xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ขยาย‘สงครามการค้า’ แต่จะชนะใน‘สงครามเทค’กับจีนได้หรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน

<i>ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์, รองนายกรัฐมนตรีจีน หลิว เหอ, และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯสตีเวน มนูชิน ระหว่างการเจรจาการค้าที่กรุงปักกิ่ง </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Washington plays Monopoly, Beijing plays Go
By David P. Goldman
14/05/2019

พวกบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไฮเทคที่กำลังผงาดขึ้นมาของจีน ไม่ได้พึ่งพาตลาดสหรัฐฯหรอก จึงกำลังเปิดช่องว่างจุดอ่อนซึ่งสามารถบ่อนทำลายความเป็นผู้นำของอเมริกันในอุตสาหกรรมสำคัญๆ

สหรัฐฯกับจีนกำลังสู้รบทำสงครามการค้ากัน ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผมได้เคยคาดหมายเอาไว้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.asiatimes.com/2019/05/article/buy-chinese-stocks-on-the-dip/?_=7122128) และก็กำลังสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งภาวการณ์ซื้อขายกันในวันจันทร์ (13 พ.ค.) ได้กลายเป็นวันเลวร้ายที่สุดของพวกเขาภายหลังจากวันที่ 3 มกราคมเป็นต้นมา โดยที่ดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในตลาดวอลล์สตรีทในวงกว้างได้ตกลงมาประมาณ 2.5% ส่วนราคาหุ้นในภาคเทค ร่วงหล่นราว 3% นำโดยพวกบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์

ในทวิตที่เขาโพสต์ตอนเช้ามืดวันจันทร์ (13 พ.ค.) และอีกครั้งหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวพร้อมกับประธานาธิบดีวิกตอร์ ออร์บัน แห่งฮังการี ซึ่งเป็นอาคันตุกะผู้มาเยือน ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวย้ำทัศนะความคิดเห็นของเขาที่ว่า เศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ในภาวะอ่อนแอ ขณะที่เศรษฐกิจของอเมริกากำลังเข้มแข็ง เขาเชื่อว่าการที่สหรัฐฯปรับขึ้นภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บจากสินค้าจีน จะส่งผลให้การค้าโยกย้ายออกไปจากแดนมังกร โดยที่มีบางส่วนจะหวนกลับคืนมาสู่สหรัฐฯ

ประธานาธิบดีทรัมป์นั้นต้องการที่จะรื้อฟื้นยุคอดีตซึ่งอเมริกาเป็นผู้มีฐานะครอบงำอุตสาหกรรมการผลิตของโลก และยุทธศาสตร์ในการเจรจาต่อรองของเขาชวนให้ระลึกถึงเกม “โมโนโพลี” (Monopoly เวอร์ชั่นภาษาไทยเรียกกันในชื่อว่า เกมเศรษฐี -ผู้แปล) ของบริษัทพาร์กเกอร์บราเธอร์ส (Parker Brothers) ซึ่งผู้เล่นทั้งหลายจะต้องพยายามหาทางให้ได้ค่าเช่าเข้ามามากที่สุด แต่สำหรับจีนแล้วพวกเขากำลังเล่นเกม “หมากล้อม” (โก๊ะ) ซึ่งเป็นหมากกระดานฝึกความคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่นิยมกันมาตั้งแต่โบราณ ด้วยเป้าหมายที่จะครองฐานะความเหนือล้ำทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดอ่อนข้อบกพร่อง และทั้งสองฝ่ายต่างจะต้องประสบกับอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลงในเมื่อเกิดสงครามการค้าขึ้นมา อย่างที่ แลร์รี คุดโลว์ (Larry Kudlow) ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของทำเนียบขาวชี้เอาไว้ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เมื่อวันอาทิตย์ (12 พ.ค.) ทว่าจีนวาดหวังว่าตนเองจะสามารถก้าวผ่านพ้นจากสงครามการค้าครั้งนี้โดยที่มีฐานะนำหน้าอย่างไม่มีใครสามารถท้าทายได้ในด้านอุตสาหกรรมการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์และการออกแบบชิปเซมิคอนดักเตอร์ ถ้าแดนมังกรประสบความสำเร็จในเรื่องนี้จริงๆ ก็จะไม่เพียงกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีฐานะโดดเด่นเลิศล้ำกว่าชาติอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังจะมีฐานะเป็นมหาอำนาจทางการทหารซึ่งโดดเด่นเลิศล้ำยิ่งกว่าชาติไหนๆ อีกด้วย

การติดลบฮวบของตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันจันทร์ (13 พ.ค.) เป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของอเมริกา

หุ้นตัวที่ราคาลงแรงที่สุดได้แก่ อินวิเดีย (Nvidia) บริษัทออกแบบชิป ติดตามมาด้วย แอปเปิล, แคเทอร์พลิลลาร์, เทกซัสอินสทรูเมนตส์, และโบอิ้ง หุ้นในภาคการเงินก็หล่นฮวบเหมือนกันโดยลงตามอัตราผลตอบแทนของพวกหุ้นกู้ การที่ผลตอบแทนของพวกหุ้นกู้แบบมีกำหนดกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนรูดลงต่ำ ก็คือลดทอนผลกำไรของพวกผู้ให้กู้ และราคาหุ้นภาคการเงินย่อมเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราผลตอบแทนของพวกหุ้นกู้อยู่แล้ว

สหรัฐฯได้เดินหน้าเปิดศึกกับจีนทั้งสงครามการค้า (ในเรื่องที่จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ, โจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา, และตั้งกำแพงกีดกันบริษัทต่างชาติทั้งหลาย) และทั้งสงครามเทค โดยที่ในสงครามอย่างหลังนั้น อเมริกาเล็งเป้าหมายมุ่งเล่นงานหัวเว่ย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์การสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของแดนมังกร

หัวเว่ย คือหัวหอกของแผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI ชื่อที่นิยมเรียกขานกันอีกชื่อหนึ่งคือ เส้นทางสายไหมใหม่ -ผู้แปล) ของจีน ซึ่งมุ่งที่จะจัดสร้างเครือข่ายแห่งการสื่อสารบรอดแบนด์ไร้สาย และโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อสร้างประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ขึ้นมาใหม่ด้วยโมเดลแบบจีน หัวเว่ยถือเป็นผู้นำหน้าอย่างชัดเจนในเรื่องบรอดแบนด์ 5 จี และถึงแม้สหรัฐฯได้ลงแรงใช้ความพยายามอย่างหนักในการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อม รวมไปถึงใช้การข่มขู่คุกคามต่างๆ เพื่อให้บรรดาชาติพันธมิตรของตนตัดขาดไม่นำเอาผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยมาใช้งาน แต่ปรากฏว่าชาติยุโรปทางภาคพื้นทวีป เช่นเดียวกับอังกฤษ ต่างเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องต้องการของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งพฤติการณ์อย่างนี้เท่ากับเป็นการหยามหมิ่นอย่างเลวร้ายที่สุดที่การทูตอเมริกันเคยได้รับมา ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามเวียดนามอันน่าอัปยศอดสูแล้ว

ดูเหมือนวอชิงตันไม่ได้ให้ความใส่ใจกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ข้อเท็จจริงนี้ก็คือ หัวเว่ยสามารถขึ้นครองฐานะเป็นเพลเยอร์ที่เด่นล้ำเหนือใครๆ ในแวดวงอุปกรณ์เทเลคอมระดับโลก ทั้งๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดอเมริกันในความเป็นจริง สินค้าออกมูลค่าเกือบๆ 500,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งจีนส่งไปสหรัฐฯนั้น ส่วนใหญ่แล้วประกอบด้วยพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ที่แดนมังกรนำเข้าเอาส่วนประกอบต่างๆ จากต่างประเทศมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศของตน อเมริกาซื้อหาผลผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตของจีนเป็นจำนวนประมาณ 5% ก็จริงอยู่ ทว่าการสร้างคุณูปการให้แก่มูลค่าเพิ่มนั้นกลับอยู่ในระดับที่ต่ำ พวกอุตสาหกรรมให้มูลค่าเพิ่มสูงๆ ที่จีนกำลังพยายามบ่มเพาะดูแลอยู่เวลานี้นั้น เป็นสิ่งที่ส่งออกไปขายให้เอเชียและยุโรป ด้วยแบบแผนเช่นนี้ หัวเว่ยก็สามารถแซงหน้าแอปเปิลกลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนออกจากโรงงานได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลกในระหว่างไตรมาสแรกของปี 2019 นี้ ถึงแม้แทบไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดสหรัฐฯเลย

ในทางตรงกันข้าม พวกบริษัทออกแบบชิประดับเรือธงของอเมริกา ต่างต้องพึ่งพาอาศัยตลาดเอเชียอย่างมากมายมหาศาล รายรับส่วนใหญ่ของบริษัทอินดิเวีย และของบริษัทควอลคอมม์ (Qualcomm) มีต้นตอมาจากเอเชีย ไม่ใช่จากในสหรัฐฯแต่อย่างใด จวบจนกระทั่งถึงปลายปีที่แล้ว บริษัทเหล่านี้ยังมีฐานะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของโลกในเรื่องเครื่องมือถือและพวกชิปประมวลผลข้อมูล แต่มันไม่ใช่เช่นนั้นเสียแล้ว เมื่อหัวเว่ยได้เปิดตัวชิป “เอสเซนด์” (Ascend) ของบริษัท สำหรับใช้ในการคำนวณข้อมูลขนาดใหญ่ๆ และใช้ในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน

เมื่อต้นปี 2018 สหรัฐฯเกือบจะทำให้ แซดทีอี (ZTE) บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนของจีนที่เป็นรายเล็กลงมากว่าหัวเว่ย ต้องเจ๊งไปเลยด้วยซ้ำ เมื่อประกาศห้ามไม่ให้ส่งออกชิปของควอลคอมม์ไปให้แก่แซดทีอี แต่พอถึงปลายปี 2018 จีนก็อยู่ในสภาพที่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์เช่นนี้ขึ้นเองภายในประเทศจนเพียงพอที่จะใช้แล้ว โดยที่ผลการศึกษาอย่างเป็นอิสระของฝ่ายญี่ปุ่นชิ้นหนึ่ง ได้ให้เรตให้คะแนนพวกเซมิคอนดักเตอร์ของจีนว่า มีความทัดเทียมกันหรือกระทั่งมีความเหนือล้ำกว่าของแอปเปิลด้วยซ้ำ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Business/China-tech/Huawei-closes-technology-gap-with-Apple-on-chip-design)


การที่ราคาหุ้นของพวกบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯหล่นฮวบในวันจันทร์ (13 พ.ค.) เป็นเพราะพวกนักลงทุนรู้สึกหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามตัดราคาชิปขึ้นมา หัวเว่ยได้เคยเร่งเครื่องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตนในตลาดอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ด้วยการตัดราคาและสามารถแย่งยึดเพิ่มพูนส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ได้ เวลานี้บริษัทก็อยู่ในฐานะที่จะทำอย่างเดียวกันนี้กับพวกบริษัทดีไซน์ชิประดับก้าวหน้าล้ำยุคที่สุดของอเมริกาแล้ว

อเมริกาในปัจจุบันแทบไม่เหลือศักยภาพในเรื่องการผลิตชิปแล้ว (บริษัทสหรัฐฯเคยเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เป็นปริมาณ 25% ของโลกในปี 2011 แต่ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 10% ในปี 2018) แต่จวบจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง ยังคงเป็นผู้นำเป็นผู้ได้เปรียบในเรื่องการออกแบบชิป อย่างไรก็ดี อเมริกาอาจกำลังจะต้องสูญเสียด้านนี้ไปเหมือนกัน ทั้งนี้ จีนไม่ได้จำเป็นต้องใช้พิกัดอัตราศุลกากรหรืออุปสรรคเครื่องกีดขวางอื่นๆ เลย ในการปิดกิจการบริษัทอเมริกันให้พ้นออกไปจากเอเชีย หัวเว่ยกำลังอยู่ในฐานะที่จะกำจัดคู่แข่งขันให้พ้นทางได้โดยใช้เรื่องราคา

ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นฝ่ายถูกต้องอยู่หรอก ในการที่เขาโต้แย้งให้เหตุผลว่าพวกอุตสาหกรรมการผลิตจะโยกย้ายออกจากจีนไปตั้งในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ซึ่งสหรัฐฯไม่ได้ปรับขึ้นภาษีศุลกากร ทว่านี่เป็นข่าวเก่าๆ ขึ้นราไปแล้ว พวกกิจการของจีนกำลังโยกย้ายพวกอุตสาหกรรมประกอบตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งทั้งจ้างแรงงานในราคาต่ำ และทั้งให้มูลค่าเพิ่มไม่ได้มาก ออกจากแดนมังกรไปเวียดนามอยู่แล้วในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ดังที่จะเห็นได้ว่า เมื่อปี 2014 ยอดการส่งออกของเวียดนามไปยังจีน มีมูลค่าเพียงแค่หนึ่งในแปดของสินค้าออกอเมริกันที่ส่งไปยังจีน ทว่าทุกวันนี้ตัวเลขนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นจนมีมูลค่าเกือบเท่ากับครึ่งหนึ่งแล้ว

หากว่าประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากรในอัตรา 25% เอากับสินค้าออกที่จีนส่งเข้าสหรัฐฯทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว เศรษฐกิจจีนก็จะได้รับความเสียหายจนอัตราเติบโตลดต่ำลงไปบ้าง รวมทั้งจีนจะต้องหาวิธีการต่างๆ ในการว่าจ้างบรรดาคนทำงานกึ่งใช้ฝีมือ ที่ปัจจุบันเป็นผู้ทำงานอยู่ในโรงงานประกอบตัวผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคสำหรับส่งออกสู่ตลาดอเมริกัน แน่นอนทีเดียว นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่าสบายอกสบายใจอะไรเลย และเห็นได้ชัดเจนว่าคณะผู้นำจะพึงพอใจมากกว่าหากสามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ แต่ถ้าจีนเชื่อว่าตนกำลังถูกบังคับให้ต้องเข้าสู่สงครามการค้าแล้ว แดนมังกรก็จะยินดีดูดซับความเจ็บปวดเช่นนี้ ยุทธศาสตร์ในการทำสงครามการค้าของปักกิ่งนั้น จะเป็นการใช้ความพยายามเพื่อบ่อนทำลายพื้นที่สำคัญๆ ที่อเมริกันเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอยู่

อเมริกาในเวลานี้ไม่ได้เสนอผลิตภัณฑ์ใดๆ เลยที่สามารถแข่งขันได้ในแวดวงบรอดแบนด์ 5 จี วอชิงตันได้แต่รบเร้าพวกชาติพันธมิตรของตนให้หันไปทำงานกับบริษัทยุโรปอย่าง อิริคสัน และโนเกีย นี่ถือเป็นทางเลือกหลักๆ หากไม่พึ่งพาอาศัยหัวเว่ย ทว่าน่าเศร้าใจนักที่สหรัฐฯไม่สามารถที่จะหลอกลวงใครได้หรอก เพราะอิริคสันและโนเกียเสนอผลิตภัณฑ์ซึ่งราคาแพงกว่าและมีความสามารถในการทำงานได้ด้อยกว่าของหัวเว่ย บริษัททั้งสองยังเอาต์ซอร์สขั้นตอนการผลิตด้านฮาร์ดแวร์ของพวกตนให้ไปทำกันในเมืองจีน (ซึ่งหมายความว่าถ้าหากจีนต้องการที่จะแอบเจาะ “ประตูหลัง” เอาไว้ในชิปของ 2 บริษัทนี้เพื่อจะได้โจรกรรมข้อมูลในอนาคตข้างหน้าแล้ว ก็สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้อย่างง่ายดายพอๆ กับที่จะทำกับผลิตภัณฑ์ของพวกบริษัทจีนนั่นแหละ) อันที่จริงแล้วพวกเขายังคงสามารถอยู่ในธุรกิจได้ ก็เพราะหัวเว่ยชื่นชอบมากกว่าที่จะทำให้เกิดภาพภายนอกว่ามีการแข่งขันกัน และก็นำเอาอิรัคสันกับโนเกียเข้ามาเป็นบริษัทร่วมค้ากันในเวลารจัดทำโครงการขนาดใหญ่ๆ

เท่าที่ผมทราบมา ภายในคณะบริหารทรัมป์ไม่ได้มีการอภิปรายหารือในเรื่องการฟื้นฟูการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาใหม่ในสหรัฐฯ ถึงแม้มันคืออุตสาหกรรมที่สหรัฐฯประดิษฐ์สร้างขึ้นและดำเนินการพัฒนาต่อเนื่อง ก่อนที่จะอพยพโยกย้ายไปอยู่ทางเอเชีย ในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนนั้น กำลังมีท่าทางที่จะสามารถขึ้นเป็นผู้นำทั้งทางด้านการออกแบบและการผลิตชิปโทรศัพท์มือถือ 5 จี, การสร้างเครือข่าย 5 จีระดับชาติ, และการพัฒนาเพื่อนำเอา 5 จี ไปประยุกต์ใช้งานทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและทั้งทางการทหาร

การที่เงินดอลลาร์กำลังมีค่าอ่อนลงในเวลานี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าสบายใจ อย่างที่ผมได้ชี้เอาไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว (ดูรายละเอียดได้ในข้อเขียนเรื่อง “The Dollar That Didn’t Bark” ของผม https://www.asiatimes.com/2019/05/article/the-dollar-that-didnt-bark/) หู ซีจิน (Hu Xijin) บรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ (Global Times หนังสือพิมพ์แทบลอยด์และข่าวออนไลน์ที่เป็นกิจการในเครือ เหรินหมินรึเป้า หรือ People’s Daily ซึ่งเป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน -ผู้แปล) ทวิตเมื่อวันจันทร์ (13 พ.ค.) ว่า พวกผู้รู้นักวิชาการชาวจีนกำลังศึกษากันในเรื่องความเป็นไปได้ที่จีนจะเทขายพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯซึ่งแดนมังกรถือครองอยู่เป็นปริมาณมหาศาล พวกเขาสามารถที่จะศึกษาเรื่องนี้ไปตลอดทั้งวันก็ได้ แต่พวกเขาจะไม่ทำเช่นนั้นหรอก เพราะถ้าจีนพยายามที่จะเริ่มเทขายหนักในตลาดพันธบัตรคลังแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และอุปสงค์ความต้องการในพันธบัตรคลังก็กลับจะเพิ่มสูงขึ้น

กระนั้นก็ตาม การโยกย้ายไปถือครองสินทรัพย์ที่เป็นทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตัวเด่นน่าจับตาก็คือทองคำและเงินเยนญี่ปุ่น ย่อมเป็นพัฒนาการอันไม่ปกติที่กำลังเกิดขึ้นมา ปกติแล้วเงินดอลลาร์ย่อมทำหน้าที่เป็นแหล่งหลบภัยที่ไว้วางใจได้ในเวลาที่เกิดความเครียดเค้นต่างๆ แต่การที่ค่าเงินดอลลาร์กลับอ่อนตัวลงในช่วงการซื้อขายหลายๆ วันที่ผ่านมา ย่อมชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของฝ่ายอเมริกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น