(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Xi wades into ‘clash of civilizations’ row
By Jeff Pao
15/05/2019
ขณะที่สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯกำลังบานปลายขยายตัว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวเตือนว่า เป็นความโง่เขลาที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงอารยธรรมอื่น หรือเอาอารยธรรมของตนเข้าแทนที่อีกอารยธรรมหนึ่ง
ประเทศเอเชียทั้งหลายควรทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ, ขจัดความยากจน, และเพิ่มพูนความร่วมมือกันโดยผ่านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวเช่นนี้เมื่อวันพุธ (15 พ.ค.) ที่ผ่านมา
“ประชาชนชาวเอเชียวาดหวังที่จะมีเอเชียที่เปิดกว้างและต้อนรับรวมเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามา ... เราวาดหวังว่าทุกๆ ประเทศสามารถที่จะยึดมั่นในจิตวิญญาณแห่งการเปิดกว้าง, ผลักดันมุ่งหน้าให้เกิดการติดต่อสื่อสารกันเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ, การเชื่อมต่อกันทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ, และการเคลื่อนย้ายของการค้าและการลงทุนอย่างราบรื่น, และการติดต่อเชื่อมโยงกันของประชาชน” สีกล่าวเช่นนี้ในคำปราศรัยเปิดการประชุมว่าด้วยการสนทนาของอารยธรรมต่างๆ ของเอเชีย (Conference on Dialogue of Asian Civilizations) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงปักกิ่ง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/world/cdac2019/live1/index.htm)
“มนุษย์นั้นมีความผิดแผกแตกต่างกันในเรื่องสีผิวและภาษา ขณะเดียวกันอารยธรรมต่างๆ ก็มีความสวยสดงดงามอย่างหลายหลากที่ผิดแผกกันไป อย่างไรก็ตาม อารยธรรมทั้งหลายไม่ควรถูกจำแนกแยกแยะในลักษณะว่าเป็นระดับสูงหรือเป็นระดับต่ำ เป็นของดีหรือของเลว ใครก็ตามที่คิดว่าเผ่าพันธุ์ของเขาและอารยธรรมของเขาดีกว่าของคนอื่นๆ หรือพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงและเข้าแทนที่อีกอารยธรรมหนึ่งแล้ว ก็คือเป็นคนที่ไม่ฉลาด และนี่จะนำไปสู่ความวิบัติหายนะ” เขากล่าวต่อ
เห็นกันว่าคำปราศรัยของสีช่วงตอนนี้ มุ่งที่จะตอบโต้ คีรอน สกินเนอร์ (Kiron Skinner) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการด้านการวางแผนนโยบาย (director of policy planning) อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เธอผู้นี้ได้กล่าวในเวทีประชุมว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยนัดหนึ่งที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าสหรัฐฯกำลังเตรียมตัวพรักพร้อมสำหรับ “การปะทะกันทางอารยธรรม” (clash of civilizations) กับจีน สกินเนอร์ยังกล่าวด้วยว่า ความท้าทายของจีนนั้นมีลักษณะพิเศษอันโดดเด่น เนื่องจากปรัชญาและประวัติศาสตร์ของแดนมังกร พร้อมกับระบุด้วยว่า ยังเนื่องจากว่า จีน “ไม่ใช่คนผิวขาว” (not Caucasian) (ดูเพิ่มเติมความเห็นเกี่ยวกับความเห็นของสกินเนอร์ได้ที่ https://www.washingtonexaminer.com/policy/defense-national-security/state-department-preparing-for-clash-of-civilizations-with-china)
เมื่อวันอาทิตย์ (12 พ.ค.) สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้ตีพิมพ์บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์ทัศนะของสกินเนอร์ บทวิจารณ์ชิ้นนี้บอกว่าเหตุผลข้อโตแย้งที่เธอยกขึ้นมาอ้างนั้นมีอันตราย และไม่ควรที่จะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายทางการทูตของสหรัฐฯเลย ซินหวากล่าวต่อไปว่าความคิดเห็นต่างๆ ของสกินเนอร์มีแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง, ละเมิดคุณค่าในเรื่องความหลากหลายในสหรัฐฯ และสร้างความเสียหายให้แก่ความร่วมมือระหว่างประเทศ (ดูเพิ่มเติมบทวิจารณ์ของซินหวาได้ที่ https://news.china.com/internationalgd/10000166/20190512/35879032_1.html )
หลี่ ไหตง (Li Haidong) อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้อำนวยการของศูนย์อเมริกันศึกษา (Center for American) มหาวิทยาลัยกิจการต่างประเทศของจีน (American Studies at the China Foreign Affairs University) (ดูโปรไฟล์ของอาจารย์ผู้นี้ได้ที่ http://en.cfau.edu.cn/art/2016/12/1/art_2667_50459.html) บอกกับโกลบอลไทมส์ (Global Times) ว่า เมื่อตอนที่ แซมูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือเรื่อง The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order (การปะทะกันของอารยธรรม และการสร้างระเบียบโลกขึ้นมาใหม่) ของเขาในปี 1993 ทัศนะความคิดเห็นของฮันติงตันได้รับการพิจารณาว่าสดใหม่และสร้างแรงบันดาลใจ
แต่หลี่บอกว่า การยึดมั่นอยู่กับทัศนะเช่นนั้นในที่สุดแล้วจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและการพิพาททางการทูตระหว่างอารยธรรมต่างๆ ขึ้นมา
การโต้แย้งกันในเชิงอุดมการณ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯเช่นนี้ บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกันกับที่สงครามการค้าระหว่างประเทศทั้งสองกำลังบานปลายขยายตัว เมื่อวันศุกร์ (10 พ.ค.) ที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของอเมริกา ประกาศขึ้นพิกัดอัตราศุลกากรที่เก็บจากผลิตภัณฑ์ของจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ จากที่ได้ขึ้นไปแล้ว 10% ตอนปลายปี 2018 เพิ่มเป็น 25% ต่อมาในวันจันทร์ (13 พ.ค.) กระทรวงการคลังของจีนแถลงว่า ชาติเจ้าของระบบเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับสองของโลก ก็จะขึ้นพิกัดอัตราศุลกากรเอากับสินค้าเข้าจากสหรัฐฯมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่เดือนหน้า
เมื่อวันพุธ (15 พ.ค.) สีไม่ได้แสดงความคิดเห็นโดยตรงเกี่ยวกับสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ในคำปราศรัยที่เขาพูดกับอาคันตุกะราว 2,000 คนจาก 47 ประเทศ ณ การประชุมว่าด้วยการสนทนาของอารยธรรมต่างๆ ของเอเชีย ซึ่งพวกสื่อที่ดำเนินการโดยภาครัฐของจีนต่างประทับตราให้ว่า เป็น “กิจกรรมทางการทูตครั้งสำคัญ” (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/politics/leaders/2019-05/09/1124470736_15573682136001n.jpg)
ตรงกันข้าม คำปราศรัยของเขามุ่งที่จะเสนอว่า จีนเป็นประเทศที่ไม่เป็นภัยคุกคามใดๆ และเปิดกว้างให้แก่ทุกๆ คน
อารยธรรมจีนเป็น “ระบบที่เปิดกว้าง” ซึ่งได้แลกเปลี่ยนและได้เรียนรู้จากวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นต้นว่า ศาสนาพุทธ, ลัทธิมาร์กซ์, และศาสนาอิสลาม สีกล่าว
“จีนในทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงจีนของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นจีนของเอเชีย และจีนของโลก จีนในอนาคตจะยิ่งยึดมั่นในจุดยืนที่เปิดกว้างมากขึ้นอีกเพื่อต้อนรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโลก” เขากล่าวในคำปราศรัย
เวลาเดียวกัน สีบอกว่า ไม่มีประเทศใดเลยที่สามารถยืนอยู่คนเดียวโดยลำพังได้ คำพูดตอนนี้ผู้สังเกตการณ์บางรายตีความว่า อาจเป็นการพาดพิงมุ่งติติงนโยบาย “อเมริกาต้องเป็นอันดับแรก” (American Fiest) ของทรัมป์
“อารยธรรมต่างๆ จะสูญเสียพลังชีวิตไป ถ้าหากประเทศต่างๆ ถอยกลับไปสู่การอยู่อย่างโดดเดี่ยว และตัดขาดพวกเขาเองออกจากส่วนอื่นๆ ของโลก
คำปราศรัยของสียังเรียกร้องให้มีความเคารพซึ่งกันและกันในหมู่ประเทศเอเชียที่มีผิดแผกแตกต่างกัน
“บนรากฐานของความสำเร็จอันยอดเยี่ยมต่างๆ ที่บรรพบุรุษของพวกเราได้เสาะแสวงหามาได้นี้ พวกเราจะ ... มั่นคงเด็ดเดี่ยวในการสืบต่อขีดเขียนจารึกความรุ่งโรจน์อย่างใหม่ๆ ของอารยธรรมต่างๆ ของเอเชีย” เขากล่าว
จากนั้น สี ก็พูดต่อไปว่า ประเทศต่างๆ ในเอเชียควรร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนสันติภาพในภูมิภาค ไม่เช่นนั้นแล้ว การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ, การปรับปรุงยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน, และความมีเสถียรภาพของสังคม ก็จะกลายเป็นเพียงเป้าหมายอันว่างเปล่าเท่านั้น ผู้นำจีนยังกล่าวสนับสนุนปลุกเร้าให้ใช้ความพยายามร่วมกันเพื่อผลักดันให้โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและการกำจัดความยากจนบังเกิดความคืบหน้า
เขาเน้นย้ำด้วยว่า จีนกำลังมีความปรารถนาที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย และให้การท่องเที่ยวสร้างคุณูปการเพิ่มมากขึ้นแก่การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนราว 160 ล้านคนไปเยือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาเยือนจีนก็บรรลุถึงระดับ 140 ล้านคน
หมายเหตุผู้แปล – ได้เพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ดูรายละเอียดได้ที่ https://ca.reuters.com/article/topNews/idCAKCN1SL0FJ-OCATP)