xs
xsm
sm
md
lg

‘ทะไลลามะ’ เข้าตรวจร่างกายที่รพ.ในนิวเดลี หลังมีอาการ ‘เจ็บหน้าอก’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

องค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต
เอเอฟพี - องค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต ทรงเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลีหลังประชวรเจ็บที่หน้าอก โดยผู้ช่วยยืนยันว่าพระอาการยังอยู่ในขั้นคงที่

โงดุป เซริง (Ngodup Tsering) ผู้แทนของทะไลลามะในสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ทะไลลามะในวัย 83 พรรษาได้ประทับเครื่องบินไปยังกรุงนิวเดลีตั้งแต่เช้าวันอังคาร (9 เม.ย.) เพื่อทรงพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแม็กซ์ หลังจากมีพระอาการ ‘ไอเล็กน้อย’

“แพทย์ระบุว่าไม่มีอะไรน่ากังวล ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง” เซริง กล่าว โดยไม่ยืนยันว่าทะไลลามะทรงประทับรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหรือไม่

“พระองค์ต้องทรงพักผ่อนประมาณ 2-3 วัน” เขากล่าว

สันโตษ ปาเตียล ผู้กำกับการตำรวจเขตคันกรา (Kangra) ให้สัมภาษณ์กับ ดิ อินเดียน เอ็กซ์เพรสส์ ว่า ทะไลลามะซึ่งประทับลี้ภัยอยู่ที่เมืองธรรมศาลาของอินเดียมานาน 60 ปี ทรงโดยสารเครื่องบินไฟล์ทเช้าตามปกติ ไม่ได้มีการอพยพทางการแพทย์แต่อย่างใด

แม้จะยังทรงเป็นนักพูดที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาอย่างสูง แต่ทะไลลามะก็ทรงงดพระกรณียกิจหลายอย่างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และไม่ได้ทรงพบปะกับผู้นำต่างชาติตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกก็ลังเลที่จะออกหนังสือเชิญพระองค์ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากกลัวจีนจะไม่พอใจ

ทะไลลามะทรงพยายามปิดโอกาสไม่ให้จีนเสนอชื่อบุคคลขึ้นเป็นผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบตต่อจากพระองค์ และถึงขั้นประกาศเมื่อปี 2011 ว่าอาจจะทรงเป็นทะไลลามะพระองค์สุดท้าย

ทะไลลามะยังทรงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสภาคองเกรสสหรัฐฯ โดยเมื่อวานนี้ (9) ส.ว. คอรีย์ การ์ดเนอร์ จากพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝ่ายเอเชีย ก็ได้เสนอให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามพระประสงค์ในการคัดเลือกผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบต

“ผมขอพูดชัดเจนตรงนี้ว่า สภาคองเกรสจะต้องไม่ให้การรับรองทะไลลามะที่มาจากการคัดเลือกโดยจีน” การ์ดเนอร์ กล่าว

แม้รัฐบาลเดลีจะยอมให้ที่พักพิงแก่องค์ทะไลลามะซึ่งหลบหนีข้ามเทือกเขาหิมาลัยมายังฝั่งอินเดียเมื่อปี 1959 แต่มีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่อินเดียถูกสั่งห้ามไม่ให้ร่วมกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ทางการทูต

รัฐบาลจีนถือว่าองค์ทะไลลามะเป็น “แกนนำแบ่งแยกดินแดน” และไม่เคยให้การยอมรับรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองธรรมศาลาของอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น