xs
xsm
sm
md
lg

คนใช้รถสะดุ้ง! น้ำมันส่อทะยาน สหรัฐฯ จะยุติละเว้นพันธมิตรจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - สหรัฐฯ เปิดเผยในวันจันทร์ (22 เม.ย.) ว่าในเดือนพฤษภาคมนี้จะยุติการผ่อนผันซึ่งเปิดทางให้ 8 ชาติพันธมิตรซื้อน้ำมันจากอิหร่านโดยไม่ถูกลงโทษใดๆ ตามมาตรการคว่ำบาตรของอิหร่าน โดยวอชิงตันหวังยกระดับกดดันสกัดรายได้ทั้งหมดจากธุรกิจน้ำมันของเตหะราน

การตัดสินใจโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ส่งให้ราคาน้ำมันในช่วงต้นของการซื้อขายในวันจันทร์แตะระดับสูงสุดในปี 2019 แม้ทำเนียบขาวเผยว่าอเมริกากำลังประสานงานกับซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโอเปกและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อหาทางรับประกันว่าตลาดจะมีอุปทานเพียงพอก็ตาม

มาตการดังกล่าวถูกกำหนดออกมาในขณะที่วอชิงตันเดินหน้ากดดันอิหร่านให้ยับยั้งโครงการนิวเคลียร์และหยุดให้การสนับสนุนพวกนักรบตัวแทนในตะวันออกกลาง

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในวันจันทร์ (22 เม.ย.) ย้ำว่าเป้าหมายของวอชิงตันคือฉุดการส่งออกน้ำมันของอิหร่านให้เหลือศูนย์ พร้อมบอกว่าอเมริกาไม่มีแผนอะลุ้มอล่วยใดๆ เกินกว่าวันที่ 1 พฤษภาคม สำหรับให้ประเทศต่างๆ นั้นปฏิบัติตาม "วันนี้ผมขอแจ้งว่าเราจะไม่อนุมัติข้อยกเว้นใดๆ อีกต่อไป” พอมเพโอกล่าว

ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นทันทีตั้งแต่เปิดตลาดในวันจันทร์ (22 เม.ย.) หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวลือหลุดออกมาล่วงหน้าว่าสหรัฐฯ จะยุติการละเว้น โดยน้ำมันดิบเบรนต์ช่วงหนึ่งของการซื้อขายขยับขึ้นไปแตะระดับ 74.31 ดอลลาร์ สูงสุุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ก่อนปรับลดลงมาเล็กน้อย ส่วนน้ำมันดิบสัญญาสหรัฐฯ ขยับขึ้นราว 2.4% อยู่ที่ราวๆ 65.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สหรัฐฯ กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านในเดือนพฤศจิกายน หลัง ทรัมป์ ดำเนินการฝ่ายเดียวถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงระหว่างอิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจ ว่าด้วยเรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน ปี 2015 เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หลังจาก ทรัมป์ วิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งต่อข้อตกลงนี้ซึ่งทำไว้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่าเป็น “ข้กตกลงที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

อย่างไรก็ตาม อเมริกายอมให้ 8 ชาติ ประกอบด้วย จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ตุรกี, อิตาลี และกรีซ นำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ จากอิหร่านต่อไปโดยไม่ถูกลงโทษเป็นเวลา 6 เดือนในปริมาณที่ลดลง เนื่องจากกังวลว่า หากตัดขาดการส่งออกน้ำมันอิหร่านทั้งหมดอาจดันราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งทะยานและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ

ยอดการส่งออกน้ำมันลดลงเหลือไม่ถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนที่สหรัฐฯ จะกลับมาคว่ำบาตรรอบใหม่เมื่อ 1 ปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น