รอยเตอร์ – กลุ่มชาตินิยมฮินดูซึ่งเป็นพันธมิตรของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย เรียกร้องวันนี้ (1 พ.ค.) ให้รัฐบาลสั่งห้ามผู้หญิงมุสลิมสวมผ้าคลุมหน้า โดยเอาอย่างศรีลังกาที่ได้ประกาศคำสั่งห้ามในลักษณะเดียวกันหลังเกิดเหตุระเบิดโจมตีในวันอีสเตอร์
รัฐบาลศรีลังกาเริ่มใช้มาตรการแบนผ้าคลุมหน้าตั้งแต่วันจันทร์ (29 เม.ย.) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงสามารถระบุตัวบุคคลได้ หลังกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงใช้ระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีโบสถ์คริสต์และโรงแรมหลายแห่งในวันอีสเตอร์จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 250 คน
“เราขอชื่นชมการตัดสินใจดังกล่าว และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เอาอย่างศรีลังกา โดยสั่งห้ามสตรีมุสลิมสวมบุรกอ (burqa) และนิกอบ (niqab) ในอินเดีย” พรรคศิวเสนา (Shiv Sena) ซึ่งมีฐานอยู่ที่นครมุมไบระบุในบทบรรณาธิการซึ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ซามานา
บุรกอ หมายถึงผ้าซึ่งคลุมปกปิดใบหน้าทั้งหมดเวลาที่สตรีมุสลิมออกไปข้างนอกบ้าน ส่วนนิกอบจะเปิดให้เห็นเฉพาะดวงตาเท่านั้น
พรรคฮินดูฮาร์ดไลน์กลุ่มนี้ยังอ้างด้วยว่า บุรกอไม่ใช่ข้อบังคับในอิสลาม และผู้หญิงมุสลิมอินเดียบางคนเลือกที่จะสวมมันเพราะทำตามธรรมเนียมชาวอาหรับซึ่งผู้หญิงมักจะปกปิดร่างกายมิดชิดเพื่อป้องกันแสงแดด
กระทรวงมหาดไทยอินเดียยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่ผู้นำมุสลิมบางคนชี้ว่าการสั่งแบนบุรกออาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิพลเมือง
อินเดียมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามราว 14% จากทั้งหมด 1,300 ล้านคน
หญิงมุสลิมสายเสรีบางคนมองว่า บุรกอและนิกอบเป็นสัญลักษณ์แทนวัฒนธรรมที่กดขี่เสรีภาพของผู้หญิง
ตัสลิมา นัสรีน นักเขียนหญิงชาวบังกลาเทศซึ่งอาศัยอยู่ในอินเดีย สนับสนุนให้รัฐบาลสั่งแบนบุรกอ แต่ไม่ใช่เพราะการทำเช่นนั้นจะช่วยป้องกันการก่อการร้าย
“หลายคนพูดว่า การแบนบุรกอไม่ได้ช่วยยับยั้งการก่อการร้าย ดิฉันเห็นด้วยว่ามันป้องกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องกลายเป็นซอมบี้ไร้หน้า” เธอกล่าว