม่

ระวังจะเกิด ‘ผลต่อเนื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ’

“หัวเว่ยกำลังสต็อกพวกชิ้นส่วนประกอบซึ่งทำในสหรัฐฯบางส่วนเอาไว้แล้ว สำหรับใช้ได้สักสองสามอาทิตย์ เรื่องนี้บ่งบอกให้ทราบว่ามี (ชิ้นส่วนประกอบทำในสหรัฐฯ) บางอย่างที่จะไม่สามารถหาของที่อื่นมาแทนที่ได้” จิม ลิวอิส (Jim Lewis) รองประธานบริหารอาวุโส และผู้ชำนาญการเทคโนโลยี ของศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies ใช้อักษรย่อว่า CSIS) หน่วยงานคลังสมองชื่อดังด้านกิจการระหว่างประเทศซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน บอกกับเอเชียไทมส์

แต่เขากล่าวต่อไปว่า “ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นประสบการณ์เกือบเป็นเกือบตายเหมือนอย่างของแซดอีทีหรอก เนื่องจากผมคาดหมายว่ากระทรวงพาณิชย์จะออกใบอนุญาตให้บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯบางราย อย่างน้อยที่สุดก็ออกไปต่อไประยะหนึ่ง”

เรื่องของหัวเว่ยนี้แตกต่างอย่างเด่นชัดจากตอนที่แซดทีอีถูกแบน ซึ่งทำท่าถึงกับทำให้บริษัทต้องเจ๊งหยุดทำธุรกิจไปเลย โดยที่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่า หัวเว่ยมีความหยุ่นตัวมากกว่า และสามารถรับมือได้กระทั่งว่าคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐฯส่งออกมีผลบังคับใช้ทันที

นอกจากนั้น ตามความเห็นของ จิมมี กู้ดริช (Jimmy Goodrich) รองประธานด้านนโยบายทั่วโลกของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association) ถ้าหากวอชิงตันคิดจะเล่นแรงเล่นหนักขนาดนั้นกับหัวเว่ย ก็จะมีความเสี่ยงระดับมหึมาทีเดียว

“จริงๆ แล้วไม่มีเซกเมนต์ใดๆ ของอุตสาหกรรมนี้เลยที่ถูกครอบงำอย่างสิ้นเชิงจากพวกบริษัทสหรัฐฯ ... ถ้าสหรัฐฯลงมือทำไปตามลำพังฝ่ายเดียวในพื้นที่นี้แล้ว พวกเขาก็กำลังจะต้องพบว่า ถึงตอนจบลงจริงๆ มันจะสร้างความเสียหายให้แก่นวัตกรรมในสหรัฐฯ ขณะที่ทางจีนจะยังคงสามารถได้เทคโนโลยีที่พวกเขาเป็นห่วงเป็นกังวลอยู่ดี” กู้ดริชกล่าวในระหว่างการถกเถียงอภิปรายถกเถียงกันครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ที่กรุงวอชิงตัน

“เราจะต้องคิดกันให้ดีเกี่ยวกับผลต่อเนื่องที่ไม่ได้ตั้งใจทั้งหลายด้วย” เขากล่าวต่อ “ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 1 ปีที่แล้ว พวกเราทั้งหมดต่างรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแซดทีอี มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอก ที่จีนได้ประกาศโปรแกรมหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อเร่งรัดให้ชิ้นส่วนประกอบ 5 จีจำนวนมากได้ทำกันขึ้นในท้องถิ่น แล้วยังไงล่ะ หรือว่าเรากำลังเพิ่งจะขับดันหนุนส่งพวกเขาให้ยิ่งดีขึ้น ยิ่งเป็นอิสระขึ้นไปอีก ไม่ต้องพึ่งพาเราเพิ่มมากขึ้นอีก เพราะเรื่องคราวนั้น” กู้ดริชตั้งคำถาม

วอชิงตันยังคงอยู่ในความไม่รู้

ขณะที่คนวงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯบางราย รู้สึกกังวลเกี่ยวกับอันตรายของการห้ามส่งออกพวกชิ้นส่วนประกอบให้หัวเว่ย ที่จะมีผลสะท้อนกลับต่อพวกบริษัทในอเมริกาเอง แต่ปรากฏว่าวอชิงตันมีความเชื่องช้ามากในการทำความเข้าใจว่า จีนนั้นได้ก้าวยาวๆ ล่วงหน้าไปถึงขนาดไหนแล้ว

ตามบทวิเคราะห์เมื่อเร็วๆ นี้จาก เทคานาไล (Techanalye) บริษัทวิจัยสัญชาติญี่ปุ่น หัวเว่ยตามทันแอปเปิลเรียบร้อยแล้วในเรื่องของการออกแบบชิป 4 จีสำหรับใช้กับเครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟน บทวิเคราะห์วิจัยชิ้นนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าหัวเว่ยอาจจะมีศักยภาพในการเป็นคู่แข่งขันของ ควอลคอมม์ (Qualcomm) บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติสหรัฐฯ ในเรื่องการออกแบบชิปเพื่อใช้ในอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว หรือไม่ก็กำลังจะไปถึงจุดนั้นได้ในไม่ช้าไม่นานนี้ สำหรับในชั่วขณะนี้ ควอลคอมม์ยังคงน่าที่จะมีฐานะเป็นผู้นำของโลกในเรื่องชิปอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ทว่านี่ก็ต้องขอบคุณไม่ใช่น้อยๆ เลยสำหรับรายได้ราว 65% ที่ควอลคอมม์ได้มาจากประเทศจีน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Business/China-tech/Huawei-closes-technology-gap-with-Apple-on-chip-design)

แต่ทั้งคณะบริหารทรัมป์และพวกสมาชิกรัฐสภาทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ดูเหมือนยังไม่ได้รับบันทึกช่วยจำที่พูดถึงเรื่องนี้ให้รับรู้กัน

วุฒิสมาชิก มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) สังกัดพรรครีพับลิกัน แถลงว่า เขาให้ความสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นต่อการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์ในการออก “คำปฏิเสธการให้อภิสิทธิ์ในการส่งออก ซึ่งเป็นการเล่นงานใส่หัวเว่ย”

“หัวเว่ยเป็นเครื่องมือโดยตรงของรัฐในการใช้อำนาจแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลจีนได้ใช้เพื่อทำลายพวกคู่แข่งขันนานาชาติของพวกเขา” รูบิโอบอก

ขณะที่ ทอม คอตตอน (Tom Cotton) วุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกันเช่นกัน และเป็นผู้ร่วมสปอนเซอร์ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งหากผ่านออกมาบังคับใช้สำเร็จ ก็จะมีข้อกำหนดห้ามส่งออกชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ให้หัวเว่ยนี่แหละ คอตตอนมองว่าการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์คราวนี้คือการตัดสินลงโทษประหารชีวิตหัวเว่ย

“@Huawei 5G, RIP ขอบคุณสำหรับการเล่นให้ดู” เขาโพสต์ข้อความเช่นนี้ทางทวิตเตอร์

ผลกระทบที่มีต่อสงครามการค้า

ปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการจากปักกิ่งที่อยู่ในลักษณะที่ไม่ได้ดุเดือดเลือดพล่านอะไรนัก --รวมทั้งปฏิกิริยาจากหัวเว่ยด้วยก็อยู่ในทำนองเดียวกัน เหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันเพิ่มขึ้นไปอีกว่า บุคคลต่างๆ ในวอชิงตันเฉกเช่น รูบิโอ และ คอตตอน ผู้ซึ่งคิดว่านี่เป็นการฟาดกระหน่ำที่สามารถจบชีวิตหัวเว่ยไปเลย กำลังผิดพลาดเสียแล้วในการประเมินสถานการณ์ของพวกเขา

“การเจรจาการค้า (ระหว่างสหรัฐฯกับจีน) ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ จำนวนหนึ่ง –ระเบียบใหม่ที่กำหนดให้ต้องขออนุญาตในการส่งออกให้หัวเว่ยนี่ ถือว่าเป็นแค่ความท้าทายเล็กๆ อย่างหนึ่งเท่านั้น” ดีเรค ซิสเซอร์ส (Derek Scissors) ผู้ชำนาญการด้านจีนอยู่ที่สถาบันวิสาหกิจอเมริกัน (American Enterprise Institute) หน่วยงานคลังสมองชื่อก้อง (ซึ่งเอนเอียงไปทางแนวความคิดแบบอนุรักษนิยม –ผู้แปล) บอกกับเอเชียไทมส์

“เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์สามารถที่จะผ่อนปรนหรือจะเข้างวดก็ได้ ในการให้ใบอนุญาต เรื่องนี้จึงทำให้ฝ่ายสหรัฐฯได้แต้มต่อเพิ่มมาอีกหน่อยหนึ่งในการเจรจากัน แต่มันก็เพียงนิดหน่อยนะ เมื่อพิจารณาถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว” เขากล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ลู่ คัง แถลงในวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) ว่า “เราขอให้บรรดาบริษัทของเราทำตามกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ในเรื่องการควบคุมการส่งออก และปฏิบัติตามพันธะข้อผูกพันระหว่างประเทศต่างๆ อย่างครบถ้วน เราขอให้บริษัทของเราเคารพกฎหมายและนโยบายต่างๆ ของท้องถิ่นในเวลาทำธุรกิจอยู่ในต่างแดน”

แต่ลู่ก็บอกด้วยว่า จีนเรียกร้องสหรัฐฯให้ “ยุติการปฏิบัติที่ผิดๆ ของพวกเขา”

ทางด้านหัวเว่ยระบุในคำแถลงว่า “การจำกัดหัวเว่ยไม่ให้ทำธุรกิจในสหรัฐฯ จะไม่ทำให้สหรัฐฯมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นหรือเข้มแข็งยิ่งขึ้น”

“เรื่องนี้มีแต่จะทำหน้าที่เป็นตัวจำกัดสหรัฐฯให้ต้องเลือกใช้ทางเลือกอื่นๆ ที่ด้อยกว่าแต่ราคาแพงกว่าเท่านั้นเอง และทอดทิ้งให้สหรัฐฯวิ่งไล่ตามไม่ทันอยู่ข้างหลัง ในเรื่องการนำระบบ 5 จีมาใช้งาน และในที่สุดแล้วก็จะสร้างความเสียหายให้แก่ผลประโยชน์ของพวกบริษัทสหรัฐฯและผู้บริโภคสหรัฐฯ” คำแถลงร่ายต่อ

กู้ดริชแห่งสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ กล่าวในส่วนของเขาเอง เรียกร้องให้พวกผู้วางนโยบายในกรุงวอชิงตัน ขบคิดทบทวนวิธีการของพวกเขา

“เมื่อมาถึงบทสรุปในตอนท้าย คำถามมีอยู่ว่า เราต้องการให้ชิปอเมริกันถูกใช้กันที่นั่น หรือว่าเราต้องการให้มันเป็นชิปของจีน” เขาตั้งปุจฉา

ถ้าหากสหรัฐฯสกัดกั้นไม่ให้ผู้ผลิตชิปของตนเองเข้าสู่ตลาดจีนแล้ว การตั้งคำถามเช่นนี้ก็ย่อมจะกลายเป็นการกระทำที่ไร้ประโยชน์
<i>ไฮซิลิคอน บริษัทลูกในเครือหัวเว่ย อวดชิปของบริษัท ในงานการประชุมงานหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฝูโจว เมืองเอกของมณฑลฝู่เจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา </i>
หมายเหตุผู้แปล

[1] ในวันเสาร์ (18 พ.ค.) เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของหัวเว่ย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนญี่ปุ่น พูดถึงกรณีถูกสหรัฐฯเล่นงานหนัก และการเตรียมตัวรับมือของบริษัท จึงขอรวบรวมเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติม ณ ที่นี้


ผู้ก่อตั้งบริษัทประกาศกร้าว ‘หัวเว่ย’จะไม่ก้มหัวยอมแพ้ต่อแรงบีบคั้นของสหรัฐฯ
โดย นิกเกอิ เอเชียน รีวิว และเอเจนซีส์
18/05/2019

หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่เทเลคอมจีน เตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะรับมือกับการเล่นงานลงโทษอย่างรุนแรงของวอชิงตัน และจะลดการพึ่งพาอาศัยพวกชิ้นส่วนพวกส่วนประกอบจากซัปพลายเออร์สหรัฐฯ เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของบริษัทกล่าว

ในการให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนของญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมืองเซินเจิ้น ทางตอนใต้ของประเทศจีนเมื่อวันเสาร์ (18 พ.ค.) ซึ่งเป็นการออกมาพูดกับสื่อครั้งแรกของเขานับตั้งแต่ที่สหรัฐฯตั้งท่าห้ามพวกบริษัทอเมริกันขายชิ้นส่วนต่างๆ ให้หัวเว่ย อีกทั้งไม่ให้บริษัทอเมริกันซื้อสินค้าของหัวเว่ย เหรินบอกว่าบริษัทของเขาดำเนินการพัฒนาชิปของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดทอนผลกระทบที่การแบนเช่นนี้จะมีต่อการผลิตของหัวเว่ย

เหรินกล่าวว่า แม้กระทั่งถ้าหากบริษัทควอลคอมม์ (Qualcomm) และซัปพลายเออร์อเมริกันรายอื่นๆ จะไม่ขายชิปให้หัวเว่ย ก็ “ไม่เป็นไร” โดยเขายืนยันว่า “เรากำลังมีการเตรียมตัวพรักพร้อมอยู่แล้วเพื่อรับมือกับเรื่องนี้”

บริษัทลูกของหัวเว่ย ที่มีชื่อว่า ไฮซิลิคอน เทคโนโลยีส์ (HiSilicon Technologies) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวหลักในเรื่องการออกแบบชิปประมวลผลตัวแกนกลาง ก็เพิ่งกล่าวอ้างอิงถึงแผนการต่างๆ สำหรับการรับมือกับสถานการณ์ที่การซัปพลายชิ้นส่วนอาจเกิดการสะดุดติดขัด โดยในจดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เทเรซา เหอ ติงโป (Teresa He Tingbo) ประธานบริหารของไฮซิลิคอน เขียนเอาไว้ว่า “จริงๆ แล้วเราคาดหมายว่าจะเกิดเรื่องแบบวันนี้ขึ้นมาตั้งแต่หลายปีมาแล้ว และเราก็มีแผนแบ็กอัปคอยรับมืออยู่แล้ว”

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว (Nikkei Asiaa Review) ฉบับวันเสาร์ (18 พ.ค.) เหรินกล่าวย้ำว่าหัวเว่ยไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย “เราไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้นที่เป็นการละเมิดกฎหมาย” เขาบอก (ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://asia.nikkei.com/Economy/Trade-war/Huawei-does-not-need-US-chips-CEO-on-Trump-export-ban)

ขณะเดียวกันเหรินก็พูดด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวมากขึ้นอย่างที่เขาได้ใช้อยู่ในระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ โดยเขายืนยันว่าหัวเว่ยจะไม่ยอมให้วอชิงตันมาบงการควบคุม “เราจะไม่เปลี่ยนแปลงคณะบริหารของเราตามการเรียกร้องของสหรัฐฯ หรือยอมรับให้พวกเขาเข้ามาเฝ้าติดตามตรวจสอบ เหมือนอย่างที่ แซดทีอี ได้เคยยอมตกลงกับพวกเขา” ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยกล่าว

สหรัฐฯได้ประกาศแบนลักษณะคล้ายๆ กันนี้กับแซดทีอีเมื่อปีที่แล้ว และทำให้บริษัทเทเลคอมสัญชาติจีนเช่นกันแต่รายเล็กกว่าหัวเว่ยแห่งนั้น ถึงกับทำท่าจะเจ๊งไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ดังนั้นแซดทีอีจึงประกาศยินยอมทำตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของวอชิงตัน เพื่อให้หลุดออกจาก“บัญชีดำ” และสามารถซื้อชิ้นส่วนจากซัปพลายเออร์อเมริกันได้ใหม่

เหรินกล่าวว่า ผลกระทบจากการสั่งแบนของสหรัฐฯต่อธุรกิจของหัวเว่ย จะอยู่ในระดับที่จำกัด พร้อมกับแสดงความมั่นอกมั่นใจในทิศทางอนาคตระยะยาว “เป็นที่คาดหมายกันว่าอัตราเติบโตของหัวเว่ยน่าจะชะลอตัวลง แต่ก็เพียงนิดหน่อยเท่านั้น” เขากล่าวโดยยกตัวอย่างว่า อัตราเติบโตของรายรับประจำปีมีความเป็นไปได้ที่จะออกมาต่ำกว่าเป้าหมาย 20%

“นโยบายต่างๆ ที่เป็นการข่มขู่คุกคามคู่ค้ารายแล้วรายเล่า จะกลายเป็นการลิดรอนทำให้ทัศนคติกล้าเสี่ยงของบริษัทต่างๆ เสียหายไป และสหรัฐฯก็จะสูญเสียเครดิตความน่าเชื่อถือ” เหรินบอก

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง เขามองว่าพวกนโยบายการค้าที่ประธานาธิบดีทรัมป์นำเอามาใช้ จะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้แก่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของจีน “ผมกระทั่งขอชี้เอาไว้ว่า สภาพแวดล้อมจะปรับปรุงยกระดับดีขึ้น” เหรินกล่าว

นายใหญ่ของหัวเว่ยปฏิเสธแข็งขันเมื่อถูกถามเรื่องลู่ทางที่จะผลิตอุปกรณ์ 5 จี บนแผ่นดินอเมริกัน “แม้กระทั่งถ้าหากสหรัฐฯขอร้องเราให้ไปตั้งโรงงานผลิตที่นั่น เราก็จะไม่ไป” เหรินประกาศ

ตามตัวเลขในปัจจุบัน หัวเว่ยต้องซื้อหาชิ้นส่วนต่างๆ ในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 67,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ราวๆ 11,000 ล้านดอลลาร์ได้มาจากพวกซัปพลายเออร์สหรัฐฯ หัวเว่ยต้องพึ่งพาพวกผู้ผลิตชิ้นส่วนอเมริกันมากเป็นพิเศษในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ และยังมีหลายฝ่ายที่เชื่อกันว่าในระยะต่อไปข้างหน้า บริษัทอาจต้องประสบปัญหาไม่มีซัปพลายชิ้นส่วนเพียงพอในการผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เทเลคอม


กำลังโหลดความคิดเห็น