xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันโลกพุ่งพรวดวิตกมะกันกร้าว แซงก์ชันทุกชาติที่ยังซื้อจากอิหร่าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>กลุ่มเด็กสาวเดินผ่านด้านหน้าของภาพฝาผนังที่มีธงชาติอิหร่านอยู่ตรงกลาง ณ บริเวณกลางกรุงเตหะรานในวันอังคาร (23 เม.ย.) หนึ่งวันหลังจากทำเนียบขาวประกาศจะยุติการผ่อนปรนใช้มาตรการแซงก์ชั่นน้ำมันอิหร่าน </i>
เอเจนซีส์ – อเมริกากร้าวขีดเส้นตายประเทศต่างๆ ยุติการซื้อน้ำมันอิหร่านนับจากวันที่ 2 เดือนหน้า โดยขู่แซงก์ชันผู้ที่ฝ่าฝืน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อบีบคั้นเตหะรานให้ยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ทว่าการตัดสินทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียวเช่นนี้กำลังทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานทำสถิติจากความกังวลว่าซัปพลายจะตึงตัว รวมทั้งยังอาจทำให้สหรัฐฯปีนเกลียวกับเหล่าชาติพันธมิตร

คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันจันทร์ (22 เม.ย.) ว่า อเมริกาและพันธมิตรตัดสินใจแน่วแน่ในการสานต่อและขยายแผนการกดดันทางเศรษฐกิจระดับสูงสุดต่ออิหร่านเพื่อยุติกิจกรรมที่คุกคามอเมริกา รวมถึงหุ้นส่วนและพันธมิตร ตลอดจนความมั่นคงในตะวันออกกลาง ด้วยการยุติเลิกยกเว้นมาตรการห้ามซื้อน้ำมันอิหร่าน หลังจากที่ได้ผ่อนปรนให้แก่ 8 ชาติ อาทิ จีนและอินเดีย มาหลายเดือน

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว วอชิงตันได้ออกมาตรการแซงก์ชั่นซึ่งมุ่งทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันไม่ได้เลย ต่อเนื่องจากการที่อเมริกาเพียงชาติเดียวถอนตัวจากข้อตกลงปี 2015 ที่ทำร่วมกับ 6 ชาติมหาอำนาจโลกและอิหร่าน เพื่อควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน กระนั้น สหรัฐฯบอกในเวลานั้นว่าจะยังคงผ่อนผันให้ 8 ชาตินำเข้าน้ำมันอิหร่านไปได้อีก 6 เดือน

ทำเนียบขาวระบุในวันจันทร์ด้วยว่า เพื่อรับประกันว่าตลาดจะมีอุปทานน้ำมันในปริมาณที่เหมาะสม วอชิงตันจึงกำลังหารือกับผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญคือ ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ทว่า บรรดาเทรดเดอร์น้ำมันในตลาดโลกต่างกังวลอุปทานน้ำมันอาจกำลังเข้าสู่ภาวะตึงตัว โดยแนวทางแข็งกร้าวต่อน้ำมันอิหร่านซึ่งวอชิงตันประกาศล่าสุดนี้ เมื่อประกอบกับการที่อเมริกายังคงเดินหน้าแซงก์ชันอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานรุนแรงขึ้น

ปรากฏว่า ในวันจันทร์ ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ของตลาดลอนดอนพุ่งขึ้น 2.9% ปิดที่ 74.04 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดนับจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์ เทกซัส อินเตอร์มีเดียตของอเมริกาขึ้นไปอยู่ที่ 65.92ดอลลาร์ สูงสุดนับจากเดือนตุลาคม

นอกจากนั้น ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า มาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ยังอาจสั่นคลอนความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับชาติพันธมิตร

ไมเคิล ฟิวช์ส อดีตที่ปรึกษาอาวุโสของฮิลลารี คลินตัน ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มองว่า คณะบริหารของทรัมป์กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อบีบให้อิหร่านล้มข้อตกลงที่ทำไว้กับพวกชาติมหาอำนาจ และหันไปสร้างอาวุธนิวเคลียร์อีก ซึ่งความพยายามนี้จะทำให้พันธมิตรทั้งหมดของอเมริกาขุ่นเคือง
<i>รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ ขณะแถลงข่าวในวันจันทร์ (22 เม.ย.) ที่กรุงวอชิงตัน โดยที่เขาขู่ว่าจะลงโทษพวกประเทศซึ่งยังคงซื้อน้ำมันอิหร่านต่อไปภายหลังวันที่ 2 พ.ค.</i>
สำหรับประเทศที่สั่งซื้อน้ำมันอิหร่านจำนวนมากที่สุดในเวลานี้คือ อินเดีย ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ แต่ไม่เห็นด้วยกับที่อเมริกายืนกรานว่า อิหร่านเป็นภัยคุกคาม มิหนำซ้ำอินเดียยังกำลังร่วมกับอิหร่านพัฒนาท่าจอดเรือเพื่อเลี่ยงการเดินทางผ่านปากีสถาน ซึ่งเป็นที่ซ่องสุมกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านอินเดีย

แหล่งข่าวในอินเดียเผยว่า รัฐบาลกำลังศึกษานัยของการตัดสินใจล่าสุดของวอชิงตัน

ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบยังรวมถึงจีนและตุรกี ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะเกิดบาดแผลใหม่ในความสัมพันธ์กับอเมริกา หากวอชิงตันเดินหน้าแบนการสั่งซื้อน้ำมันอิหร่าน

เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า ปักกิ่งคัดค้านการที่วอชิงตันใช้มาตรการแซงก์ชันตามอำเภอใจฝ่ายเดียวต่ออิหร่าน และยืนยันว่า ความร่วมมือทวิภาคีระหว่างปักกิ่งกับเตหะรานนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับ เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ที่ระบุว่า อังการาต่อต้านมาตรการแซงก์ชันฝ่ายเดียว รวมถึงการที่อเมริกาเจ้ากี้เจ้าการกำหนดแนวทางการสร้างความสัมพันธ์ของตุรกีกับเพื่อนบ้าน และว่า มาตรการแซงก์ชันของอเมริกาไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

กระนั้น ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนกรานว่า อเมริกาจะลงโทษประเทศที่ยังซื้อน้ำมันจากอิหร่านหลังจากวันที่ 2 เดือนหน้า แต่ไม่ได้แจงว่า จะลงโทษอย่างไร

สำหรับประเทศอื่นๆ ที่เหลือ ได้แก่ กรีซ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ต่างยุติหรือลดการซื้อน้ำมันจากอิหร่านจำนวนมากแล้ว

พอมเพโอสำทับว่า อเมริกาจะเพิ่มความกดดันต่อไปจนกว่าผู้นำอิหร่านจะยอมกลับสู่โต๊ะเจรจา ทั้งนี้คณะบริหารทรัมป์เรียกร้องต้องการให้เตหะรานยินยอมอ่อนข้อมากกว่าที่ได้ตกลงเอาไว้ในตอนทำข้อตกลงกับ 6ชาติมหาอำนาจ

ทว่า เตหะรานไม่มีท่าทีจะยอมจำนนถึงขนาดนั้นและบอกว่า เตรียมพร้อมแล้ว ขณะที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านย้ำคำขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญในอ่าวเปอร์เซีย และกระทรวงการต่างประเทศแถลงตอกย้ำว่า มาตรการแซงก์ชันของอเมริกาผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น

จากข้อมูลขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ระบุว่า อิหร่านมีรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 52,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 ก่อนที่อเมริกาจะฟื้นมาตรการแซงก์ชัน

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ไม่มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะสามารถยุติการส่งออกน้ำมันอิหร่านจนหมดสิ้นได้ ตราบที่ยังมีตลาดมืด


กำลังโหลดความคิดเห็น