xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘สิงคโปร์’ เจอปัญหาแรงงานมีทักษะขาดแคลน แถมรัฐบาลจำกัดรับคนงานต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>ช่างเทคนิคกำลังทำงานในโรงงานผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน ของโรลส์รอยซ์ ที่สิงคโปร์ (ภาพถ่ายเมื่อ 18 มี.ค. 2019) </i>
สิงคโปร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดึงดูดพวกบริษัทอุตสาหกรรมการผลิตระดับไฮเทค ทั้งด้วยแรงจูงใจต่างๆ และกำลังแรงงานที่ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ความเรียกร้องต้องการในเรื่องแรงงานทักษะสูงซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการที่ภาครัฐบาลก็มีความเคลื่อนไหวในการจำกัดจำนวนคนงานต่างชาติ เหล่านี้น่าจะหมายความว่าหนทางข้างหน้าจะต้องลำบากยากเย็นยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มา

ประเทศขนาดเล็กเสมือนกับเป็นนครรัฐแห่งนี้ คือผู้ผลิตรายสำคัญของผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่าง ตั้งแต่เครื่องยนต์ของอากาศยานไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ และฐานขุดเจาะน้ำมัน โดยที่พวกบริษัทระดับท็อปอย่างเช่น โรลส์รอยซ์ (Rolls-Royce) ของอังกฤษ และ ซีเมนส์ (Siemens) กลุ่มกิจการอุตสาหกรรมเยอรมนี ต่างมาตั้งฐานดำเนินกิจการกันอยู่ในสิงคโปร์กันทั้งนั้น

ไดสัน (Dyson) บริษัทผู้บุกเบิกด้านเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ สัญชาติอังกฤษ จะมาเปิดโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกของตนในนครรัฐแห่งนี้ โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้ยวดยานไหลออกมาจากสายการผลิตได้ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป รวมทั้งในปีนี้ยังได้ประกาศแผนการที่จะโยกย้ายสำนักงานใหญ่ดูแลกิจการทั่วโลกของตนมาตั้งที่สิงคโปร์อีกด้วย

ทว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดการขาดแคลนมากขึ้นในด้านแรงงานทักษะเฉพาะเจาะจง สืบเนื่องจากผู้ประกอบการทั้งหลายต่างหันเหเข้าสู่แวดวงอย่างเช่น การผลิตหุ่นยนต์ และการพิมพ์แบบสามมิติ กันเป็นแถว รวมทั้งมีความเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งทำให้การว่าจ้างคนต่างชาติเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นไปอีก ในประเทศที่มีปัญหาการขาดแคลนพื้นที่เป็นเรื่องยืนพื้นอยู่แล้ว เหล่านี้อาจจะทำให้การเข้าไปตั้งโรงงานในสิงคโปร์ในอนาคตข้างหน้า ดูมีเสน่ห์ดึงดูดใจลดน้อยลง

พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของสิงคโปร์นั้น มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพวกเขาในเรื่องการจัดตั้งโรงงานและการหาแรงงานที่เหมาะสม ตลอดจนให้แรงจูงใจต่างๆ อาทิเช่น การลดหย่อนภาษี ทว่าในสภาพที่อุตสาหกรรมจำนวนมากกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างเช่นเวลานี้ จึงทำให้เป็นเรื่องลำบากยากเย็นขึ้นเยอะสำหรับรัฐบาล ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีความคุ้นเคยกับการจัดทำวางแผนรับมือต่างๆ เอาไว้เป็นการล่วงหน้า

“เมื่อ 10 ปีก่อน พวกผู้วางนโยบายสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ด้วยความมั่นใจสูงกว่านี้มากมาย” ซง เซง วุน (Song Seng Wun) นักเศรษฐกิจดูแลภูมิภาคนี้ ของ ซีไอเอ็มบี ไพรเวต แบงกิ้ง (CIMB Private Banking) บอกกับเอเอฟพี และกล่าวต่อไปว่า มาถึงเวลานี้ซึ่งเป็น “ยุคที่เทคโนโลยีกระจัดกระจายยุ่งเหยิง (จึง) กำลังก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่างๆ ขึ้นมาเยอะแยะ”

ในรายงานที่เผยแพร่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ กระทรวงกำลังคนของสิงคโปร์ระบุว่า ตำแหน่งงานที่เปิดรับในปี 2018 มีถึงหนึ่งในสามทีเดียวที่ไม่สามารถหาคนเข้าทำงานได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และในบรรดาเหตุผลที่พวกนายจ้างบอกมานั้น หนึ่งในนั้นคือ “ขาดแคลนผู้สมัครซึ่งมีทักษะเฉพาะอย่างที่จำเป็น”

จำกัดแรงงานต่างชาติ

สิงคโปร์มีประเพณีมายาวนานในเรื่องการต้อนรับแรงงานต่างชาติในภาคต่างๆ ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงวาณิชธนกิจ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาการขาดแคลนทักษะ ตลอดจนทำงานต่างๆ ซึ่งคนท้องถิ่นไม่ปรารถนาที่จะทำ ทั้งนี้ในจำนวนผู้พำนักอาศัยในนครรัฐแห่งนี้จำนวน 5.6 ล้านคน มีถึง 40% ทีเดียวที่เป็นคนมาจากต่างแดน

แต่ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ปรากฏว่าเกิดกระแสความไม่พอใจเกี่ยวกับจำนวนอันมากมายและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของชาวต่างชาติในสิงคโปร์ โดยที่ชาวเมืองท้องถิ่นกำลังกล่าวโทษคนต่างประเทศเหล่านี้ว่า เป็นเหตุให้สิงคโปร์มีคนอาศัยอยู่มากเกินไป และกำลังทำให้ราคาการใช้ชีวิตความเป็นอยู่แพงสูงขึ้นทุกที

รัฐบาลได้ตอบสนองด้วยการออกระเบียบกฎเกณฑ์ซึ่งทำให้ลำบากมากขึ้นในการว่าจ้างคนต่างชาติทำงานในภาคเศรษฐกิจบางภาค โดยที่บริษัททั้งหลายต้องพิจารณารับสมัครคนท้องถิ่นก่อน นี่ก็รวมไปถึงความเคลื่อนไหวอย่างเช่น การกำหนดให้ตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะสูงมากบางงาน ต้องรับสมัครเฉพาะชาวสิงคโปร์เท่านั้นเป็นระยะเวลาหนึ่งเสียก่อน จากนั้นจึงจะเปิดกว้างให้คนต่างชาติสมัครเข้าทำงานได้
<i>(ภาพถ่ายเมื่อ 18 มี.ค. 2019) ช่างเทคนิคกำลังทำงานในโรงงานผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน ของโรลส์รอยซ์ ที่สิงคโปร์ </i>
ในเวทีประชุมเวทีหนึ่งซึ่งพูดกันเรื่องความท้าทายทางด้านแรงงานของสิงคโปร์ ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมหลายรายได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ “นโยบายบางอย่างบางประการ เป็นต้นว่า การเพิ่มค่าธรรมเนียมที่เก็บจากแรงงานต่างชาติ และการกำหนดโควตาแรงงานต่างชาติแบบเหมารวมซึ่งดูเหมือนกลายเป็นการจำกัดการเติบโตขยายตัวของบริษัทจำนวนมาก” มัวริส จิโออี (Mooris Tjioe) จากสถาบันนโยบายศึกษา (Institute of Policy Studies) ที่เป็นองค์กรคลังความคิดของสิงคโปร์ เขียนเอาไว้เช่นนี้

“ผู้เข้าร่วมเวทีประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า สำหรับในเวลานี้ ชาวสิงคโปร์ดูเหมือนยอมรับให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง เพื่อแลกเปลี่ยนกับนโยบายจำกัดแรงงานต่างชาติ ซึ่งนี่เท่ากับเป็นการหันมาเน้นข้อคำนึงในทางสังคม” ข้อเขียนนี้กล่าวต่อ

กระนั้นก็ตาม บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตไฮเทคจำนวนมากทีเดียว ยังคงมองสิงคโปร์ว่าเป็นสถานที่ดีเยี่ยมที่สุดสำหรับการจัดตั้งสำนักงานใหญ่และโรงงานประจำเอเชียของพวกตนอยู่ดี สืบเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้เคียงกับตลาดของภูมิภาคที่กำลังเฟื่องฟู, มีความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ, และมีเสถียรภาพทางการเมือง ถึงแม้ต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ในปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นผู้ผลิต 10 ยาระดับท็อปของโลกถึงราวครึ่งหนึ่ง, เป็นผู้ผลิตฐานขุดเจาะน้ำมันของโลกประมาณ 70%, และเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำเร็จรูปใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก

โรลส์รอยซ์ ผลิตเครื่องยนต์ “เทรนต์” (Trent) ของตนที่ใช้กับเครื่องบิน 787 ดรีมไลเนอร์ ของโบอิ้ง ตลอดจน เอ 380 และ เอ 330 นีโอ ของแอร์บัส ณ โรงงานที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ และมีความเชื่อว่าความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างบริษัทภาคธุรกิจ, รัฐบาล, และสถาบันการศึกษาในสิงคโปร์ เป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญประการหนึ่ง

บิคคี ภันกู (Bicky Bhangu) ประธานบริหารของโรลส์รอยซ์สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แปซิฟิก, และเกาหลีใต้ บอกว่า พวกบริษัทที่ตั้งฐานอยู่ในสิงคโปร์ มีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับพวกมหาวิทยาลัยและสถาบันโพลีเทคนิคต่างๆ ซึ่งทำให้สถาบันการศึกษาเหล่านี้สามารถจัดทำการเรียนการสอนของพวกเขาให้สอดคล้องกับความต้องการของการผลิตอุตสาหกรรมไฮเทค

“สิ่งที่พวกคุณเห็นอยู่ในสิงคโปร์ คือการเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างรัฐบาล, อุตสาหกรรม, และสถาบันวิชาการ” เขากล่าว และเสริมว่า โครงการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานประจำปีคือแหล่งที่มาสำคัญแหล่งหนึ่งในการหาคนใหม่ๆ เข้าทำงานในบริษัท

แต่ว่าสถาบันการศึกษาท้องถิ่นอาจจะต้องเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากมากขึ้นในอนาคตข้างหน้าเสียแล้ว ขณะที่พวกเขากำลังเร่งรีบปรับปรุงดัดแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนของพวกเขาอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับความเรียกร้องต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และคณะผู้นำของสิงคโปร์ก็เตือนว่า คนงานจะต้องลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อปรับปรุงยกระดับทักษะของพวกตน

ในคำปราศรัยเนื่องในวันแรงงานเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เฮง ซวี เกียต (Heng Swee Keat) ผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และถูกจับตามองกันว่าจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ได้กล่าวเตือนว่า หากไม่ลงมือทำอะไรแล้ว ชาวสิงคโปร์บางคนก็อาจตกขบวนถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลังในตลาดแรงงาน

“พวกที่มีการศึกษาดีและชำนาญคล่องแคล่วด้านดิจิตอล สามารถที่จะไปต่อเพื่อสร้างทักษะเพิ่มมากขึ้นและกระทั่งทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิมอีก ส่วนพวกที่เริ่มต้นด้วยการมีต้นทุนที่น้อยกว่า อาจอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกขบวนอยู่ข้างหลัง” เขาบอก

(เก็บความจากเรื่อง Skills shortages, labour curbs may hit Singapore manufacturing ของสำนักข่าวเอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น