xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียสนใจขาย ‘ซู-57’ เครื่องบินขับไล่รุ่นสุดยอดให้แก่จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

<i>เครื่องบินขับไล่  ซู-57 ของรัสเซีย </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Russia ‘to pitch Su-57 fighter jets to China’
By Asia Times staff
April 2, 2019

มีรายงานว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อาจจะเปิดไฟเขียวให้ส่งออกเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 5 สุดล้ำรุ่น ซู-57 ของตน โดยที่ลูกค้าสำคัญรายหนึ่งน่าจะเป็นประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าถึงแม้แดนมั’กรประทับใจในสมรรถนะของอากาศยานรุ่นนี้ แต่บางเสียงบางฝ่ายก็ต้องการให้เน้นหนักไปที่ เจ-20 เครื่องบินขับไล่ที่จีนปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาเองมากกว่า

ความร่วมมือด้านกลาโหมของรัสเซียกับจีน อาจจะกำลังขึ้นไปสู่จุดสูงจุดใหม่ หลังจากมีรายงานข่าวว่า เครมลินน่าจะกำลังพิจารณาส่ง เครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ ซู-57 (Su-57) –อากาศยานตัวใหม่ที่รัสเซียจะพึ่งพาอาศัยเพื่อการครองน่านฟ้า —บินมายังประเทศจีนเพื่ออวดโอ่แสนยานุภาพของมัน และเข้าแข่งขันช่วงชิงคำสั่งซื้อตลอดจนชิงข้อตกลงแลกเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยี

ว่ากันว่าความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจผลักดันให้เกิดข้อตกลงซึ่งจะมีความหมายสำคัญมาก ในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นระดับหัวใจของหนึ่งในเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 5 ซึ่งมีความก้าวหน้าที่สุดของโลกในปัจจุบัน

ซู-57 ที่ได้รับคำชมชื่นจากปูตินว่าเป็นเครื่องบินขับไล่ดีที่สุดในเวลานี้ คาดหมายกันว่าน่าจะสามารถชิงความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในกองทัพอากาศรัสเซีย มาจาก มิก-29 และ ซู-27

เจนส์ ดีเฟนซ์ วีกลี่ (Jane’s Defense Weekly) วารสารรายสัปดาห์ด้านอาวุธและกิจการกลาโหมชื่อดังระดับโลก รายงานข่าวโดยอ้างอิงคำพูดของ วิกตอร์ คลาดอฟ (Viktor Kladov) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและนโยบายภูมิภาค อยู่ที่บริษัท รอสเทค ดีเฟนซ์ อินดัสเตรียล โฮลดิ้ง คอมพานี (Rostec Defense Industrial Holding Company) ที่บอกว่า ปูตินอาจจะอนุมัติให้สามารถจำหน่าย ซู-57อี ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นสำหรับการส่งออกของ ซู-57 ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

รายงานข่าวนี้บอกด้วยว่า คลาดอฟได้เอ่ยชื่อประเทศจีนว่าเป็นชาติที่สนใจเป็นลูกค้าซื้อ ซู-57 รายหนึ่ง หลังจากที่ได้รับมอบเครื่องบินซู-35 จำนวน 24 ลำไปเมื่อเร็วๆ นี้ เขายังพูดด้วยว่าในระยะเวลา 2 ปีจากนี้ไป จีนน่าจะต้องตัดสินว่าจะเอาทางเลือกทางไหน ระหว่างการซื้อหา ซู-35 เพิ่มขึ้น, การสร้างเครื่องบินขับไล่รุ่นก้าวหน้าในจีนเองตามโปรแกรมการผลิตที่มุ่งกระทำกันภายในประเทศ, หรือซื้อเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 5 รุ่นใหม่ๆ อย่างเช่น ซู-57 อี

นอกจากจีนแล้ว เกาหลีใต้, เวียดนาม, อินเดีย, บราซิล, และตุรกี ก็ถูกเอ่ยถึงเช่นเดียวกันว่าอาจจะกลายมาเป็นผู้ซื้อหา ซู-57

ก่อนหน้านี้ในปีนี้ พวกหนังสือพิมพ์ในจีน ซึ่งก็รวมไปถึง เจ่ฟ่างจิ้ว์นเป้า (หรือ PLA Daily) หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ตลอดจน โกลบอลไทมส์ (Global Times) สื่อแทบลอยด์ในเครือของ หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่างพากันพูดเป็นนัยๆ ว่าปักกิ่งมีความสนอกสนใจ ซู-57 ซึ่งรายงานข่าวและความคิดเห็นของผู้รู้ ต่างพากันยกย่องชมเชยสมรรถนะของเครื่องบินไอพ่นที่สร้างตามหลักอากาศพลศาสตร์ล้ำสมัยรุ่นนี้

ขณะที่พวกดีไซเนอร์ซึ่งทำงานกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ยังคงยืนกรานว่า เครื่องบินขับไล่แบบ เจ 20 (J-20) ที่ถือเป็นการตอบโต้จากจีนต่อ เอฟ-35 ของบริษัทล็อกฮีด- มาร์ติน (Lockheed Martin) ของสหรัฐฯนั้น ดีกว่า ซู-57 ในเรื่องความสามารถรอบด้าน แต่พวกเขาก็รู้สึกประทับใจกับแนวคิดต่างๆ อันโดดเด่นเฉพาะตัวของอากาศยานรัสเซียรุ่นนี้ และกองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีความกระตือรือร้นที่จะได้อภิปรายถกเถียงกับฝ่ายทหารของรัสเซีย เกี่ยวกับการออกแบบและการบำรุงรักษาเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 5 ของแต่ละฝ่าย

ซู-57 ซึ่งมีความเร็วเหนือเสียงและรับบทบาทหน้าที่ได้หลายหลาก มีความสามารถทั้งในการสู้รบตะลุมบอนทางอากาศ และในการนำฝูงบินเข้าโจมตีศัตรูไม่ว่าจะเป็นการเล่นงานพวกเป้าหมายทางภาคพื้นดินหรือเป้าหมายที่เป็นเรือในทะเล ถึงแม้จุดโฟกัสของเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ (สเตลธ์ stealth) หรือการโจมตีจากระยะไกลเกินสายตามองเห็น แต่จุดอ่อนในเรื่องสเตลธ์ก็ดูมีเหตุผลความชอบธรรมรองรับ เนื่องจาก ซู-57 สามารถหลบหลีกขีปนาวุธพิสัยไกลที่กำลังตรงเข้ามาอยู่แล้ว โดยอาศัยความแข็งแกร่งทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทางการบิน (avionics) อันก้าวหน้าของมัน, ความเลอเลิศในเรื่องการควบคุม thrust vectoring control (TVC) ตลอดจนความสามารถในการหลบหลีกพลิกพลิ้วได้อย่างเหนือชั้น ณ เวลาที่เครื่องบินกำลังบินด้วยความเร็วสูงสุดที่ มัค 2 (Mach 2 ความเร็ว 2 เท่าของความเร็วเสียง) เพื่อเข้าสู้รบพันตูกับข้าศึกในระยะประชิด โดยที่ในสถานการณ์เช่นนั้น เทคโนโลยีสเตลธ์กลายเป็นสิ่งที่ใช้การอะไรไม่ได้แล้ว

ดีไซน์อันโดดเด่นเฉพาะตัวอีกอย่างหนึ่งของ ซู-57 ได้แก่ การเป็นรุ่นแรกซึ่งมีเรดาร์ที่มุ่งจับสัญญาณจากทางด้านข้าง (side-facing radar) เพิ่มเติมขึ้นมาจากเรดาร์ที่มุ่งจับสัญญาณจากด้านหน้า (front-facing radar) ตามแบบฉบับที่ใครๆ ก็มีกัน เมื่อผสมผสานกับระบบเรดาร์อื่นๆ และอุปกรณ์เซนเซอร์อินฟราเรดแล้ว ซู-57 จะมีความสามารถในการตรวจจับเครื่องบินใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ของข้าศึกได้

ซู-57 จำนวน 4 ลำถูกพบเห็นในซีเรียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 โดยที่ไอพ่นรุ่นนี้ถูกส่งไปประจำการที่นั่นเพื่อทดสอบความสามารถในการสู้รบ ทั้งนี้ในระหว่างเวลานั้นขอบเขตความสามารถการทำงานของอาวุธของมันจะถูกติดตามตรวจสอบ

รัสเซียทำท่าจะยอมขาย ซู-57 ให้ต่างประเทศ ในจังหวะเวลาใกล้เคียงกับที่เครื่องบินขับไล่ เจ-20 ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กำลังจะเข้าสู่ช่วงระยะการผลิตเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ทางทหารของจีนบางคนให้ความเห็นว่า ความสำคัญลำดับแรกๆ ควรจะต้องให้แก่ เจ-20 เครื่องบินขับไล่ที่จีนผลิตขึ้นมาเอง เนื่องจากการนำเอาไอพ่นต่างชาติมาบูรณาการเข้ากับกองบินของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนนั้น อาจก่อให้เกิดประเด็นปัญหาทางด้านความเข้ากันได้ ทั้งในเรื่องระบบอาวุธ และระบบการสั่งการบังคับบัญชาและควบคุม

มีบางรายยังแสดงความกังวลว่า ซู-57 อี อาจจะช่วงชิงธุรกิจไปจาก เอฟซี-31 (FC-31) ของจีน ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 5 ที่แดนมังกรมุ่งผลิตออกมาเพื่อการส่งออก


กำลังโหลดความคิดเห็น