นิวยอร์กไทมส์/เอเจนซีส์ – ไม่ว่าการเจรจาการค้าระหว่างอเมริกา-จีน ซึ่งยื้อเยื้อมาหลายรอบแล้วจะออกหัวหรือออกก้อยก็ตามที แต่ที่แน่ๆ งานนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะสมใจแล้ว เพราะความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าที่ตัวเองก่อขึ้นนั้น ช่วยกระทุ้งให้บริษัทมากมายทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุนและพากันถอนตัวออกจากแดนมังกรไปหาทำเลที่สถานการณ์นิ่งกว่าและต้นทุนถูกกว่าแทน ซึ่งในจำนวนนี้มีไทยรวมอยู่ด้วย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ว่า “มหากาพย์” การเจราทำข้อตกลงการค้าอาจได้ข้อสรุปในอีกไม่กี่สัปดาห์ และในไม่ช้าตนจะพบกับสี จิ้นผิง ประมุขแห่งแดนมังกร เพื่อเป็นประจักษ์พยานในการลงนามของทั้งสองประเทศ
แต่ไม่ว่าคำพูดของทรัมป์จะเป็นจริงหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วและถูกอกถูกใจพวกเจ้าหน้าที่บางคนในคณะบริหารของอเมริกาเป็นอย่างยิ่งคือ ความตึงเครียดจากสงครามการค้าและการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสาดใส่ตอบโต้กัน กำลังผลักดันให้บริษัททั่วโลกเริ่มโยกย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวซึ่งถูกเรียกว่า การแยกตัว (decoupling) คือเป้าหมายหลักของกลุ่มคนที่เชื่อว่า การเติบโตของโลกในระยะเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาพพึ่งพิงจีนในฐานะยักษ์ใหญ่ในเรื่องการผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างมากเกินไปแล้ว ขณะเดียวกัน การที่ในห้วงเวลาดังกล่าวปักกิ่งสะสมและขยายอิทธิพลทางทหารและทางภูมิรัฐศาสตร์คู่ขนานไปด้วย ก็ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนในวอชิงตันกังวลว่า การฝากอนาคตไว้กับโรงงานในจีนกลับกำลังทำให้อเมริกาอ่อนแอลงในทางยุทธศาสตร์
เวลานี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของศึกการค้า บริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมกำลังลดการพึ่งพิงจีน ตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตกล้อง โกโปร และบริษัทยูนิเวอร์แซล อิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นผู้ผลิตเซ็นเซอร์และรีโมทคอนโทรล ต่างกำลังโยกย้ายงานบางส่วนจากจีนไปยังเม็กซิโก ขณะที่ฮาสโบรย้ายโรงงานผลิตของเล่นกลับอเมริกา รวมถึงเม็กซิโก เวียดนาม และอินเดีย ส่วนเอเท็น อินเตอร์เนชันแนล ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ย้ายกลับไปผลิตที่ไต้หวัน และแดนฟอสส์ กลุ่มกิจการจากเดนมาร์ก กำลังย้ายการผลิตอุปกรณ์ไฮดรอลิกและอุปกรณ์ทำความร้อนไปอเมริกา
แม้ทรัมป์ไม่สามารถสมปรารถนาดังใจหวังไปเสียทุกอย่าง เป็นต้นว่า การทำตามคำมั่นสัญญาของเขาที่จะนำตำแหน่งงานกลับสหรัฐฯ เพราะงานส่วนใหญ่ที่โยกออกจากจีน กลับมีเป้าหมายใหม่ในประเทศอื่นๆ ที่ต้นทุนถูกกว่าอเมริกา นอกจากนั้นการปรับแบบแผนห่วงโซ่อุปทานของโลก เป็นเรื่องใหญ่ที่ยังต้องใช้เวลา และจีนน่าจะยังคงเป็นศูนย์การผลิตทางอุตสาหกรรมแห่งสำคัญไปได้อีกหลายทศวรรษ กระนั้น ประธานบริหารบริษัทหลายแห่งต่างออกปากว่า สงครามการค้าบีบให้ต้องประเมินจีนในฐานะฮับการผลิตของโลกกันใหม่ แม้กระทั่งบริษัทจีนเองยังขยับขยายไปต่างแดน ถึงจะยังคงปฏิบัติการการผลิตส่วนใหญ่ไว้ในเมืองแม่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ทรัมป์อ้างว่า สงครามการค้าเป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งงานกลับคืนอเมริกา แต่ฝ่ายที่สนับสนุน “การแยกตัว” ภายในคณะบริหารสหรัฐฯ กลับมองว่า ความพยายามและผลพวงที่เกิดขึ้นเท่าที่ทำมาได้ ควรถือเป็นเป็นการห้ำหั่นกับจีนด้วยวิธีการที่แข็งแกร่งกว่าและแข็งกร้าวยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป
ปัจจุบัน จีนมีฐานะครอบงำตลาดสินค้าอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น แผงพลังงานแสงอาทิตย์ แถมรั้งตำแหน่งผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดทั้งในเรื่องรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีความซับซ้อนอีกมากมายหลายอย่าง พร้อมกันนั้น พญามังกรยังมีแผนผลิตสินค้าอุตสาหกรรมซับซ้อนทั้งหลายให้มากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน ชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูง รถไฟฟ้า และสินค้าแห่งอนาคตอีกนับไม่ถ้วน
เป็นที่คาดหมายกันว่า ข้อตกลงการค้าใดๆ ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งที่จะออกมานั้น ฝ่ายอเมริกันจะยืนกรานบังคับเก็บภาษีศุลกากรในอัตราปรับสูงขึ้นไปแล้วจากสินค้าจีนอย่าง รถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน อุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนสินค้าอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของคณะบริหารทรัมป์มองว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ แต่ในมุมมองที่กว้างไกลยิ่งขึ้นนั้น พวกเจ้าหน้าที่สายเหยี่ยวด้านการค้าในวอชิงตัน หวังว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้ก็จะกดดันให้บริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ โยกย้ายออกจากจีนไปยังประเทศที่มีเงื่อนไขธุรกิจที่เป็นมิตรมากกว่าเช่นเดียวกัน
จีนนั้นก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมการผลิตของโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่ในตอนนั้นแรงงานของจีนมีต้นทุนต่ำและทักษะก็ค่อนข้างต่ำ นอกจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ยังพยายามกีดขวางไม่ให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานอิสระขึ้นมา ขณะที่กิจการผู้รับเหมาช่วงมีกำเนิดขึ้นมามากมาย ซึ่งหมายความว่าบริษัทต่างๆ สามารถเจรจาต่อรองเพื่อกดให้ต้นทุนของซัปพลายต่ำเข้าไว้ นอกจากนั้นจีนยังระดมสร้างเครือข่ายทางหลวงและทางรถไฟอย่างกว้างขวาง และมีฐานลูกค้าท้องถิ่นที่ใหญ่โตและเติบโตขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเท่ากับว่า ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าขนส่งไกลๆ เพื่อนำสินค้าไปจำหน่าย
ธุรกิจต่างๆ จึงพากันหลั่งไหลเข้าสู่แดนมังกร ทำให้ในปีที่แล้วจีนเป็นผู้มีส่วนถึง 1 ใน 4 ในอุตสาหกรรมการผลิตของทั่วโลกเมื่อคำนวณกันเป็นมูลค่า ก้าวกระโดดไกลเหลือเกินจากที่มีส่วนเพียงแค่ 8% เมื่อปี 2000 ทั้งนี้ตามรายงานขององค์การเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ
มูลค่าทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่สร้างขึ้นในประเทศจีนเมื่อปีที่แล้วนี้ ยังใหญ่กว่าที่ทำได้ในสหรัฐฯ เยอรมนี และเกาหลีใต้รวมกันเสียอีก
ทว่า ค่าจ้างแรงงานและต้นทุนด้านอื่นๆ ในจีนกำลังไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ขณะเดียวกัน ธุรกิจมากมายขึ้นเรื่อยๆ พากันร้องเรียนว่า พวกเจ้าหน้าที่จีนเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เล่นท้องถิ่นมากกว่า หรือไม่ก็ยังใช้ความพยายามไม่มากพอในการกวาดล้างการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา
ทิศทางแนวโน้มที่จะต้องมีการต่อสู้ทางการค้าอย่างดุเดือดเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ประกอบกับภัยคุกคามอื่นๆ อย่างเช่น ความเสี่ยงจากคำขู่ของทรัมป์ที่จะปิดชายแดนสหรัฐฯติดกับเม็กซิโก และวิกฤตเบร็กซิต เหล่านี้ล้วนเพิ่มน้ำหนักให้แก่เหตุผลที่บริษัทต่างๆ ควรจะต้องหาทางกระจายธุรกิจและการผลิตของพวกตนออกไปยังประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น
โจ เคเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีเมนส์ หนึ่งในกลุ่มกิจการธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปลายเดือนมีนาคม ระหว่างเดินทางไปร่วมงาน “ไชน่า ดิเวลอปเมนต์ ฟอรัม” ที่กรุงปักกิ่งว่า เวลานี้กระบวนการมุ่งปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นต่างๆ กำลังมีความสำคัญมากขึ้น เช่นเดียวกับการต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเจรจาทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น
กระนั้น จีนอาจจะไม่จำเป็นต้องขัดขวางความพยายามใน “การแยกตัว” เช่นนี้ไปเสียทั้งหมด เนื่องจากปักกิ่งก็หวังมานานแล้วว่า จะตัดทอนการพึ่งพาอาศัยแรงงานทักษะต่ำ และการผลิตที่สร้างมลพิษ เพื่อก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นในห่วงโซ่มูลค่า
เหมียว เว่ย รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน กล่าวที่งาน “ไชน่า ดิเวลอปเมนต์ ฟอรัม” เช่นกัน ว่า เวลานี้กำลังแรงงานโดยรวมของจีนกำลังมีขนาดลดลง โดยที่ต้นทุนด้านแรงงานกำลังขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจีนจึงกำลังสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมต้นทุนต่ำ เขากล่าวอีกว่า ขณะนี้จีนจึงต้องเปลี่ยนแปลงหันมาโฟกัสที่พวกอุตสาหกรรมนวัตกรรมและไฮเทค
แต่เจ้าหน้าที่จีนยังต้องระมัดระวังอย่างมากในการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ เนื่องจากในภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง การโยกย้ายอุตสาหกรรมการผลิตออกจากประเทศไปอย่างปุบปับ อาจนำไปสู่การลอยแพคนงานและความวุ่นวายไร้เสถียรภาพ
ความพยายามใน “การแยกตัว” ดูเหมือนกำลังอยู่ในระยะต้นๆ ยูบีเอสได้จัดการสำรวจความคิดเห็นบรรดาประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัทผลิตเพื่อการส่งออกในจีนอย่างกว้างขวางเมื่อปลายปีที่แล้ว และพบว่า มีบริษัท 1 ใน 3 ได้โยกย้ายการผลิตออกจากจีนอย่างน้อยก็บางส่วนในปี 2018 อีก 1 ใน 3 ตั้งใจทำแบบเดียวกันนั้นในปีนี้ แบบฉบับที่ทำกันมากก็คือบริษัทกำลังโยกย้ายการผลิตออกไปประมาณ 30% ของปริมาณการส่งออก
บิลล์ วินเตอร์ส ประธานบริหารของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวในงานเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัมที่ตำบลดาวอส สวิตเซอร์แลนด์เมื่อต้นปีนี้ว่า ขณะนี้บริษัทต่างๆ ต้องการลดการพึ่งพิงสถานที่ใดที่หนึ่งเพียงแห่งเดียว ซึ่งนี่หมายความว่า บริษัทเหล่านั้นกำลังมองหาตัวเลือกอื่นๆ เพื่อนำมาใช้แทนที่จีน
วินเตอร์ส ยกตัวอย่างคนที่กังวลกับแนวโน้มที่สินค้าออกของจีนจะถูกเก็บภาษีศุลกากรสูงขึ้น ต่างกำลังมองหาทางโยกย้ายโรงงานเพื่อการส่งออกของพวกตน ออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมถึงบริษัทจีนเองด้วย
ขณะเดียวกันนี้ พวกประเทศที่ต้องการแทนที่จีน ก็กำลังเริ่มโฆษณาตัวเองว่า เป็นฐานการส่งออกที่ไม่ถูกรีดภาษีศุลกากรหนักเท่าจีน
ดังที่ แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย กล่าวสำทับในการให้สัมภาษณ์ที่ดาวอสว่า สำหรับบริษัทที่ดำเนินงานอยู่ในจีน สงครามการค้าจีน-อเมริกาก่อทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างใหม่ขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ความสามารถในการกระจายฐานการผลิตออกไปให้กว้างขวางมากขึ้นเช่นนี้ ยังขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรมเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์บางแห่งใช้วิธีเพิ่มเวลาทำงานในแต่ละวันที่โรงงานของพวกเขาในอเมริกา เพื่อหลบหลีกปัญหาสินค้าที่ผลิตในจีนถูกเก็บเก็บภาษีศุลกากรสูงขึ้น ราแซต กาวรัฟ ซีอีโอของ แอลลามาซอฟต์ บริษัทบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานรายหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแอนน์อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน บอก
แต่ในทางกลับกัน เขาชี้ว่า พวกผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนที่โดยทั่วไปแล้วยังคงถือว่าไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ กลับมีทางเลือกในการโยกย้ายการผลิตน้อยกว่า เนื่องจากจีนคือผู้มีฐานะครอบงำห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมนี้ กระนั้นก็ตาม ยังคงผู้เล่นบางรายตัดสินใจทำการโยกย้าย ดังเช่น โซนี่ที่ปิดโรงงานสมาร์ทโฟนในปักกิ่งเมื่อเดือนมีนาคมหลังจากขยายการผลิตในไทย
แนวโน้มใหญ่ยังคงมีอยู่ว่า เวลานี้บริษัทแห่งต่างๆ ต่างกำลังมองหาทางเลือกใหม่ๆ เป็นต้นว่า บริษัทรองเท้า สตีฟ แมดเดน โยกย้ายการผลิตไปกัมพูชา หรือบริษัท ฮาสโบร ผู้ผลิตของเล่นชั้นนำของโลก เล็งย้ายการผลิต 60% ออกจากจีนไปยังอเมริกาและประเทศอื่นๆ ปลายปีหน้า ไบรอัน โกลด์เนอร์ ประธานและซีอีโอของฮาสโบร กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อไม่นานมานี้
เหมือนกับเป็นการปลอบใจทรัม์ป์ ถึงแม้บริษัทจำนวนมากโยกย้ายการผลิตออกจากแดนมังกร ไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า แต่ก็มีบางแห่งที่ย้ายเข้าอเมริกา ตัวอย่างเช่น แดนฟอสส์ ที่รู้สึกว่า ต้นทุนการผลิตในจีนกำลังพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนแรงงานมีทักษะ นอกจากนั้นบริษัทยังต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง
ในรายการสินค้าผลิตจากจีนที่นำเข้าสหรัฐฯซึ่งจะถูกเก็บภาษีศุลกากรสูงขึ้น 25% ที่คณะบริหารทรัมป์ประกาศออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วนั้น ครอบคลุมถึงชิ้นส่วนระบบไฮดรอลิก ซึ่งแดนฟอสส์ผลิตจากโรงงานซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมายาวนาน บริษัทจึงแก้เกมด้วยการย้ายการผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ไปอเมริกา
คิม เฟาซิ่ง ซีอีโอของแดนฟอสส์กล่าวว่า แม้ว่าต้นทุนการผลิตโดยรวมในสหรัฐฯกับในจีน จะไม่ได้ต่างกันนัก แต่เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในทุกวันนี้แล้ว จะต้องมีเหตุผลรองรับอย่างหนักแน่นทีเดียว หากจะเดินหน้าทำการผลิตสินค้าในจีนเพื่อส่งมาขายที่อเมริกาต่อไป