xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘ทรัมป์’ ขู่รีดภาษีสินค้าอียู 1.1 หมื่นล้าน ตอบโต้มาตรการอุดหนุน ‘แอร์บัส’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สหรัฐฯ เตรียมเปิดแนวรบใหม่ในสงครามการค้า หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประกาศกร้าวในวันอังคาร (9 เม.ย.) ว่าจะสั่งรีดภาษีศุลกากรสินค้ายุโรปมูลค่ากว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อแก้แค้นที่อียูให้การอุดหนุนที่ผิดกฎหมายต่อ ‘แอร์บัส’ ค่ายอากาศยักษ์ใหญ่ของยุโรป

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ถือเป็นการโหมกระพือความขัดแย้งที่มีมานานกว่าทศวรรษ และยังสั่นคลอนการพักรบกรณีที่วอชิงตันสั่งรีดภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเมื่อปีที่แล้ว

ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความว่า “องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ตัดสินแล้วว่า การที่สหภาพยุโรปจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่แอร์บัสนั้นส่งผลกระทบเชิงลบต่อสหรัฐอเมริกา และเรากำลังจะขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าอียู 11,000 ล้านดอลลาร์!”

“สหภาพยุโรปเอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ ในด้านการค้ามานานหลายปี มันจะต้องยุติลงเร็วๆ นี้!”

ก่อนหน้านั้น โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศเมื่อค่ำวันจันทร์ (8 เม.ย.) ว่ากำลังจัดทำบัญชีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปที่สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อตอบโต้การจ่ายเงินอุดหนุนผิดกฎหมายให้แก่แอร์บัส พร้อมออกเอกสารความยาว 14 หน้ากระดาษซึ่งระบุรายชื่อสินค้ายุโรปที่อยู่ในการพิจารณาขึ้นภาษี เช่น เฮลิคอปเตอร์, เครื่องบินพลเรือน, ชิ้นส่วนเครื่องบิน รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ปลากระโทง (swordfish), ปลาแซลมอน, ชีส, ผลไม้, น้ำมันมะกอก และไวน์ เป็นต้น

ข้อพิพาทเรื่องมาตรการอุดหนุนผู้ผลิตอากาศยานนั้นมีมานานกว่า 14 ปี โดยทั้งอียูและสหรัฐฯ ต่างกล่าวหากันและกันว่าจ่ายเงินอุดหนุนผิดกฎหมายนับหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ให้แก่โบอิ้งและแอร์บัส เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในธุรกิจการบินโลก และเรื่องนี้ยังถือเป็นข้อพิพาทการค้าที่ยืดเยื้อและซับซ้อนที่สุดที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของ WTO

ไลท์ไฮเซอร์ ระบุเมื่อวันจันทร์ (8) ว่า WTO ได้ตัดสินยืนยันมาแล้วหลายครั้งว่ามาตรการอุดหนุนแอร์บัสของอียูทำให้สหรัฐฯ สูญเสียผลประโยชน์

“เรื่องนี้เป็นคดีความกันมานานกว่า 14 ปี และถึงเวลาที่เราจะต้องใช้มาตรการตอบโต้... เป้าหมายสูงสุดของเราก็คือการทำข้อตกลงกับอียูเพื่อให้พวกเขายุติการจ่ายเงินอุดหนุนผู้ผลิตอากาศยานที่ขัดต่อกฎระเบียบของ WTO เมื่อใดที่อียูยกเลิกมาตรการอุดหนุนที่เป็นอันตรายเหล่านี้ สหรัฐฯ ก็พร้อมที่จะเลิกเก็บภาษีเช่นกัน”

สหภาพยุโรปออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้ในวันอังคาร (9) โดยระบุว่าตัวเลขเงินอุดหนุนที่ USTR อ้างนั้น “สูงเกินจริงไปมาก” และมาจากการประเมินภายในของสหรัฐฯ เอง ซึ่งยังไม่ได้ผ่านการรับรองจาก WTO

ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้รับชัยชนะกันคนละส่วนในการยื่นฟ้องต่อ WTO แต่ยังมีความเห็นต่างในด้านขอบเขตของการอุดหนุน รวมถึงประเด็นที่ว่าแต่ละฝ่ายได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO ที่มีมาก่อนหน้าหรือไม่

WTO เคยตัดสินเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2012 ว่า วงเงินอุดหนุนหลายพันล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ จ่ายให้กับโบอิ้งนั้น “ผิดกฎหมาย” และเรียกร้องให้วอชิงตันยกเลิกนโยบายนี้เสีย ทว่าอีกไม่กี่เดือนต่อมาสหภาพยุโรปก็ได้ยื่นร้องเรียนอีกครั้ง โดยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง WTO

ต่อมาในเดือน มิ.ย. ปี 2017 WTO ได้ประกาศว่าสหรัฐฯ ได้แก้ไขโครงการส่วนใหญ่ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO แล้ว แต่ยอมรับว่ามาตรการลดหย่อนภาษีต่อภาคธุรกิจในรัฐวอชิงตันซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเครื่องบินของโบอิ้งยังคง “มีผลกระทบเชิงลบ”

บรัสเซลส์เองก็ถูกตัดสินว่าจ่ายเงินอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมให้แก่แอร์บัสเช่นกัน โดยสหรัฐฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ WTO กำหนดมูลค่าสินค้ายุโรปที่วอชิงตันจะสามารถรีดภาษีศุลกากรได้ ในกรณีที่อียูปฏิเสธยกเลิกมาตรการอุดหนุนดังกล่าว

USTR เตรียมจะเปิดเผยบัญชีสินค้ายุโรปฉบับสมบูรณ์หลังทราบคำตัดสินของ WTO ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีนี้

แอร์บัสวิจารณ์ความเคลื่อนไหวของ USTR ว่า “ไม่เป็นธรรม” ขณะที่โบอิ้งซึ่งเป็นค่ายอากาศยานคู่แข่งออกมาส่งเสียงเชียร์ให้สหรัฐฯ เดินหน้า “ผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม” ในธุรกิจการบิน

คำขู่ของ ทรัมป์ มีขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติกกำลังเปราะบาง โดย ทรัมป์ และประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ฌ็อง-โคลด ยุงเกอร์ เพิ่งจะตกลงกันไปเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้วว่าจะเปิดเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทการค้า และขอให้แต่ละฝ่ายงดเว้นจากการรีดภาษีเพิ่มเติมเพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลายลงบ้าง

อียูถูกสหรัฐฯ รีดภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าอยู่ก่อนแล้ว และ ทรัมป์ ก็ยังขู่ซ้ำๆ ว่ารถยนต์นำเข้าจากอียูอาจถูกลงโทษทางภาษีเช่นกัน

บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศส เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงที่เป็นมิตรต่อกัน "จากสถานการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในตอนนี้ ผมไม่คิดว่าเราควรปล่อยให้มีความขัดแย้งทางการค้าเกิดขึ้นมาได้ แม้จะเป็นเพียงประเด็นเฉพาะเจาะจงของอุตสาหกรรมการบินในสหรัฐฯ และยุโรปก็ตาม"

นักวิเคราะห์ยังมีความเห็นไม่ตรงกันนักว่าข้อพิพาท โบอิ้ง-แอร์บัส จะนำไปสู่ปัญหาทางการค้าระดับโลกที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นหรือไม่

จอห์น วูลฟิตต์ จากสถาบัน Atlantic Markets ในกรุงลอนดอนเตือนให้ทุกฝ่าย "เตรียมพร้อมรับมือกับการรีดภาษีตอบโต้กันไปมาได้เลย” ขณะที่ ฟาเบียนา เฟเดลี จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ Robeco เชื่อว่าสิ่งที่ USTR นำล่าสุดเป็นแค่ความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์

“คำขู่รีดภาษีระลอกใหม่เป็นแค่น้ำ 1 หยดในมหาสมุทร และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เดียวของมูลค่าการค้าทั้งหมดระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป เรามองว่ามันเป็นเพียงเครื่องมือต่อรองเพื่อนำไปสู่การเจรจาเรื่องยานยนต์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า” เฟเดลี ระบุ

เยอรมนีเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากคำสั่งรีดภาษีรถยนต์นำเข้าของ ทรัมป์ เนื่องจากสหรัฐฯถือเป็นตลาดใหญ่ของรถยนต์โฟล์คสวาเกน, เดมเลอร์ และบีเอ็มดับเบิลยู

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์ออกมาเตือนในสัปดาห์นี้ว่า มาตรการรีดภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าของสหรัฐฯ จะก่อความเสี่ยงร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก และอาจบั่นทอนการเติบโตเชิงบวกของเศรษฐกิจเยอรมนี, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
เครื่องบินแอร์บัส A380 และ โบอิ้ง 747 ของสายการบินลุฟต์ฮันซา
กำลังโหลดความคิดเห็น