xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอียูประชุมฉุกเฉินถกออปชันเบร็กซิต คาดยอมเลื่อนเส้นตายพ่วงเงื่อนไขพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเจนซีส์ – คาดอียูยอมเลื่อนเส้นตายเบร็กซิตรอบสองระหว่างการประชุมฉุกเฉินในวันพุธ (10 เม.ย.) อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า เหล่าผู้นำอียูจะเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษยอมรับการขยายเวลานานกว่าที่ต้องการพ่วงด้วยเงื่อนไขบางประการ

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษ รีบรุดไปยังเบอร์ลินและปารีส ก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (อียู) ในวันพุธ เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี และประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส เลื่อนเส้นตายการถอนตัวของอังกฤษจากอียู (เบร็กซิต) ครั้งที่ 2 จากวันที่ 12 ที่จะถึง เป็นวันที่ 30 มิถุนายน

นักการทูตในอียูเผยว่า ตัวเลือกที่มีแนวโน้มได้รับความเห็นชอบจากผู้นำ 27 ชาติสมาชิกของอียูมากที่สุดคือ การขยายเวลาเบร็กซิตแบบยืดหยุ่นออกไปจนถึงสิ้นปีนี้หรือเดือนมีนาคมปีหน้า เว้นแต่อังกฤษผ่าทางตันเบร็กซิตได้ก่อนถึงเส้นตายดังกล่าว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การถอนตัวจะเกิดขึ้นในวันแรกของเดือนถัดไป

แม้ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า แมร์เคิลและมาครง สองผู้นำที่มีอิทธิพลที่สุดของอียู ตกลงกับเมย์อย่างไร แต่ร่างข้อสรุปที่จัดทำขึ้นล่วงหน้าของการประชุมสุดยอดฉุกเฉินในวันพุธระบุว่า อังกฤษจะได้รับอนุญาตให้เลื่อนกำหนดการถอนตัวอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขบางประการ โดยไม่ระบุวันเวลาที่แน่นอนแต่รอให้ผู้นำ 27 ชาติร่วมกันตัดสินใจ

ทั้งนี้ ในฐานะสมาชิกอียูโดยสมบูรณ์ ในทางทฤษฎีนั้นอังกฤษสามารถใช้สิทธิ์ยับยั้งการตัดสินใจนโยบายสำคัญใดๆ ก็ตาม

โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดครั้งนี้กล่าวว่า หลักฐานในช่วงหลายเดือนมานี้ทำให้ผู้นำอียูมีเหตุผลน้อยมากที่จะเชื่อว่า รัฐสภาอังกฤษจะให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงเบร็กซิตก่อนเส้นตายวันที่ 30 มิถุนายนที่เมย์ต้องการ

เดตเลฟ ซีฟ รองโฆษกอียูสำหรับกลุ่มรัฐสภาของแมร์เคิล แสดงความเห็นว่า การเลื่อนเส้นตายแค่ช่วงสั้นๆ ไม่น่าได้ผล และคณะมนตรียุโรปคงไม่อยากประชุมกันทุก 6 สัปดาห์เพื่อตัดสินใจว่า จะต่อเวลาเบร็กซิตอีกหรือไม่

นักการทูตอียูคนหนึ่งขานรับว่า แม้ใครๆ ต่างเบื่อหน่ายกับการที่อังกฤษไม่ยอมตัดสินใจใดๆ แต่บรัสเซลส์ก็ไม่ต้องการผลักอังกฤษตกเหว

เจ้าหน้าที่อียูอีกคนสำทับว่า ไม่มีมหาอำนาจยุโรปชาติใดต้องการให้เกิดความโกลาหลในตลาดการเงินจากผลกระทบของเบร็กซิตที่ไร้ข้อตกลง รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจอียูมูลค่าถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ แม้ผ่านมาแล้วเกือบสองสัปดาห์นับจากกำหนดการถอนตัวดั้งเดิมของอังกฤษในวันที่ 29 มีนาคม ทว่า เมย์ ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นนายกรัฐมนตรีที่อ่อนแอที่สุดของเมืองผู้ดีในหนึ่งชั่วอายุคน ยังแสดงความกังวลว่า เบร็กซิตอาจไม่มีวันเกิดขึ้นจริงขณะที่เธอกำลังพยายามอย่างยิ่งยวดในการผลักดันให้รัฐสภายอมรับข้อตกลงถอนตัวที่เธอเจราจาต่อรองกับอียูมาจนสำเร็จ

หลังจากข้อเสนอลาออกจากตำแหน่งแลกกับการผ่านข้อตกลงเบร็กซิตล้มเหลว เมย์ตัดสินใจจับเข่าคุยกับพรรคแรงงานซึ่งเป็นฝ่ายค้านโดยหวังว่า จะผ่าทางตันได้

แต่ภายหลังการหารือเมื่อวันอังคาร (9 เม.ย.) พรรคแรงงานแถลงว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าเมย์จะยอมเปลี่ยนจุดยืน ขณะที่ไนเจล ด็อดส์ รองหัวหน้าพรรคเดโมเครติก ยูเนียนยิสต์ของไอร์แลนด์เหนือที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลของเมย์มาตลอด วิจารณ์ว่า เมย์กำลังทำให้สหราชอาณาจักรกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วยการร้องขอเศษเงินจากผู้นำอียู

ด็อดส์สำทับว่า ถ้าเลื่อนการถอนตัว อังกฤษจะต้องเข้าร่วมการหารือเกี่ยวกับงบประมาณอียู หรือการเลือกประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนต่อไป และสมาชิก 27 ประเทศสามารถตรวจสอบความจริงใจในการร่วมมือของลอนดอน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนเมื่อวันอังคารว่า อังกฤษอาจได้รับผลกระทบร้ายแรง หากถอนตัวจากอียูโดยปราศจากข้อตกลง ส่วนทางด้าน สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เตือนรัฐสภาให้เตรียมพร้อมรับมือการถอนตัวจากอียูแบบเบ็ดเสร็จในฐานะผลลัพธ์ที่เป็นไปได้สูง
กำลังโหลดความคิดเห็น