xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” ลงนามคำสั่งพิเศษประกาศภาวะฉุกเฉิน เปิดทางห้ามบริษัทสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับ “หัวเว่ย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในวันพุธ (15 พ.ค.) ลงนามในคำสั่งพิเศษประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและห้ามบริษัททั้งหลายของอเมริกาใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ ที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ เปิดทางสำหรับการห้ามทำธุรกิจกับหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ของจีน

คำสั่งพิเศษนี้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ ซึ่งมอบอำนาจแก่ประธานาธิบดีในการควบคุมพาณิชย์ ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติที่คุกคามสหรัฐฯ โดยคำสั่งได้บัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล ในการร่างแผนเพื่อการบังคับใช้ภายใน 150 วัน

วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่าคำสั่งนี้ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณามานานกว่า 1 ปี มีเป้าหมายปกป้องห่วงโซ่อุปทานจากศัตรูต่างชาติ ไม่ให้เข้าถึงข้อมูล, เทคโนโลยีคมนาคมและห่วงโซ่อุปทานด้านการบริการของประเทศ “ภายใต้ผู้นำประธานาธิบดีทรัมป์ ชาวอเมริกาจะสามารถไว้วางใจได้ว่าข้อมูลและสาธารณูปโภคพื้นฐานของเรามีความปลอดภัย”

รอยเตอร์เคยรายงานไปเมื่อวันอังคาร (14 พ.ค.) คาดหมายว่าทรัมป์จะดำเนินการในข้อเสนอที่รอกันมานานในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ แม้ในคำสั่งพิเศษไม่ได้เจาะจงชื่อประเทศหรือบริษัท แต่ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยตราหน้าหัวเว่ยว่าเป็น “ภัยคุกคาม” และเคลื่อนไหวล็อบบี้เหล่าชาติพันธมิตรไม่ให้ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมของหัวเว่ยในการวางโครงข่าย 5G

คำสั่งพิเศษนี้มีออกมาในช่วงเวลาแห่งความละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในขณะที่สองชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกต่างตอบโต้รีดภาษีกันไปมาในศึกพิพาทที่ทางเจ้าหน้าที่อเมริกาโวยวายว่าปักกิ่งมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม

วอชิงตันเชื่อว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจถูกใช้สอดแนมแก่รัฐจีน แต่ทางหัวเว่ยยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวซ้ำๆ ขณะที่พวกเขายังไม่ออกแสดงความคิดเห็นต่อความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ เคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นในการผลักดันประเทศอื่นๆไม่ให้ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยในการวางโครงข่าย 5G ที่พวกเขาระบุว่า “ไม่น่าไว้วางใจ” และในเดือนสิงหาคมปีก่อน ทรัมป์ ได้ลงนามในร่างกฎหมายฉบับหนึ่งห้ามหน่วยงานรัฐบาลจากการใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย และ แซดทีอี คอร์ปอเรชัน อีกหนึ่งผู้ให้บริการสัญชาติจีน

ประธานคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ (FCC) ซึ่งเคยระบุว่าหัวเว่ยเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ระบุในวันพุธ (15 พ.ค.) “ด้วยภัยคุกคามโดยอุปกรณ์และการบริการจากบริษัทต่างชาติบางแห่ง นี่ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการคุ้มกันเครือข่ายของอเมริกา”

คำสั่งพิเศษสั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ คลอดผลการประเมินในช่วงปลายเดือนมิถุนายน เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสหรัฐฯและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ จากข้อมูลและเทคโนโลยีคมนาคมหรือการบริการ ที่พัฒนา, ผลิตหรือจัดหาโดยบุคคลหรือบริษัทที่มีเจ้าของ, ควบคุมโดย, อยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจหรือสั่งการโดยศัตรูต่างชาติ

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อัยการสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อหาบริษัทในเครือของหัวเว่ย 2 แห่งในรัฐวอชิงตัน โดยกล่าวหาว่าพวกเขาสมคบติดขโมยความลับทางการค้าของบริษัทโทรคมนาคม ที-โมไบล์ ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังตั้งข้อหาหัวเว่ยและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ตามคำกล่าวหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

ในเดือนเมษายน 2018 คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ โหวตเดินหน้าข้อเสนอห้ามใช้งบประมาณภาครัฐ 9,000 ล้านดอลลาร์ ในการซื้ออุปกรณ์และบริการจากบริษัทต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อเครือข่ายโทรคมนาคมของอเมริกา

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารสหรัฐฯ ยังลงมติเป็นเอกฉันท์ห้ามบริษัทไชน่า โมบายล์ จากการเป็นผู้จัดหางานบริการด้านโทรคมนาคมของสหรัฐฯ และบอกว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารอนุญาตที่ก่อนหน้านี้เคยมอบให้แก่บริษัทโทรคมนาคมของจีนอีก 2 รายอย่างไชน่า เทเลคอม และไชน่า ยูนิคอม
กำลังโหลดความคิดเห็น