เจ้าฟ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชบิดา ได้ทรงสละราชสมบัติในวันอังคารที่ 30 เม.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัชสมัยเฮเซที่ยาวนาน 30 ปี และยังเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีที่จักรพรรดิญี่ปุ่นสละบัลลังก์ในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่
สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติมาตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากพระชนมายุที่มากเกิน 80 พรรษาแล้ว ซึ่งทำให้ทรงเกรงว่าจะไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์
การสละราชสมบัติเริ่มขึ้นในช่วงเช้าวันอังคาร (30) โดยพระจักรพรรดิอากิฮิโตะได้ทรงประกอบพิธีบวงสรวงเพื่อแจ้งเรื่องการสละราชสมบัติ ณ สถานที่บูชาสุริยเทวี ‘อามาเตราสุ โอมิคามิ’ ซึ่งตามตำนานเชื่อว่าเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์ญี่ปุ่น รวมถึงสักการะดวงพระวิญญาณจักรพรรดิองค์ก่อนๆ และศาลเจ้าชินโตภายในพระราชวังอิมพิเรียล
ต่อมาในช่วงเย็น จักรพรรดิอากิฮิโตะและจักรพรรดินีมิชิโกะได้เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งต้นสนภายในพระราชวังอิมพิเรียลเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. เพื่อประกอบพิธีการสละราชสมบัติ จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 3 อย่างอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นจักรพรรดิ ได้แก่ กระจก พระขรรค์ และอัญมณี ‘มางาตามะ’ รูปทรงคล้ายหยดน้ำเข้าสู่ห้องพิธี โดยมีองค์มกุฎราชกุมารและพระชายา ตลอดจนพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จเข้าร่วมในพิธีด้วย
นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ในฐานะผู้แทนของประชาชนได้อ่านประกาศการสละราชสมบัติ และแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระจักรพรรดิที่ทรงปกครองญี่ปุ่นยาวนานถึง 30 ปี
จักรพรรดิอากิฮิโตะได้ทรงมีพระราชดำรัสครั้งสุดท้ายในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ ใจความว่า “ในวันนี้ข้าพเจ้าจะสิ้นสุดหน้าที่ในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิแล้ว ข้าพเจ้าขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนของประชาชน ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะจักรพรรดิด้วยความวิริยะอุตสาหะมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ด้วยความไว้วางใจและความเคารพที่ประชาชนมีต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกท่านที่ยอมรับและสนับสนุนข้าพเจ้าตลอดมาในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ ข้าพเจ้าและสมเด็จพระจักรพรรดินีขอให้รัชสมัยใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้มีความผาสุกยั่งยืน ขอให้มีแต่ความสุขสวัสดีในหมู่ประชาชนทั้งในประเทศและทั่วโลกสืบไป”
ทั้งนี้ พระจักรพรรดิอากิฮิโตะขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ปี 1989 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของรัชสมัยเฮเซที่แปลว่า “ความสงบสุขทั่วแผ่นดิน”
นี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปีที่จักรพรรดิญี่ปุ่นสละบัลลังก์ในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพ ถัดจากจักรพรรดิโคกะกุในสมัยเอโดะซึ่งลงจากราชสมบัติในปี 1817
ทั้งนี้ เมื่อรัชสมัยเฮเซสิ้นสุดลง สมเด็จพระจักรพรรดาอากิฮิโตะจะทรงดำรงสถานะใหม่เป็น "โจโก" (Emperor Emeritus) ซึ่งอาจจะแปลเทียบเป็นภาษาไทยได้ว่า "สมเด็จพระจักรพรรดิพระเจ้าหลวง" ส่วนสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะก็จะทรงเป็น "โจโกโง" (Empress Emeritus) หรือ "จักรพรรดินีพระพันปีหลวง"
แม้ในทางทฤษฎีเจ้าฟ้าชายนารูฮิโตะจะทรงมีสถานะเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 126 ของญี่ปุ่นตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 เม.ย. ทว่าพระราชพิธีครองราชย์อย่างเป็นทางการได้จัดขึ้นในเช้าวันพุธที่ 1 พ.ค. โดยจักรพรรดิซึ่งฉลองพระองค์สูทแบบตะวันตกได้เสด็จฯ ไปยังห้องพระราชพิธีภายในพระที่นั่งต้นสน โดยมีพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นชายโดยเสด็จฯ รวมถึงเจ้าฟ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าชายแห่งอากิชิโนะซึ่งเป็นพระราชอนุชา
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นจักรพรรดิมาถวาย ได้แก่ พระขรรค์และอัญมณี ‘มางาตามะ’ รูปทรงคล้ายหยดน้ำ รวมถึงตราแผ่นดินและตราพระราชลัญจกรส่วนพระองค์ จากนั้นจักรพรรดินีมาซาโกะได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งมาถึงพระราชวังอิมพีเรียล และเสด็จฯ เข้ามายังห้องพิธี ก่อนที่จักพรรดินารูฮิโตะจะทรงมีพระราชดำรัสครั้งแรก ใจความสำคัญว่า “ข้าพเจ้าจะนึกถึงประชาชนอยู่เสมอ และจะยืนหยัดเคียงข้างพวกเขา พร้อมทั้งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติ และความเป็นเอกภาพของชาวญี่ปุ่น ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ... ข้าพเจ้าหวังจากใจจริงให้ประชาชนมีความสุข ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า และขอให้โลกจงประสบสันติภาพ”
แม้พระราชพิธีสละราชสมบัติและพระราชพิธีขึ้นครองราชย์จะเวลาไม่นานนัก ทว่ายังคงมีชุดพระราชพิธีอื่นๆ ที่จะเริ่มจัดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยแบ่งออกเป็นพระราชพิธีของประเทศซึ่งผู้ดำเนินการคือรัฐบาลญี่ปุ่น และพระราชพิธีของวัง หนึ่งในนั้นคือพระราชพิธีไดโจไซ (Daijō-sai) ซึ่งเป็นพิธีตามคติชินโต สื่อนัยว่าเป็นการรับประทานอาหารร่วมกับเทพเจ้าและภาวนาขอให้ประเทศกับประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนี้ยังมีงานสำคัญอีกงานหนึ่ง ได้แก่ การสถาปนาผู้สืบทอดราชสมบัติซึ่งจะจัดช่วงต้นปี 2020
ค่าใช้จ่ายที่ประเมินไว้สำหรับงานพระราชพิธีอยู่ที่ราวๆ 16,800 ล้านเยน (5,500 ล้านบาท) โดยจะเชิญแขกบ้านแขกเมืองจากทั่วโลกมาร่วมงานประมาณ 2,500 คน รายละเอียดที่คะเนไว้โดยสังเขป เช่น พระราชพิธีหลัก 1,800 ล้านเยน, ค่าจัดเลี้ยงอาหาร 500 ล้านเยน และพระราชพิธีไดโจไซประมาณ 2,700 ล้านเยน เป็นต้น
เคยมีชาวญี่ปุ่นกว่า 200 คนร่วมกันยื่นฟ้องร้องเพราะไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้จ่ายในพระราชพิธีสละราชสมบัติและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากเป็นพิธีทางศาสนา ดังนั้นการนำเงินจากคลังของรัฐบาลมาใช้จึงอาจขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญที่แยกศาสนาและรัฐออกจากกัน
เจ้าชายอากิชิโนะ พระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะซึ่งจะทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 หลังจากเจ้าฟ้าชายนารูฮิโตะขึ้นครองราชย์ เคยมีพระดำรัสตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำงบสาธารณะมาใช้จัดพิธีสละราชสมบัติและครองราชย์ซึ่งเป็นเรื่องภายในราชวงศ์
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ว่า “เรวะ” ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ โดยคำว่า “เรวะ” มีความหมายว่า “ความสอดผสานอันปีติ”
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้แถลงอธิบายในเวลาต่อมาว่า “เรวะ” ยังเป็นคำที่ปรากฏอยู่ใน "มันโยชู" ประชุมกวีนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดเมื่อ 1,200 ปีก่อนของญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่หยั่งรากลึกยาวนานของประเทศ
ญี่ปุ่นมีรัชสมัยหรือ "gengo" เกือบ 250 ยุค นับจากเริ่มใช้ระบบนี้ในศตวรรษที่ 7 โดยในปัจจุบันหนึ่งรัชสมัยจะเท่ากับตลอดระยะเวลาการครองราชย์ของจักรพรรดิพระองค์นั้นๆ
สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ปี 1960 หรือ 15 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ในวัยเด็กทรงโปรดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การปีนเขา ขี่จักรยาน และเล่นเครื่องดนตรีวิโอลา เป็นต้น
พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกากุชูอินในปี 1982 และในปีต่อมาได้ทรงเดินทางไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเมอร์ตัน มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จนถึงปี 1986 โดยทรงทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประวัติการคมนาคมในแม่น้ำเทมส์ช่วงศตวรรษที่ 18
พระองค์ทรงเคยมีพระราชดำรัสว่า การเรียนที่อังกฤษถือเป็นช่วงเวลาที่ทรงได้เรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตนเอง และครั้งหนึ่งทรงเกือบจะทำน้ำท่วมหอพักเนื่องจากใส่ผ้าลงในเครื่องซักผ้ามากเกินไป
พระองค์ยังทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง The Thames and I: A Memoir of Two Years at Oxford ซึ่งเป็นบันทึกประจำวันขณะประทับศึกษาอยู่ในอ็อกซ์ฟอร์ด ทรงมีความสนพระทัยทั้งในด้านประวัติศาสตร์ และการจัดการทรัพยากรน้ำ
เจ้าฟ้าชายนารูฮิโตะทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อมีพระชนมายุ 31 พรรษา และในเดือนมิ.ย. ปี 1993 ก็ได้ทรงเสกสมรสกับ น.ส. มาซาโกะ โอวาดะ อดีตนักการทูตหญิงซึ่งเติบโตที่มอสโกและนิวยอร์ก ทรงมีพระราชดำรัสในขณะที่ขอเธอแต่งงานว่า “ผมจะปกป้องดูแลคุณอย่างสุดความสามารถไปจนตลอดชีวิตของผม”
หลังจากทรงเสกสมรส เจ้าหญิงมาซาโกะทรงมีพระอาการประชวรเนื่องจากความเครียดจากการปรับตัว รวมถึงการที่พระองค์ต้องเผชิญแรงกดดันมหาศาลจากความคาดหวังของราชวงศ์และสาธารณชนว่าจะต้องทรงมีพระราชโอรสเพื่อเป็นรัชทายาท แต่ในที่สุดก็ทรงมีพระประสูติกาลพระธิดา เจ้าหญิงไอโกะ ในวันที่ 1 ธ.ค. ปี 2001
เจ้าหญิงมาซาโกะทรงออกคำแถลงเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพเมื่อปีที่แล้วว่า จะพยายามทำหน้าที่จักรพรรดินีให้ดีที่สุด แม้ยังมีความรู้สึกไม่มั่นคงก็ตาม
วากอส อาเดนวาลา นักวิเคราะห์จากสถาบัน อีโคโนมิก อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ชี้ว่า “หากมองจากมาตรฐานที่สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงทำเอาไว้ จักรพรรดินารูฮิโตะย่อมต้องทรงถูกคาดหวังให้ดำเนินรอยตาม และจะต้องเสด็จฯ ออกงานต่างๆ เพื่อเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด”
พระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับการผลัดแผ่นดินครั้งนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้มีวันหยุดยาวถึง 10 วันเมื่อรวมกับช่วง ‘โกลเด้นวีค’ ซึ่งผลสำรวจของหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนพบว่า คนญี่ปุ่น 45% ไม่แฮปปี้กับวันหยุดยาวนี้ มีเพียงแค่ 35% เท่านั้นที่รู้สึกพอใจ
จักรพรรดินารูฮิโตะจะเสด็จฯ ออกยังพระบัญชรที่พระราชวังหลวงให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯ เป็นครั้งแรกในวันเสาร์นี้ (4 พ.ค.) และในวันที่ 22 ต.ค. จะมีการเสด็จฯ ออกพบปะประชาชนในกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค รวมถึงพระราชทานเลี้ยงแก่พระราชอาคันตุกะและผู้นำต่างชาติ
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นปลายเดือน พ.ค. ได้แสดงความยินดีต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และยืนยันว่าอเมริกาจะกระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นแน่นแฟ้นขึ้น ส่วนประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนก็ส่งความปรารถนาดีไปยังญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ขณะที่ประธานาธิบดี มุน แจอิน ของเกาหลีใต้แสดงความหวังว่าจักรพรรดินารูฮิโตะจะทรงจดจำได้ถึงความเจ็บปวดของสงคราม และสานต่อแนวทางเพื่อสร้างสันติภาพเช่นเดียวกับพระราชบิดา