xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสเกิด'สงคราม' หลัง'อิหร่าน'ตอบโต้ที่'สหรัฐฯ'ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร

<i>เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ขณะแล่นผ่านคลองสุเอซ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม  บนเส้นทางมุ่งหน้าไปยังอ่าวเปอร์เซีย </i>
Iran to even the nuclear score with US
By M.K. Bhadrakumar
07/05/2019

ทั้งฝ่ายอิหร่านและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ดูจะไม่ได้คิดทำสงครามกัน ทว่าการแสดงท่าทีมุ่งท้าทายฝ่ายตรงข้ามจนถึงสุดขอบย่อมเป็นเรื่องที่มีอันตรายในตัวของมันเอง โดยต้องไม่ลืมด้วยว่าอิสราเอลก็กำลังเฝ้ารอคอยอยู่ข้างๆ เตรียมพร้อมที่จะใช้เล่ห์เหลี่ยมสกปรกอะไรขึ้นมาก็ได้
ขาดอีกประมาณ 6 เดือน ก็จะครบรอบ 30 ปีพอดี นับตั้งแต่ที่เรือ ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น (USS Abraham Lincoln) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ ได้ขึ้นระวางเข้าประจำการเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1989 ในฐานะที่เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ (Nimitz-class) ลำที่ 5 ของกองทัพเรืออเมริกัน เวลานี้ ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ออกเดินทางจากโครเอเชีย และบ่ายหน้าเข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย มันคงจะมีอารมณ์ความรู้สึกผสมผสานกันซับซ้อนพอดูทีเดียว

ชั่วขณะที่ดีเยี่ยมที่สุดของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ในตลอดเกือบๆ 30 ปีแห่งอายุขัยของมัน น่าจะเกิดขึ้นในวันซึ่งมีแสงแดดสดใสเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2003 ณ ชายฝั่งของเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ตอนที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐฯในเวลานั้น ซึ่งได้แก่ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ลงมาสู่ดาดฟ้าของเรือลำนี้ จากที่นั่งนักบินผู้ช่วยของเครื่องบินขับไล่ไอพ่นลำหนึ่งของนาวีอเมริกัน แล้วทำสัญญาณยกหัวแม่มือขึ้นเพื่อแสดงการยกย่องชมเชย และประกาศว่าได้ชัยชนะในสงครามในอิรัก

“การปฏิบัติการสู้รบใหญ่ๆ ในอิรักได้สิ้นสุดลงแล้ว” ทรัมป์กล่าวปราศรัย โดยที่มีแผ่นผ้าเขียนข้อความว่า “Mission Accomplished” (ภารกิจบรรลุผลสมบูรณ์แล้ว) มองเห็นเด่นสะดุดตาอยู่เหนือศีรษะของเขา วลีนี้เองที่กลายเป็นวลีแห่งความอัปยศที่เขาจะถูกลำเลิกพาดพิงถึงไม่หยุดไม่หย่อน

อีก 16 ปีต่อมา ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น กำลังแล่นกลับไปยังอ่าวเปอร์เซีย ในลักษณะที่ดูเหมือนกับจะได้โอกาสไถ่โทษแก้ตัว –นั่นคือการเข้าประจันหน้ากับผู้ชนะตัวจริงของสงครามอิรัก และก็เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ อิหร่าน บรรดาชายหญิงจำนวนกว่า 5,000 คนที่ประจำการในเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้คงจะต้องรู้สึกย้อนแย้งกับชั่วขณะอันไม่น่าจะเป็นไปได้นี้ เมื่อ จอห์น โบลตัน (John Bolton) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงประกาศการปฏิบัติภารกิจเที่ยวต่อไปของพวกเขา ในตอนสามทุ่งครึ่งของคืนวันอาทิตย์ (5 พ.ค.)

คำแถลงของโบลตันคราวนี้มีข้อความดังนี้: “เพื่อตอบสนองต่อเครื่องบ่งชี้และสัญญาณเตือนภัยซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยุ่งยากจำนวนหนึ่งที่กำลังบานปลายขยายตัว สหรัฐฯจึงกำลังจัดส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น และชุดเฉพาะกิจเครื่องบินทิ้งระเบิดชุดหนึ่ง ไปยังพื้นที่ในความดูแลรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command หรือ US CENTCOM เป็นกองบัญชาการซึ่งรับผิดชอบการปฏิบัติการทางทหารของอเมริกาในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน -ผู้แปล) เพื่อเป็นการส่งข้อความอันชัดเจนและไม่ผิดพลาดไปยังระบอบปกครองอิหร่านว่า การโจมตีใดๆ ก็ตามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือต่อผลประโยชน์ของเหล่าพันธมิตรของเรา จะต้องเผชิญกับกองกำลังที่ไม่มีการลดละยับยั้ง สหรัฐฯไม่ได้กำลังแสวงหาการทำสงครามกับระบอบปกครองอิหร่าน แต่เรากำลังเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อตอบโต้การโจมตีใดๆ ก็ตามที ไม่ว่าจะโดยตัวแทน, เหล่ากองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps เป็นเสมือนกองทัพอีกกองทัพหนึ่งที่อยู่ในการบังคับบัญชาของฝ่ายศาสนาของอิหร่าน เคียงคู่ไปกับกองทัพประจำการปกติ -ผู้แปล), หรือกองกำลังปกติธรรมดาของอิหร่าน”

โบลตันไม่ได้อธิบายแจกแจงรายละเอียดเป็นพิเศษใดๆ แน่นอนอยู่แล้วว่า การที่จู่ๆ ก็มีการแถลงประกาศเช่นนี้ --โดยที่การแถลงในวันอาทิตย์ย่อมถือว่าไม่ปกติอยู่แล้ว แล้วนี่ยังพิเศษผิดธรรมดาในเรื่องเวลาแถลงอีก นั่นคือตอนสามทุ่มครึ่ง-- กลายเป็นการจุดชนวนให้เกิดการคาดเดากะเก็งกันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม เตหะรานรับมือกับถ้อยคำของโบลตันได้เป็นอย่างดี ด้วยการไม่ให้ราคาและบอกว่ามันเป็นแค่ “สงครามจิตวิทยา”
<i>จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศชัยชนะในสงครามอิรัก บนดาดฟ้าเรือ  ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น  ขณะอยู่ที่ชายฝั่งเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2003 </i>
คำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ ดูเหมือนวันที่ 8 พฤษภาคมดังกล่าว ให้บังเอิญว่าเป็นวันครบรอบ 1 ปีพอดิบพอดี ของการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศนำสหรัฐนถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.newsobserver.com/news/nation-world/world/article230108469.html) และข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ก็คือว่าวาระครบรอบนี้สะท้อนความเป็นจริงที่โดดเด่นอย่างน้อย 3 อย่างด้วยกัน

ประการแรก นอกเหนือจากสหรัฐฯและพวกกลุ่มแก๊งพันธมิตรในตะวันออกกลางของสหรัฐฯแล้ว ประชาคมระหว่างประเทศยังคงให้ความสนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านต่อไป อาการถูกโดดเดี่ยวอย่างโต้งๆ ของสหรัฐฯเป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน

ประการที่สอง มาตรการคว่ำบาตรลงโทษที่สหรัฐฯใช้เล่นงานอิหร่าน ได้ส่งผลร้ายอย่างหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจของฝ่ายหลัง การเติบโตทางเศรษฐกิจชะงักงันขณะที่ประชาชนเผชิญภาวะขาดแคลนสิ่งของจำเป็นจำนวนหนึ่งที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

ประการที่สาม ถึงแม้เป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ เลยว่า เตหะรานกำลังเปลี่ยนแปลงนโยบายของตนเพื่ออ่อนข้อยอมตามยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของสหรัฐฯ

สิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันก็คือ เตหะรานยังแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยชัดเจนว่า ณ วันครบรอบ 1 ปีในวันที่ 8 พฤษภาคม ประธานาธิบดีฮันซน รูฮานี จะประกาศการปฏิบัติการตอบโต้ของฝ่ายตนต่อการที่สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์

หนังสือพิมพ์เตหะรานไทมส์ (Tehran Times) ซึ่งสะท้อนถึงทัศนะความคิดเห็นของชนชั้นนำในอิหร่าน ได้เสนอรายงานซึ่งอ้างอิงคำพูดของ “แหล่งข่าวหลายราย” ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าอิหร่านจะยกเลิกการปฏิบัติตามข้อจำกัดที่ควบคุมกิจกรรมทางนิวเคลียร์ของตนอยู่อย่างน้อยก็บางข้อบางประการ (ข้อจำกัดนี้คือการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับปี 2015) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายงานนี้อธิบายแจกแจงว่า ขณะที่เตหะรานในเวลานี้ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ (ถึงแม้วอชิงตันได้ละทิ้งไปแล้วก็ตามที) แต่ก็จะใช้ก้าวเดินที่ผ่านการขบคิดอย่างระวังรอบคอบ ภายในกรอบของมาตรา 26 และมาตรา 36 ของข้อตกลงปี 2015

เตหะรานได้แจ้งเจตนารมณ์ของตนนี้ให้ทางสหภาพยุโรปทราบแล้ว (สหภาพยุโรปโดยองค์รวม นอกเหนือจาก 3 ชาติสมาชิกของอียู อันได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี เป็นผู้ร่วมลงนามในข้อตกลงฉบับนี้) การประชุมหารือเร่งด่วนขององค์กรที่เรียกขานกันว่าคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission) หรือ E3+EU3 กำหนดจัดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์วันที่ 7 พฤษภาคมนี้ โดยที่ฝ่ายอิหร่านจัดส่ง อับบาส อารัคชิ (Abbas Araghchi) รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศและหัวหน้าคณะผู้เจรจาของฝ่ายเตหะรานไปเข้าร่วมการหารือ นี่คือการปฏิบัติตามมาตรา 36 ของข้อตกลงนิวเลียร์ ซึ่งระบุถึงแบบวิธีในการตัดสินเมื่อมีข้อพิพาทขึ้นมา (ดูเพิ่มเติมรายงานของเตหะรานไทมส์ได้ที่ https://www.tehrantimes.com/news/435536/Iran-to-respond-to-U-S-exit-from-nuclear-deal-on-Wednesday)

เวลาเดียวกัน เตหะรานยังกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่จะสามารถนำเอามาใช้ได้ เซย์เอด ฮอสเซน มูซาเวียน (Seyed Hossein Mousavian) นักคิดทางยุทธศาสตร์ชาวอิหร่านผู้ทรงอิทธิพล และเคยทำหน้าที่เป็นโฆษกให้คณะผู้เจรจาเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านมาแล้วในอดีต ได้เขียนเอาไว้ใน “มิดเดิลอีสต์อาย” (Middle East Eye) เมื่อวันจันทร์ (6 พ.ค.) เกี่ยวกับความรับรู้ความเข้าใจที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเตหะราน ที่ว่าทำเนียบขาว “กำลังจัดวางกำลังเข้าปิดล้อมอิหร่านในวิถีทางทำนองเดียวกับวิธีซึ่งคณะบริหารบุชได้เคยกระทำ ในตอนที่เตรียมการเพื่อเข้าทำสงครามอย่างผิดกฎหมายมุ่งเล่นงานอิรัก”

นักคิดทางยุทธศาสตร์ชาวอิหร่านผู้นี้กล่าวเตือนว่า “จากการที่สหรัฐฯกำลังเพิ่มการแซงก์ชั่นและการบีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ, จากการที่มหาอำนาจของโลกรายอื่นๆ กำลังล้มเหลวไม่สามารถให้หลักประกันในเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจ (ที่อิหร่านพึงได้รับ) จากข้อตกลง JCPOA (ชื่อย่ออย่างเป็นทางการของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015), ความอดทนของอิหร่านจึงกำลังลดน้อยลงทุกทีแล้ว เวลานี้อิหร่านเหลือทางเลือกอยู่เพียง 2 ทางเท่านั้น ได้แก่ การค่อยๆ ถอนตัวออกจาก JCPOA หรือไม่ก็คือการผละออกไปอย่างฉับพลันจากสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธ (Non-proliferation Treaty ใช้อักษรย่อว่า NPT) และจาก JCPOA ในทันที”

มูซาเวียนสรุปว่า “ทางเลือกทั้ง 2 ทางนี้ต่างมีความเสี่ยงสูง ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารปรากฏอยู่ในทั้ง 2 ทางเลือกดังกล่าว ทว่าทางเลือกอย่างหลังจัดว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะจะทำให้สหรัฐฯไม่สามารถใช้ NPT มาเป็นเครื่องมือเพื่อเล่นงานอิหร่าน ในทางกลับกัน การถอนตัวออกจาก NPT จะเพิ่มพูนความเข้มแข็งให้แก่ฐานะของอิหร่านบนโต๊ะเจรจามากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ด้วยการทำให้อิหร่านมีอำนาจในการต่อรองเพิ่มขึ้น”

ข้อเขียนของเอกอัครราชทูตมูซาเวียน สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://www.middleeasteye.net/opinion/irans-risky-options

ยังมีความเคลื่อนไหวในอีกด้านหนึ่งที่ต้องถือว่ามีความสำคัญ นั่นคือ มีรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศจาวัด ซาริฟ (Javad Zarif) ของอิหร่านกำลังวางแผนเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ

แน่นอนทีเดียว เมื่อถูกผลักถูกดันจนหลังชนกำแพงเช่นนี้ คณะบริหารทรัมป์ก็กำลังทำให้อิหร่านไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการตอบโต้แก้เผ็ด (ส่วนเรื่องที่จะยินยอมอ่อนข้อหลังจากถูกสหรัฐฯข่มเหงรังแกนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดกันเลย)

เวลานี้ถ้าอิหร่านถอนตัวออกจากสนธิสัญญา NPT พวกเขาก็ไม่ได้มีอะไรสูญเสียในสภาวการณ์ที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ ซึ่งการที่อิหร่านจะบูรณาการเข้ากับประชาคมระหว่างประเทศ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ล้วนถูกสกัดขัดขวางจากการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯอยู่แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อปราศจากอิหร่านเข้าร่วมด้วย หลังคาของสถาปัตยกรรมแห่งการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะต้องพังครืนลงมาในชั่วเวลาข้ามคืน

เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า เตหะรานกำลังบีบบังคับประชาคมระหว่างประเทศให้ผลักดันคณะบริหารทรัมป์ให้ถอยกลับไป และฟื้นฟูสถานะเดิมซึ่งเคยเกิดขึ้นจากการเคารพปฏิบัติตามข้อตกลงปี 2015 ทว่าพวกชาติยุโรปนั้นทั้งไม่ได้มีเจตนารมณ์ทางการเมืองและก็ไม่ได้มีศักยภาพหรือความกล้าที่จะทำอะไรเพิ่มมากขึ้นให้สมกับความคาดหวังของอิหร่าน

สหรัฐฯก็ทราบจุดนี้ดี ดังนั้นจุดอ่อนไหวที่อาจปะทุลุกลามจึงกำลังปรากฏขึ้นมา เป็นเรื่องชัดเจนที่ว่าอิหร่านจะไม่เร่งรัดทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการทหารใดๆ ขึ้นมาหรอก แต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่า อิสราเอลก็กำลังเฝ้ารอคอยอยู่ข้างๆ เตรียมพร้อมที่จะใช้เล่ห์เหลี่ยมสกปรกอะไรขึ้นมา ซึ่งจะนำไปสู่การสู้รบขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ตรงนี้แหละที่มีความเสี่ยงอย่างสูง

ถึงแม้สามารถคาดการณ์เช่นนี้กันได้ ทว่าเตหะรานเองกำลังวางเดิมพันว่าตัวทรัมป์เองไม่ได้ต้องการทำสงครามกับอิหร่าน มีความเป็นไปได้ที่โบลตันซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ของอิสราเอลอยู่แล้ว กำลังอวดโอ่ทำสิ่งที่เกินกำลังที่เป็นจริงของตนเอง กระนั้นการแสดงท่าทีมุ่งท้าทายฝ่ายตรงข้ามจนถึงสุดขอบ (brinkmanship) ย่อมเป็นสิ่งที่มีอันตรายเป็นอย่างยิ่งในตัวของมันเอง สงครามระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงนำมาขบคิดพิจารณาเลย เนื่องจากผลต่อเนื่องติดตามมาจะเป็นความวิบัติหายนะไม่เพียงแค่สำหรับทั้งสองฝ่ายและสำหรับภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของโลกและความมั่นคงระหว่างประเทศอีกด้วย แล้วที่เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ เวลานี้อิหร่านกระทั่งยังไม่ได้คุกคามผลประโยชน์ของสหรัฐฯโดยตรงด้วยซ้ำไป

ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ทรัมป์จะถึงกับขบคิดพิจารณาเข้าแสดงบทบาทซ้ำรอยชั่วขณะอันฉาวโฉ่ของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช บนดาดฟ้าเรือ ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น คิดกันอย่างง่ายๆ ก็ได้ อิหร่านนั้นไม่ใช่อิรักในยุคซัดดัม แล้วเฉพาะในซีเรีย, อิรัก, และอัฟกานิสถานเท่านั้น ก็มีทหารอเมริกัน 20,000 คนประจำการอยู่ซึ่งตกอยู่ภายในพิสัยทำการของขีปนาวุธของอิหร่าน

นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah องค์กรและพรรคการเมืองของมุสลิมชีอะห์ในเลบานอน ซึ่งมีกองกำลังอาวุธของตนเอง และมีเกียรติประวัติว่าสามารถขับไล่กองทัพอิสราเอลออกไปจากการยึดครองเลบานอนเมื่อปี 2000 -ผู้แปล) ยังได้เล็งเป้าหมายเล่นงานอิสราเอลเอาไว้อย่างครอบคลุมถี่ถ้วน ฝ่ายอิสราเอลประมาณการว่า จำนวนจรวดที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีอยู่ตามที่ต่างๆ อาจจะสูงถึง 200,000 ลูก (อ่านบทวิเคราะห์ที่เขียนอย่างรอบรู้ของนิตยสารแอตแลนติก ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า The Many Ways Iran Could Target the United States วิธีการจำนวนมากที่อิหร่านสามารถพุ่งเป้าหมายเล่นงานสหรัฐฯได้ที่ https://www.theatlantic.com/politics/archive/2019/05/iran-could-hit-back-boltons-us-carrier-move/588826/)

(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://indianpunchline.com/iran-to-even-the-nuclear-score-with-us/ )


กำลังโหลดความคิดเห็น